แม่น้ำตาปีเน่า
แม่น้ำตาปีเน่า
(1)
แม่น้ำตาปีเน่า
แม่น้ำตาปี ถือเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และเป็นหัวใจสำคัญของ จ.สุราษฏร์ธานี เพราะไหลผ่านครอบคลุมพื้นที่ถึง 5 อำเภอ ให้ชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งอุปโภค บริโภค ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
แต่การใช้ประโยชน์เหล่านั้น ยังครอบคลุมถึงการใช้แม่น้ำตาปีเป็นที่ปล่อยน้ำเสียของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ปลาตายลอยเป็นแพ ซึ่งส่วนใหญ่หาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้
นอกจากนั้น ในยามเกิดภัยธรรมชาติ ฝนตกหนักหน้าดินถูกชะล้างจนพังทลาย แม่น้ำตาปียังต้องเผชิญกับการปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่วและแคดเมียมที่คาดว่ามาจากน้ำฝนที่ไหลผ่านกองขยะและเหมืองแร่
ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำตาปีในปี 2554-2555 พบว่าคุณภาพน้ำโดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านย่านชุมชนยังคงมีสภาพเสื่อมโทรมลง ขณะที่เหตุการณ์น้ำเน่าปลาตายลอยเป็นแพยังคงปรากฏให้เห็นเป็นระยะ
(2)
กรณี : แม่น้ำตาปีเน่า จ.สุราษฏร์ธานี
สถานที่ : พื้นที่ 5 อำเภอคือ เวียงสระ พระแสง เคียนซา พุนพิน และเมือง จ.สุราษฏร์ธานี
ความเสียหาย : มีเหตุการณ์แม่น้ำตาปีเน่าเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่การจ่ายค่าเสียหายเกิดขึ้นครั้งเดียว จากโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันใน จ.กระบี่ โดยมีการเรียกร้องค่าเสียหาย 2.9 ล้านบาท
ช่วงเวลา : 2549 เป็นต้นมา
เหตุการณ์ : แม่น้ำตาปีที่มีความยาวถึง 232 กิโลเมตร และถือเป็นแม่น้ำสายที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ลำพังเฉพาะในพื้นที่ จ.สุราษฏร์ธานี แม่น้ำตาปีก็ไหลผ่านพื้นที่ถึง 5 อำเภอคือ เวียงสระ พระแสง เคียนซา พุนพิน และอำเภอเมือง ทำให้แม่น้ำตาปีเป็นหัวใจสำคัญของชาวสุราษฏร์ธานีไปโดยปริยาย
ชาวสุราษฏร์ธานีใช้ประโยชน์แม่น้ำตาปีหลายด้าน ทั้งการอุปโภค บริโภค ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และที่สำคัญก็คือ ใช้แม่น้ำตาปีเป็นที่ระบายน้ำเสียของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำไปพร้อมกัน
ซึ่งทั้งชุมชนในเขตเทศบาลและเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเกือบทั้งหมดใน จ.สุราษฏร์ธานี ยังไม่มีระบบจัดการน้ำเสีย เช่นเดียวกับระดับครัวเรือนและสถานประกอบการอีกหลายแห่ง ก็ไม่มีระบบการบำบัดน้ำเสียในเบื้องต้นแต่อย่างใด นั่นหมายความว่าบรรดาน้ำเสียเกือบทั้งหมด ไหลไปรวมกันในแม่น้ำตาปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน
โดยการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2531 พบว่าปัญหาหลักของน้ำเสียในอ่าวบ้านดอน ซึ่งเป็นปลายทางของแม่น้ำตาปีก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทย ก็คือแหล่งน้ำทิ้งของที่ต่างๆ เช่น โรงงานสุรา, อุตสาหกรรมที่ อ.พุนพิน, โรงงานปลาป่น, ชุมชนเมืองสุราษฏร์ฯ, ชุมชนที่ อ.พุนพิน ซึ่งล้วนแต่มีแนวโน้มว่าจะปล่อยน้ำทิ้งในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งปี 2543 ความชัดเจนถึงสาเหตุหลักที่ทำให้แม่น้ำตาปีเน่าเสียก็ถูกสรุปว่า มาจากน้ำมือของชาวสุราษฏร์ธานี รวมทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ราว 20 โรงงาน โรงงานปิโตรเลียม และโรงงานผลิตสุรา
