แหลมฉบังเปื้อนมลพิษ
แหลมฉบังเปื้อนมลพิษ
ทันทีที่รัฐบาลประกาศใช้แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออิสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard Development Program) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา
โดยกำหนดให้บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ระยะที่ 1 ควบคู่กับมาบตาพุด จ.ระยอง ทำให้โครงการท่าเรือแหลมฉบังที่หยุดชะงักมานานได้ไฟเขียวเดินหน้าต่อ หลังจากเตรียมการให้แหลมฉบังเป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์ที่สำคัญของประเทศไทย เพื่อทดแทนท่าเรือกรุงเทพในวันที่ถึงจุดอิ่มตัว ไม่สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และตู้สินค้าได้อีกต่อไป โดยมีการเวนคืนที่ดินเอาไว้ตั้งแต่ปี 2521 จำนวน 6,340 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา และ ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเท่านั้น แผนพัฒนาอิสเทิร์นซีบอร์ดยังกำหนดให้บริเวณโดยรอบท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเป็นเขตเศรษฐกิจแหลมฉบัง ซึ่งมีการพัฒนาที่พักอาศัย สาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนศูนย์ราชการ เพื่อการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จากการเข้ามาของท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้รุกเข้าสู่พื้นที่ จ.ชลบุรี อย่างยากที่จะหยุดยั้ง ท่ามกลางการเสื่อมโทรมลงของสภาพแวดล้อมในทุกๆ ด้าน
และเมื่อถึงวันที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังประกาศว่าพร้อมลงทุนเพิ่มเติมในระยะที่ 3 เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตในระดับโลก ชาวบ้านแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียงก็ประกาศเช่นกันว่า พร้อมคัดค้านการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของท่าเรือแหลมฉบัง เพราะที่ผ่านมาได้สร้างมลพิษและเบียดเบียนการใช้ชีวิตของชาวบ้านมามากพอแล้ว
กรณี: แหลมฉบังเปื้อนมลพิษ จ.ชลบุรี
สถานที่: ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา และ ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ความเสียหาย: น้ำทะเลเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน ชายฝั่งถูกกัดเซาะ กลิ่นเหม็น แหล่งน้ำปนเปื้อนมลพิษ อุบัติภัยจากสารเคมีรั่วไหลจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต น้ำฝนกินไม่ได้
เหตุการณ์: พื้นที่แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อการพาณิชย์แห่งใหม่ของประเทศไทย เพื่อทดแทนการอิ่มตัวของท่าเรือกรุงเทพที่ไม่สามารถเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่และตู้สินค้าได้เพิ่มมากขึ้นอีกต่อไป โดยเหตุผลที่ทำให้บริเวณแหลมฉบังเหมาะสมที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีคลื่นลมน้อย พื้นดินบริเวณที่ต้องขุดร่องน้ำลึกเป็นทรายที่ง่ายต่อการขุดลอก และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่หลังท่าเรือที่สามารถใช้ประโยชน์ทางด้านพาณิชย์ อย่างโกดังเก็บสินค้า และเขตนิคมอุตสาหกรรม
ปี 2521 กฎหมายเวนคืนที่ดินบริเวณ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา และ ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี รวม 6,340 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังจึงถูกบังคับใช้ แต่การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกก็ยังไม่คืบหน้า จนกระทั่งถูกกระตุ้นจากการประกาศแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดในปี 2525 กำหนดให้บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่การพัฒนาระยะที่ 1 โดยให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และบริเวณใกล้เคียงเป็นเขตเศรษฐกิจแหลมฉบัง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่ปราศจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปี 2525 นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังจึงเปิดดำเนินการเพื่อรอต้อนรับการลงทุนอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูเคียงคู่กับพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ขณะที่การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังก็แล้วเสร็จตามมาและเปิดดำเนินการได้ในปี 2534 โดยมีท่าเทียบเรือ 11 ท่า และเขื่อนกันคลื่นยื่นออกไปในทะเล 1,300 เมตร
การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังครั้งนั้น ได้เปลี่ยนโฉมหน้าพื้นที่แห่งนี้จนไม่เหลือเค้าเดิมเลยว่า ครั้งหนึ่งบริเวณแหลมฉบังเคยเป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่มีชื่อเสียงคือ สับปะรดพันธุ์ศรีราชา แล้วยังเคยเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่มีคุณภาพดีในพื้นที่คือ มันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 60
ขณะที่อาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่แหลมฉบังลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สวนอย่างทางสิ้นเชิงกับพื้นที่อุตสาหกรรมที่นับวันจะเติบโตขึ้นและขยายอาณาเขตออกสู่อำเภออื่นๆ ทั่วทั้ง จ.ชลบุรี ส่วนท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังก็เติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน เพราะมีการขยายท่าเรือเพิ่มเฟสที่ 2 เมื่อปี 2544 ทำให้มีท่าเรือย่อยรวมทั้งหมด 18 ท่า พร้อมกับต่อแนวกันคลื่นยื่นยาวออกไปในทะเลเป็น 3,200 เมตร
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญต่อ จ.ชลบุรีเป็นอย่างยิ่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดของ จ.ชลบุรี ประมาณไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 154 บริษัท
อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมปิโตรเลียม นั่นคือ
1.โรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง คือ โรงกลั่นน้ำมันบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), โรงกลั่นน้ำมันบริษัทเอสโซ่ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานบริษัทไทยลู้บเบส จำกัด
2.คลังเก็บน้ำมันปิโตรเลียม 3 แห่ง ได้แก่ คลังเก็บน้ำมันของบริษัทไทยออยล์ จำกัด, คลังเก็บน้ำมันของบริษัท เอสโซ่ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และคลังเก็บน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
3.คลังเก็บก๊าซแอลพีจี ซึ่งเป็นก๊าซหุงต้ม 3 แห่งคือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสโซ่ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ “เสาหลักทางเศรษฐกิจ” ของ จ.ชลบุรี เปิดดำเนินการ ก็สร้างผลกระทบและเบียดเบียนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ทั้งทางบกและทางทะเลมาโดยตลอด อาทิ
ช่วงกลางปี 2542 เกิดปัญหาปลาตายจำนวนมาก ซึ่งกรมควบคุมมลพิษสันนิษฐานว่า เกิดจากการลักลอบปล่อยของเสียลงคลองใหญ่บริเวณที่รกร้างของการท่าเรือแห่งประเทศไทย อีกทั้งท่าเรือแหลมฉบังก็ไม่มีระบบบำบัดของเสียจากเรือ รวมทั้งศูนย์บำบัดของเสียจากเรือ ทำให้คราบน้ำมันลอยเข้าฝั่งอ่าวไทยเป็นประจำ ทั้งคราบน้ำมันและฝุ่นจากการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล ยังทำให้เกิดการหมักหมมเป็นตะกอนหนาในทะเล ในบางฤดูที่กระแสน้ำพัดผ่านก็จะพาเอาตะกอนและคราบน้ำมันติดไป ทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียบริเวณใกล้เคียง เช่น พัทยาและระยอง
นอกจากนั้นยังมีการร้องเรียนของชาวบ้านว่าบริษัทผลิตภัณฑ์คาร์บอนไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ก่อปัญหาผงคาร์บอนฟุ้งกระจายสร้างความเดือดร้อนต่อชุมชน แต่ผลการตรวจสอบพบว่าปริมาณผงคาร์บอนที่ฟุ้งกระจายนั้นไม่เกินค่ามาตรฐาน หน่วยงานของรัฐจึงไม่สามารถเอาผิดกับทางบริษัทได้
ขณะที่ปัญหากลิ่นเหม็นก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยปี 2543 กลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านใกล้เคียงกว่า 50 ครัวเรือนอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี เช่นเดียวกับบริษัทเจนโก้ที่นำกากอุตสาหกรรมมาเก็บไว้ในโกดังแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา ทำให้กลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านใกล้เคียง
ปี 2545 ชาวบ้าน 3 หมู่บ้านในเขต ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ร้องเรียนนายอำเภอศรีราชาว่าได้รับผลกระทบจากโรงงานลอมป้า เมททอลส์ จำกัด เป็นโรงงานหลอมเศษอะลูมิเนียมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยโรงงานได้ปล่อยกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนมาประมาณ 1 ปีเศษแล้ว ทำให้ประชาชนและพระสงฆ์ที่อาศัยรอบโรงงานในเขตรัศมี 5-10 กม. ได้รับผลกระทบ
