เหมืองโปแตส อุดรธานี
เหมืองโปแตส อุดรธานี
ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ จ.อุดรธานี ต่างยินดีต้อนรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นคือโครงการเหมืองโปแตส จ.อุดรธานี ของกลุ่มทุนจากแคนาดา มูลค่าการลงทุนถึง 25,770 ล้านบาท
ไฟเขียวถูกเปิดสว่างโร่จากทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ให้โครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2543
แต่ทันทีที่เรื่องราวของโครงการเหมืองโปแตส จ.อุดรธานี ล่วงรู้ถึงหูชาวบ้าน กระบวนการเปิดไฟเขียวที่เคยเกิดขึ้นก็พลันริบหรี่ลง เหตุเพราะการขุดลึกลงไปใต้ผืนดินเกิน 100 เมตร รวมพื้นที่ประมาณ 67,000 ไร่นั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินแต่อย่างใด
การลุกขึ้นคัดค้านของชาวบ้านจึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่ยอมแพ้ แม้จะย่างเข้าสู่ปีที่ 13 ขณะที่โครงการก็ต้องล้มลุกคลุกคลานและยังไม่สามารถก่อสร้างได้
กรณี: เหมืองโปแตส จ.อุดรธานี
สถานที่: พื้นที่ 5 อำเภอคือ เมือง ภุมวาปี หนองหาน เพ็ญ และกิ่ง อ.ศรีประจักษ์ศิลปคม จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 67,000 ไร่
ความเสียหาย : เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านด้วยกัน โดยแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน-คัดค้านโครงการ บางคนถูกดำเนินคดี
เหตุการณ์ : บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเอพีพีซี ซึ่งขุดสำรวจแหล่งแร่โปแตสในเขต จ.อุดรธานี มาตั้งแต่ปี 2536 และได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่โปแตสในเวลาต่อมา ถือเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 25,770 ล้านบาท โดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ในปี 2543
โครงการขุดแร่โปแตสในอาณาบริเวณกว่า 67,000 ไร่ครอบคลุม 5 อำเภอของ จ.อุดรธานี คือเมือง ภุมวาปี หนองหาน เพ็ญ และกิ่ง อ.ศรีประจักษ์ศิลปคม ซึ่งต้องขุดอุโมงค์เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 6 เมตร และสร้างเสาค้ำยันเป็นระยะๆ ในระดับความลึกจากผิวดินประมาณ 350 เมตร แร่ที่ได้จะถูกนำมาแยกโปแตสออก ส่วนที่เหลือจะถูกนำกลับไปยังโพรงด้านล่าง
ทั้งนี้ โครงการมีเป้าหมายการผลิต 2 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี โดย 4 แสนตันจะป้อนตลาดในประเทศ ส่วนอีก 1.6 ล้านตันจะผลิตเพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศ โดยมีระยะเวลาการทำเหมือง 22 ปี
แต่การได้รับไฟเขียวสนับสนุนโครงการทั้งจากรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนของ จ.อุดรธานี ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันแต่อย่างใดว่าอนาคตอันใกล้ โครงการเหมืองโปแตสจะเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่น
เพราะในทันทีที่ข่าวคราวเหมืองแร่โปแตสจะมาทะลุทะลวงถึงใต้ถุนบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมายแพร่สะพัดถึงหูชาวบ้านผ่านงานบุญเข้าพรรษาของหมู่บ้าน หายนะก็บุกเข้าประชิดบริษัทเอพีพีซีอย่างไม่ทันตั้งตัวในช่วงต้นปี 2545 หลังจากชาวบ้านรวมกันเป็น “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” และเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการร่วมกับเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานใต้ โดยพุ่งเป้าไปที่ประเด็นรายงานอีไอเอบกพร่อง (อีไอเออนุมัติทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 ยังไม่อนุญาตให้การทำเหมืองลึกเกินกว่า 100 เมตร สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดิน) และสัญญาที่หน่วยงานของรัฐทำไว้เสียเปรียบบริษัทเอกชน
ทั้งนี้ เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานได้ตั้งประเด็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ไว้ ได้แก่
1.ปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน เพราะไม่มีใครยืนยันความเสียหายได้ทั้งในระยะทำเหมืองและหลังปิดเหมือง
2.ปัญหาน้ำเกลือ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของน้ำเกลือสู่ที่ดินและแหล่งน้ำของชุมชน
3.ปัญหาเศษหางเกลือ เพราะกระบวนการผลิตจะทำให้มีเศษหางเกลือจำนวนมาก ซึ่งจะถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำ นาข้าว และพื้นที่ชุมชน
4.ปัญหาฝุ่นเกลือ จากโรงแต่งแร่และลานกองเกลือขนาดใหญ่ จะฟุ้งกระจายไปจนสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ผู้คน และสัตว์เลี้ยง
5.ปัญหาแย่งชิงน้ำ เพราะการแต่งแร่และแยกแร่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก
ยิ่งนานวันการรณรงค์คัดค้านของชาวบ้านและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ยิ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นทั้งในพื้นที่ และกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรงทั้งในหมู่ชาวบ้านด้วยกันเอง ที่แบ่งออกเป็นฝ่ายสนับสนุน-คัดค้านโครงการ
ขณะที่หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น ล้วนสนับสนุนโครงการนี้ ส่วนบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการก็เดินหน้างานประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการพาเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกและบานปลายมากยิ่งขึ้นในพื้นที่ จนนำไปสู่การเผชิญหน้าหลายครั้งหลายหน
โครงการเหมืองแร่โปแตส จ.อุดรธานี จมอยู่ท่ามกลางการต่อต้านของชาวบ้านนานนับสิบปี แม้ภาครัฐจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าเพื่อสะสางประเด็นต่างๆ ที่เห็นแตกต่างกัน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหาบทสรุปได้
ปลายปี 2553 บริษัทเอพีพีซีรุกคืบอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเข้ารังวัดปักหมุดของเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครขณะทำการรังวัด เพราะเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้ากับชาวบ้านกลุ่มคัดค้าน โดยบริษัทฯ ทำหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่เพิ่มเติมในพื้นที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวมเนื้อที่ทั้งหมด 26,446 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา และแสดงความประสงค์จะให้ค่าตอบแทนพิเศษต่อผู้มีที่ดินอยู่ในเขตคำขอประทานบัตร (ค่าลอดใต้ถุน) เป็นจำนวนเงินไร่ละ 1,000 บาท ทำให้หน่วยงานของรัฐเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบเพื่อติดต่อขอรับเงินดังกล่าวในวันถัดมาทันที
ตุลาคม 2554 นายวิสุทธิ์ จิราธิยุต ผู้จัดการใหญ่บริษัท เอพีพีซี ระบุว่าล่าสุดได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย (EHIA) ส่วนการขอประทานบัตรดำเนินกิจการเหมืองแร่โปแตส จะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี จากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างโครงการได้ พร้อมยืนยันจะเดินหน้าโครงการต่อไปแม้จะยืดเยื้อมานาน โดยจะพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงผลประโยชน์ของโครงการ รวมถึงระบบควบคุมจัดการด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งได้จัดตั้งกองทุนหลายกองทุนเพื่อชดเชยให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย
แต่ดูเหมือนว่า ถ้อยคำดังกล่าวจะไม่มีความหมายมากนัก เพราะจนถึงปี 2557 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยังคงเดินหน้ายืนหยัดคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตสต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ขณะที่ภาครัฐยังคงพยายามเปิดเวทีเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากโครงการดังกล่าวขึ้นอีกเป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน โดยเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการไปเรื่อยๆ แต่ยังคงไร้ผล หนำซ้ำการวางตัวที่ไร้ความเป็นกลาง เลือกยืนข้างบริษัทฯ ของเจ้าหน้าที่รัฐก็กลายเป็นอีกปมปัญหาที่คอยซ้ำเติมให้สถานการณ์ความขัดแย้งยิ่งยากจะหาทางเยียวยา
(ข้อมูล ณ พ.ศ. 2557)
เอกสาร : “เหมืองแร่โปแตช อุดรธานี”, ThaiNGO.org. เข้าถึงได้จาก http://www.thaingo.org/thaingo/taxonomy/term/196
: “โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี”, จับตา 7 เหมืองโปแตชในอีสาน, กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, OKnation.net. เข้าถึงได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=32387
: โครงการเหมืองโปแตสอาเซียน, แร่ธาตุ, ดินและแร่ธาตุ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2542-43, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 30
: โครงการเหมืองโปแตชอุดรธานี, กรณีเด่น, ดินและแร่ธาตุ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2544-45, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 35-40
: การดำเนินการพัฒนาเหมืองโปแตชอุดรธานี, กรณีเด่น, ดินและแร่ธาตุ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2548, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 22-28
: “อิตัลไทยแจ้งเกิดเหมืองโปแตชอุดรทุ่มตั้งกองทุนจ่าย’ค่าลอดใต้ถุน’ทุกชุมชน1.3พันล.”, ประชาชาติธุรกิจ, 13 ตุลาคม 2554. เข้าถึงได้จาก https://suchons.wordpress.com/2011/10/13/อิตัลไทยแจ้งเกิดเหมือง/