เร่งรถไฟด่วน-มอเตอร์เวย์ (24 ต.ค. 55)

เดลินิวส์ออนไลน์ 24 ตุลาคม 2555 
เร่งรถไฟด่วน-มอเตอร์เวย์


เชื่อมแหลมฉบัง-ทวายเปิดการลงทุนรัฐ พัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตก เร่งถนน ทางรถไฟ เชื่อมแหลมฉบัง-ท่าเรือทวาย รถไฟเร็วสูงสุวรรณภูมิ พัทยา ระยอง เร่งลงมือปี 57 พร้อมอีก 3 สาย

กระทรวงคมนาคม ได้จัดสัมมนา เสวนา ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.  2556– 2563 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยแผนการลงทุนที่นำเสนอส่วนใหญ่มุ่งการพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง ตอบสนองอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก เชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย

การพัฒนาดังกล่าวเป็นไปตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศกำหนด มีด้วยกัน 5 ด้านได้แก่ 1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2. การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ3. การพัฒนาเชิงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ 4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5. การพัฒนาระบบการประกันภัย โดยการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม มีทั้งระบบถนนและรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีดับเบิลยูอีซี) แนวเหนือ-ใต้ (เอ็นเอสอีซี) แนวใต้ (เซาท์เทิร์น คอริดอร์) และการเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตก (เมียนมาร์) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี  2558 รวมทั้งสิ้น 72 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท


แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีทั้งทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รถไฟความเร็วสูง และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง การลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับการขนส่งทางราง ถึง 1.2 ล้านล้านบาทหรือ 60.84 เปอร์เซ็นต์ เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 9 แสนล้านบาท (42.22%) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2.6 แสนล้านบาท (13.62%) การลงทุนทางถนน ยอดรวม 6.5 แสนล้านบาท (33.91%) ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกรมทางหลวง การขนส่งทางน้ำ  6.4 หมื่นล้านบาท  (3.32%) โครงการส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของการท่าเรือแห่งประเทศไทย สำหรับการขนส่งทางอากาศ ได้รับการจัดสรรงบลงทุน 3.7 หมื่นล้านบาท (1.93%)  

โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกำหนดไว้ 4 สาย ลงทุนพร้อมกัน งบประมาณ  4.8 แสนล้านบาท ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ งบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท อยู่ในขั้นออกแบบรายละเอียด ลงมือก่อสร้าง ปี 2557-2562  2. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา งบประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ก่อสร้าง ปี  2557-2561 3. กรุงเทพฯ-หัวหิน งบประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างปี 2557-2561 กำลังออกแบบรายละเอียด 4.สุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง งบประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างปี  2557-2561 กำลังออกแบบรายละเอียด และโครงการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ช่วงดอนเมือง–บางซื่อ–พญาไท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

โครงการทางถนนของกรมทางหลวง เส้นทางสำคัญได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1. พัทยา-มาบตาพุด ก่อสร้างปี 2556–2559 งบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท 2. บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ก่อสร้างปี 2556-2559 งบประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท 3. บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ก่อสร้างปี 2556-2559 งบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท 4. นครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ ก่อสร้างปี 2557-2563 งบประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท 5. บางปะอิน-นครสวรรค์ ก่อสร้างปี 2557-2563 งบประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท

แนวทางการพัฒนาการขนส่ง ระบุผลการศึกษาพบว่า การขยายตัวของการขนส่งสินค้าในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากค่าเฉลี่ย 511 ล้านตัน เป็น 1,700 ตันในปี 2564 มีการขนส่งสินค้าด้วยคอนเทเนอร์มากขึ้น เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 โดยกำหนดแผน การเดินทางสู่เมืองหลัก ระยะทาง 300-350 กม.จากกรุงเทพฯ จะพัฒนารถไฟโดยสารให้มีความเร็วเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80-100 กม./ชม. ด้วยระบบรถไฟรางคู่ ส่วนการเดินทางระหว่าง 50-300 กม.จะใช้ระบบรถยนต์โดยสารเชื่อมต่อกับรถไฟ

รศ.ดร.ทวีศักดิ์ เทพพิทักษ์ อาจารย์คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การศึกษาพบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกมีพื้นผิวถนนไม่พอรองรับการขนส่ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 7 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ที่ต่อเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังมีสภาพติดขัด หากปรับระบบการขนส่งใช้ทางน้ำร่วมด้วยจะมีประสิทธิภาพมาก และควรกำหนดวิธีขนส่งทางรถไฟสำหรับระยะทาง 150-700 กม. ทางที่เกิน 500 กม.ใช้การขนส่งทางอากาศ ส่วนเส้นทาง 200 กม. ควรใช้การขนส่งทางน้ำ โดยคาดว่า หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้การขนส่งเส้นทางกรุงเทพฯ-มาบตาพุด จังหวัดระยอง และจังหวัดสระแก้วมีความหนาแน่นมากกว่าที่เป็นอยู่.  

..........................................

ท่าเรือเพื่อชาติ

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังว่า นับแต่เปิดใช้ในปี 2534 ได้พัฒนาถึงขั้นที่ 2 ให้รับตู้สินค้าได้มากถึง 10.8 ล้านทีอียู (ตู้คอนเทเนอร์ขนาด 20 ฟุต สูง 8 ฟุต) รองรับการขนส่งรถยนต์ปีละ 2 ล้านคัน คาดว่าจะเต็มขีดความสามารถในปี 2560 จึงต้องขยายสู่ขั้นที่ 3 ให้ทันก่อนเวลาดังกล่าวมาถึง

ผอ.ท่าเรือกล่าวอีกว่า ท่าเรือและการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกันพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากปัจจุบันการ กระจายสินค้าจากท่าเรือกับพื้นที่หลังท่าเกือบร้อยละ 90 ใช้การขนส่งทางถนนซึ่งสิ้นเปลืองพลังงานและมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสูงสุด ใช้ระบบขนส่งทางรางเพียงร้อยละ 9 ปัจจุบันมีรางรถไฟ 2 ราง ทำให้การบรรทุก ขนถ่าย สินค้าขึ้นลงทำได้ด้านเดียวของราง จึงเสียเวลามาก จึงริเริ่มโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

นอกจากนี้ จะพัฒนาท่าเรือชายฝั่งให้รองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น

อนึ่งโครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ใช้งบประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างปี 2554-2563 โครงการศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่า 3.1พันล้านบาท ก่อสร้างปี 2555-2562 โครงการท่าเทียบเรือขนส่งชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่า 2 พันล้านบาท ก่อสร้างปี 2555-2557