ขณะที่การตรวจสอบแม่น้ำตาปีในบางช่วงของศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต 11 จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อปี 2544 ก็พบว่า ในเขต อ.พระแสง เคียนซา คิรีรัฐนิคม และ อ.เมือง มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วและแคดเมียมในระดับสูงเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบเชื้อโคลิฟอร์มที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงเกินมาตรฐานด้วยเช่นกัน ทำให้น้ำจากแม่น้ำตาปีในบริเวณดังกล่าวไม่สามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้ ซึ่งสาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากการลักลอบปล่อยน้ำเสียและการชะล้างหน้าดิน โดยน้ำฝนพัดพาโลหะหนักจากกองขยะและเหมืองแร่ลงสู่แม่น้ำ
เมื่อถูกใช้ประโยชน์อย่างหนักหน่วง ราวปี 2545 แม่น้ำตาปีก็เริ่มมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์แค่พอใช้ แต่ตอนล่างของแม่น้ำในช่วงที่ไหลผ่าน อ.เมืองสุราษฏร์ฯ ก็เริ่มอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ห้วงเวลานับจากนั้นเป็นต้นมา แม่น้ำตาปีถูกชี้ชัดว่า มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง
ความเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วของแม่น้ำตาปี ถือเป็นปัญหาที่สะสมมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะมีการสำรวจเก็บข้อมูลเมื่อใด ผลที่ได้ยังคงตอกย้ำให้เห็นถึงสุขภาพที่ย้ำแย่ลงเรื่อยๆ ของแม่น้ำตาปี
แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแม่น้ำตาปีก็ไม่แตกต่างไปจากสายน้ำอื่นๆ นั่นคือ ปลาตายลอยเป็นแพ
5 ธันวาคม 2549 เกิดเหตุการณ์ปลาตายลอยเป็นแพระหว่างหมู่ 5 ต.สินปุน อ.พระแสง กับหมู่ 6 ต.คลองฉนวน อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้นายอรุณ อุบลกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) สินปุน และนายยุทธพงษ์ สุวรรณเมนะ นายกเทศมนตรี ต.ย่านดินแดง เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.อ.พระแสง และแจ้งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมที่ 14 และประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น
ผลการตรวจสอบพบว่า คุณภาพน้ำในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณออกซิเจนน้อยมาก ทำให้ปลาขาดอากาศหายใจตายในสภาพอ้าปากแต่ไม่มีบาดแผลใดๆ
“สภาพปลาที่ตายลอยเป็นเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกที่หมู่ 8 ต.สินเจริญ เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน พบปลาตายถ้าชั่งน้ำหนักแล้วร่วมสองพันกิโลกรัม ถัดมาวันที่ 4 ธันวาคม ตายเพิ่มบริเวณที่เดิมอีกประมาณหมื่นกิโลกรัมในสภาพเดียวกัน ส่งกลิ่นเหม็นไปทั้งลำคลอง จึงมั่นใจว่ามีน้ำเสียไหลมาแล้ว” เจ้าหน้าที่ประมงระบุ
ถัดมาวันที่ 6 ธันวาคม น้ำเสียไหลลงลำน้ำตาปีอีกระลอกหนึ่ง คราวนี้กระแสน้ำพัดไปถึงพื้นที่ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ปลาธรรมชาติและปลาเลี้ยงในกระชังของชาวหมู่ 5 ต.ควนศรี ทั้งปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลาซิว ปลายี่สก ปลาทับทิม ตายลอยเกลื่อนแม่น้ำ ค่าเสียหายกว่า 2 ล้านบาท
ขณะที่ จ.กระบี่ นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้รับแจ้งถึงเหตุการณ์น้ำเน่าเสียในลำคลองสินปุน จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจหาสาเหตุเนื่องจากคลองสินปุนเป็นหนึ่งในลำคลองสาขาที่มีต้นทางมาจาก อ.ลำทับ จ.กระบี่
เจ้าหน้าที่ส่งตัวอย่างน้ำทิ้งที่เก็บจากคลองสินปุนและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มใน อ.ลำทับ ไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคใต้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จ.สงขลา พบว่าน้ำเสียที่ปล่อยออกจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีประมาณหนึ่งหมื่นคิว ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน แต่มีค่าออกซิเจนต่ำที่เป็นต้นเหตุให้ปลาตาย