อุบัติภัยทางทะเลจากการขนส่งและขนถ่ายปิโตรเลียมก็เกิดขึ้นหลายครั้งในปี 2544-2545 อาทิ เรือขนสินค้าชื่อ โกโต วิจายา สัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งแล่นออกจากท่าเรือแหลมฉบัง พุ่งชนเรือ สกาย เอซ สัญชาติปานามา ทำให้น้ำมันเตาสำหรับใช้ในเรือ สกาย เอซ ประมาณ 20 ตันรั่วไหลลงทะเล คราบน้ำมันกระจายเป็นทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 50 เมตร ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 1 ไมล์ทะเล มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่า 50 ล้านบาท
หรือกรณีเพลิงไหม้เรือบรรทุกน้ำมันชื่อ VL 5 ที่จอดเทียบท่าบริเวณท่าเทียบเรือของคลังน้ำมันเอสโซ่ เรือดังกล่าวบรรทุกน้ำมัน 1 ล้านลิตร โดยชาวบ้านได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่คลังไม่ยอมให้ผ่านเข้าไป อ้างว่าต้องเคลียร์พื้นที่ก่อนและต้องให้ผู้บริหารระดับสูงอนุญาต ชาวประมงที่หาปลาในบริเวณใกล้เคียงระบุว่าเห็นเปลวเพลิงโหมไหม้รุนแรงมาก แต่ทางคลังน้ำมันเอสโซ่ไม่ยอมให้รายละเอียดใดๆ
นอกจากนั้นในปี 2545 ยังพบว่าคุณภาพน้ำบริเวณอู่ซ่อมเรือของบริษัทยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง พบมีปริมาณสารตะกั่วสูง ซึ่งบริษัทยูนิไทยฯ ยังลักลอบทิ้งน้ำมันลงทะเล และถูกเทศบาลตำบลแหลมฉบังฟ้องร้องดำเนินคดี ฐานปล่อยของเสียประเภทน้ำมันลงทะเลตามมา
ปลายปี 2552 ผลการเก็บตัวอย่างน้ำฝนตลอดระยะเวลา 1 ปีของ น.ส.สุนทรี ขุนทอง นักวิชาการจากคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในโครงการศึกษาการเก็บวิเคราะห์ตัวอย่างการตกสะสมของกรดในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งได้รับมองหมายจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็พบว่า น้ำฝนในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่แหลมฉบัง มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพื้นที่นี้ล้อมรอบด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาทิ นิคมแหลมฉบัง โรงกลั่นน้ำมันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันเอสโซ นิคมอุตสาหกรรมสหพัฒน์ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง เป็นต้น
ขณะที่เหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลยังคงเกิดขึ้น โดยในปี 2552 บริเวณลานวางตู้สินค้าท่าเทียบเรือ บี 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ของบริษัท อิสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) โดยโซเดียมเปอร์ซัลเฟต (สารฟอกขาว) ได้รั่วไหลและฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง เมื่อสัมผัสความชื้นในบรรยากาศ จึงเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เกิดความร้อนจนถึงจุดติดไฟ การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยท่าเรือแหลมฉบังได้ใช้ฝอยน้ำสเปรย์ควบคุมกลุ่มควัน และลดอุณหภูมิตู้ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายตู้สินค้าอันตรายอื่นให้ห่างจากตู้ที่เกิดควัน นอกจากนี้ ยังดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ ควบคู่กันไป ได้แก่ ใช้ผงเคมีแห้งดับไฟภายในตู้ ให้น้ำกำลังดันสูงดับไฟภายในตู้ ใช้ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรด และตรวจวัดปริมาณก๊าซพิษและสภาพความเป็นกรดของน้ำที่ใช้ดับเพลิง ค่า pH = 5 จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายและยุติลงในวันถัดมา เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการสูดดมกลิ่น หายใจไม่ออก กว่า 400 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการปฏิบัติงานดับไฟ จำนวน 1 ราย และต้องอพยพนักเรียนจากโรงเรียนแหลมฉบังเก่าและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
ทั้งหมดนั้นคือเศษเสี้ยวของมลพิษที่ทั้งท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พากันพ่นใส่ชาวบ้านที่อยู่รอบข้างอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบให้เห็นอย่างชัดเจนในทันทีที่โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังเริ่มแหย่ขาเข้าสู่เฟสที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับเรือขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องขุดร่องน้ำใหม่ที่ลึกกว่า และใหญ่กว่าเดิม ถมทะเลเพิ่มอีก 1,445 ไร่ และสร้างเขื่อนกันคลื่นยาว 3,100 เมตร คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จราวปี 2563 โดยทั้งรัฐและเอกชนต้องลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท
ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ว่า “เป็นเรื่องจำเป็นต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง ถ้าไม่ก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ท่าเรือแหลมฉบังจะเต็มขีดความสามารถ สินค้าส่วนที่เกินจากนั้นจะมีปัญหาในการขนส่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ”
ต้นปี 2554 ชาวบ้านแหลมฉบัง บางละมุง ตะเคียนเตี้ย และนาเกลือ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ก็ไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป พากันลุกขึ้นมาคัดค้านทันทีที่รับรู้ โดยรวมกลุ่มกันในนามเครือข่ายประชาชนและประชาสังคม 8 จังหวัดภาคตะวันออก พร้อมบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ “ไม่” ปราศจากปัญหาสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศไว้เมื่อตอนเริ่มต้น
โดยเริ่มตั้งแต่การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเมื่อปี 2521 ว่ายังมีชาวบ้านอีกหลายครอบครัวยังไม่ได้รับเงินค่าเวนคืน ส่วนคนที่ได้รับค่าเวนคืนครอบครัวละ 25,000 บาท ก็ไม่เพียงพอที่จะไปหาที่อยู่แห่งใหม่ได้ ต้องไปเช่าที่ดินของวัดอยู่อาศัย และไม่มีที่ทำกิน ซึ่งหากขยายท่าเรือเฟส 3 ก็ยิ่งจะทำให้เหลือพื้นที่ทำกินในอ่าวบางละมุงยามน้ำแห้งประมาณ 500 ไร่เท่านั้น
นอกจากนั้นชาวบ้านยังเรียกร้องให้ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครอบคลุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเฟส 1 และเฟส 2 ด้วย
เหรียญอีกด้านของความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในแหลมฉบัง ยังคงถูกตีแผ่จากนักวิชาการที่เป็นคนท้องถิ่นอย่างดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการที่เป็นคนในพื้นที่เล่าว่า ท้องทะเลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นพื้นที่ทำกินของชาวประมงถูกแทนที่ด้วยเขื่อนกันคลื่นยาว 3 กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนทิศทาง จนชายหาดถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ ตะกอนก็ทับถมมากขึ้น ป่าชายเลนถูกทำลาย สัตว์น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ น้ำทะเลก็เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน และน้ำเสียจากเรือเดินสมุทรที่เข้ามาจอดเทียบท่า
นอกจากนั้น บนฝั่งก็เต็มไปด้วยโรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม โกดัง พลุกพล่านด้วยรถคอนเทนเนอร์ การขนส่งทางรถไฟ ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำเสีย และการอพยพเข้ามาของแรงงานต่างถิ่น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย
รังสรรค์ สมบูรณ์ ประธานกลุ่มประมงบ้านบางละมุง ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ยืนยันว่าท่าเรือแหลมฉบังทั้งเฟสที่ 1 และ 2 ทำให้เกิดตะกอนเลนเต็มอ่าวบางละมุง บางช่วงหนาเกือบ 3 เมตร สัตว์น้ำในอ่าวบางละมุงก็หายไป หาดทรายสวยน้ำทะเลสะอาดใส ปัจจุบันมีแต่สิ่งปฏิกูลคล้ายกับที่ทิ้งของเสีย พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปี 2541 ว่าเกิดเหตุการณ์หอยตายทั้งอ่าวบางละมุง ชาวบ้านก็ทำเรื่องร้องเรียนแต่สุดท้ายก็หาผู้รับผิดชอบไม่ได้
แต่ระหว่างที่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเครือข่ายประชาชนและประชาสังคม 8 จังหวัดภาคตะวันออก ทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องชะลอโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ก็เกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 เมื่อการขนย้ายสารเคมีบิวทิล อิคลิเลต ซึ่งเป็นสารไวไฟที่บรรจุในถังแคปซูลจากเรือเพื่อขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ ESCO B3 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เกิดอุบัติเหตุระหว่างการยกสารเคมีแคปซูลหนึ่งขึ้นมาได้เกี่ยวอีกแคปซูลหนึ่งขึ้นมาด้วย และหลุดตกไปกระแทกท้องเรือจนถังฉีกขาดและสารเคมีรั่วไหล แก๊สฟุ้งกระจายไปในรัศมี 3 กิโลเมตร จึงต้องอพยพชาวบ้านในชุมชนบ้านนาใหม่และนักเรียนในละแวกใกล้เคียงออกจากพื้นที่ โดยมีผู้ป่วยจากการสูดดมแก๊สและมีอาการระคายเคืองแสบตา ตลื่นไส้ และเป็นลม ต้องนำส่งโรงพยาบาลรวม 105 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียน 5 แห่งที่อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ
ซึ่งสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมโลก ได้สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าทำให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบขาดความเชื่อมั่นและเชื่อใจในการทำงานของการท่าเรือฯ และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีจากภาครัฐ ภาคประชาชนในพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ รับรู้ระบบการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจ และไว้วางใจต่อการทำงานของท่าเรือต่อไป พร้อมกับคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าความเชื่อมั่นของประชาชนจะคืนกลับมาได้
แต่ดูเหมือนว่า เหตุการณ์ซ้ำซากที่เกิดขึ้นในพื้นที่แหลมฉบังจะยิ่งตอกย้ำให้ชาวบ้านยืนยันได้หนักแน่นชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ต้องหยุดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มากจนเกินพอดี “พอแล้วกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และท่าเรือ เป็นการพัฒนาถูกทิศทางแล้วหรือ ทำไมเอาอุตสาหกรรมมาอยู่กับการท่องเที่ยว เราต้องการพัฒนาโดยยึดธรรมชาติและชุมชนเป็นศูนย์กลาง เราต้องยอมรับความจริงแล้วมาช่วยกันแก้ปัญหา และหาคำตอบว่าการพัฒนาภาคตะวันออก อะไรน่าจะเหมาะสมกับพื้นที่มากกว่ากัน”
เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านแหลมฉบัง แบกรับภาระมลพิษเพื่อเศรษฐกิจของประเทศชาติมานานเต็มทีแล้ว
(ข้อมูล ณ พ.ศ. 2557)
เอกสาร : เทศบาลนครแหลมฉบัง, วิกิพีเดีย. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/เทศบาลนครแหลมฉบัง
: รายงานฉบับสมบูรณ์ รายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง, เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และวลัยพร มุขสุวรรณ, สิงหาคม 2546, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) . เข้าถึงได้จาก http://thaiecoalert.files.wordpress.com/2012/02/report_health_effect_evaluate2548.pdf
: “รู้จักชลบุรี”, จังหวัดชลบุรี. เข้าถึงได้จาก http://www.chonburi.go.th/หน้าแรก/tabid/36/language/th-TH/Default.aspx
: “ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โอกาสนำไทยสู่พาณิชย์นาวี”, Logistic News, Logistics Clinic Thailand. เข้าถึงได้จาก http://www.logisticsclinic.com/logistics-news/?cont_id=6680&ท่าเรือแหลมฉบังเฟส-3-โอกาสนำไทยสู่พาณิชย์นาวี
: “เร่งหาทางออกโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3”, ผู้จัดการออนไลน์, 29 มิถุนายน 2555. เข้าถึงได้จาก http://www.thaiday.com/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000079758
: “คำถามจาก “ชุมชนป้องอ่าวบางละมุง-นาเกลือ”...ดุลยภาพการพัฒนาอยู่ตรงไหน?”, ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน, สกู๊ป-สารคดีข่าว, สำนักข่าวอิศรา. เข้าถึงได้จาก HTTP://WWW.ISRANEWS.ORG/COMMUNITY/COMM-SCOOP-DOCUMENTARY/ITEM/7000-3.HTML
: คุณภาพน้ำชายฝั่ง, คุณภาพน้ำและการสะสมมลพิษ, ทะเลและทรัพยากรชายฝั่ง, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2542-43, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 185-186
: อุบัติภัยทางทะเล, ทะเลและทรัพยากรชายฝั่ง, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2544-45, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 198-199
: “แฉน้ำฝนหลายจังหวัด ปนเปื้อนมลพิษ ดื่มกินอันตราย”. เข้าถึงได้จาก http://health.kapook.com/view6835.html
: “รายงานสถานการณ์สารเคมีรั่วไหล”, ข่าวเศรษฐกิจ, มติคณะรัฐมนตรี, 2 ธันวาคม 2552. เข้าถึงได้จาก http://www.ryt9.com/s/cabt/760740
: “นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ความบกพร่องท่าเรือแหลมฉบังกรณีสารเคมีรั่ว-เสนอทบทวนแผนฉุกเฉินและตอบโต้”, ไทยพับลิก้า. เข้าถึงได้จาก http://thaipublica.org/2014/07/butyl-acrylate-laemchabangport/