โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซฯ ขนอม

โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซฯ ขนอม

(1)
โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซฯ ขนอม     
    เหตุเพราะพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช คือ 1 ใน 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนกลางที่ถูกกำหนดให้เป็นฐานการผลิตน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร ตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด มาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งถือเป็นแผนการพัฒนาระดับภูมิภาคชุดใหญ่ที่ทุกรัฐบาลให้การสนับสนุน
    โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จึงพากันแห่เข้ามาปักหลักอยู่ในพื้นที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันราวปี 2539 และนับจากนั้นเป็นต้นมา โครงการพัฒนาต่างๆ ที่มุ่งหน้าเข้ามายังจังหวัดแห่งนี้ ก็หนีไม่พ้นวงจรของโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกกำหนดทิศทางเอาไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ทำให้ชาวนครศรีธรรมราชต้องคอยเฝ้าระวังและลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านครั้งแล้วครั้งเล่า
    
 (2)
กรณี : โรงไฟฟ้าขนอม และโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม จ.นครศรีธรรมราช
สถานที่ : ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช
ความเสียหาย : ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน
ช่วงเวลา : 2539 เป็นต้นมา
เหตุการณ์ : เป็นเพราะแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาเทิร์นซีบอร์ดที่กำหนดให้ จ.นครศรีธรรมราช คือ 1 ใน 5 ของจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนกลาง เป็นฐานการผลิตน้ำมันและปิโตรเลียมครบวงจร 
    หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมเมื่อ 6 สิงหาคม 2534 พื้นที่ 484 ไร่บริเวณปากแม่น้ำขนอม ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ก็กลายเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม ขนาด 824 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 2 ประเภทคือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงรอง โดยใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทย ซึ่งส่งผ่านทางท่อรวมระยะทางประมาณ 320 กิโลเมตร
    ห้วงเวลานั้น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมเป็นไปอย่างราบรื่น และเมื่อสร้างเสร็จก็ถูกขายต่อให้กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)  หรือเอ็กโก ตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2539 เป็นต้นมา ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขนอมได้วางแผนเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวของโรงไฟฟ้าในอนาคตไว้ตั้งแต่เริ่มแรก 
    อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยเฉพาะการเริ่มลงมือผลักดันโครงการลงไปยัง จ.นครศรีธรรมราช ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะได้ทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้เบื้องต้นสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม โดยประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบคือ โครงการขนส่งน้ำมันดิบ โครงการกลั่นน้ำมัน โครงการด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะเล็งเห็นว่าโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ดังกล่าว มีความสำคัญ ถือว่าเป็นโครงการนำร่องที่เอื้อให้มีแรงจูงใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องรายอื่นๆ ตามมา และจะเห็นได้ว่ามีผลทำให้เกิดความต้องการไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่ภาคใต้อย่างมากในอนาคต 
    เมื่อบวกเข้ากับประสบการณ์ของ ปตท.ที่สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติขึ้นที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง และประสบความสำเร็จอย่างมากในการส่งวัตถุดิบที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้ปี 2537 บริษัท ปตท. ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของภาคใต้ขึ้นบนพื้นที่ 47 ไร่ของ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อป้อนก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าขนอมที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน และในอนาคตก็พร้อมปรับเพิ่มกำลังการผลิตตามการขยายตัวของโรงไฟฟ้าขนอม
    ทั้งนี้ ถือเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาตินอกเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกพื้นที่มาบตาพุดของบริษัท ปตท. จากที่มีอยู่ทั้งหมด 6 หน่วย โดยโรงแยกก๊าซฯ ขนอม ที่ จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นหน่วยที่ 4 และเปิดดำเนินการเมื่อ 12 กรกฎาคม 2539 สามารถแยกก๊าซฯ ได้วันละ 230 ล้านลูกบาศก์ฟุต
    อย่างไรก็ตาม นอกจากโรงแยกก๊าซฯ ขนอมของ ปตท.ที่ จ.นครศรีธรรมราช จะตอบสนองความต้องการพลังงาน เช่น ก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศในทันทีที่สร้างเสร็จ และก๊าซโซลีนธรรมชาติเพื่อส่งต่อไปยังโรงกลั่นน้ำมัน และทำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันตามมา โดยส่วนใหญ่ก๊าซชนิดนี้จะส่งต่อขายยังต่างประเทศ ยังทำให้ ปตท.สามารถขนส่งผลิตภัณฑ์ทางเรือไปยังคลังก๊าซฯ ที่สุราษฏร์ธานีและสงขลาได้สะดวกขึ้น และเพิ่มความสะดวกต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศอีกด้วย
    นับจากปี 2539 เป็นต้นมา การแจ้งเกิดโรงไฟฟ้าขนอมและโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม ในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ก็ไม่ต่างอะไรกับการปักหมุดหมายแรกของการพัฒนาให้กับชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งดูเหมือนว่า ยิ่งนานวันการพัฒนาที่รัฐบาลมอบให้จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ตามมาอย่างไม่หยุดหย่อน เมื่อพบว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ดาหน้ากันเข้ามานั้น ล้วนมีรายจ่ายค่ามลพิษฝากให้ชาวบ้านเป็นผู้รับภาระ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก หรือนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฯลฯ
     
      
Tag : ก๊าซธรรมชาติ,พลังงาน,โรงไฟฟ้า,โรงไฟฟ้าขนอม,โรงแยกก๊าซธรรมชาติ,ขนอม,ปตท.,นครศรีธรรมราช,แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้,เซาเทิร์นซีบอร์ด
เอกสาร : “ประวัติความเป็นมา”, บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด. เข้าถึงได้จาก http://www.khanom.egco.com/th/about_us_history.php
    : “รายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอมครั้งที่ 1”, บริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัด, ธันวาคม 2554. เข้าถึงได้จาก http://www.scribd.com/doc/119744586/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-HIA-1
    : “ย้อนรอย‘เซาเทิร์นซีบอร์ด’ในสถานการณ์มาบตาพุดอาบมลพิษ”. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/254190
    : “โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม”, สรุปข่าวพลังงาน, กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน, กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 26, ฉบับที่ 5, พฤษภาคม 2543. เข้าถึงได้จาก http://e-lib.dede.go.th/mm-data/Bib14898-%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%9E.%E0%B8%84.43.pdf
    : “อุตสาหกรรมไฟฟ้าในภาคใต้”, บริษัทผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด. เข้าถึงได้จาก http://www.khanom.egco.com/th/our_power_plant_souther_thailand.php