เมื่อผลพิสูจน์พบว่าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำเน่าเสียในแม่น้ำตาปี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงเข้ายื่นหนังสือต่อนายชาย พานิชพรพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อคือ
1.ให้สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียภายใน 7 วัน 2.เรียกประชุมโรงงานต่างๆ เพื่อวางมาตรการป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง 3.ให้บริษัทรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อลำคลอง รวมทั้งฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม และ 4.ให้ฝ่ายโรงงาน ประชาชน และทางราชการ บันทึกข้อตกลงป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก
โดยอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ มีคำสั่งปิดโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและให้ปรับปรุงระบบน้ำเสีย พร้อมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับปลาของชาวบ้าน และชดเชยความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมให้กับรัฐ
ส่วนผลการเจรจาระหว่างหน่วยราชการ เจ้าของโรงงาน และผู้ได้รับความเสียหายสรุปว่า ทางโรงงานยอมจ่ายให้เจ้าของปลาเลี้ยงในกระชังทั้งหมด 13 รายกับอีก 1 กลุ่ม เป็นเงินประมาณ 2.9 ล้านบาท โดยจังหวัดให้คณะทำงาน 8 คนที่มีตัวแทนผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ที่เสียหาย ผู้นำชุมชน และจากภาครัฐ เข้าไปตรวจสอบความเสียหายร่วมกันในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 และให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน
ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีแรกใน จ.กระบี่ ที่ได้รับโทษจากการปล่อยน้ำเสียลงคลอง
แต่เหตุการณ์แม่น้ำตาปีเน่าเสีย ปลาตายลอยเป็นแพก็ยังคงเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2554 ถึงขั้นทำให้ต้องหยุดผลิตน้ำประปาบางสวรรค์ ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฏร์ธานี และถือเป็นเรื่องซ้ำซากที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำตาปีครั้งแล้วครั้งเล่า
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำตาปีในปี 2554-2555 พบว่าคุณภาพน้ำโดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านย่านชุมชนยังคงมีสภาพเสื่อมโทรมลง
Tag : แม่น้ำตาปี,ตาปีเน่า,แม่น้ำตาปีเน่า,ปลาตายในแม่น้ำตาปี,จ.สุราษฏร์ธานี
เอกสาร : “การสร้างเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งแม่น้ำตาปี-พุมดวง และชายฝั่งในการจัดการน้ำเสียเบื้องต้น”,
มุมมองการจัดการมลพิษประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (Thailand’s Perspective in Pollution Management and climate change : A step to AC),
อโณทัย ธีรสิงห์ และคณะ, การประชุมประจาปีกรมควบคุมมลพิษ ๒๕๕๗. เข้าถึงได้จาก http://data.reo14.go.th/57/report/satanakan_55.pdf
: แม่น้ำตาปี, คุณภาพน้ำ, น้ำ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2544-45, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 92
: “คนสุราษฏร์โวยรง.น้ำมันปาล์ม ปล่อยทิ้งน้ำเสีย แม่น้ำอิปันเน่า! ประปาหยุดผลิต”, สยามรัฐ, 25 เมษายน 2554. เข้าถึงได้จาก http://www.siamrath.co.th/web/?q=node/53474
: “แกะรอยปรากฏการณ์ "น้ำเสีย"ถล่ม"ตาปี" รง.จ่าย 2 ล.ชดเชยปลาตาย”, มติชนรายวัน, 5 ธันวาคม 2549. เข้าถึงได้จาก www.en.mahidol.ac.th/thai/news/2006/12/19.htm