ความตายที่นิคมฯ ลำพูน

ความตายที่นิคมฯ ลำพูน

(1)
   ความตายที่นิคมฯ ลำพูน
   แม้นิคมอุตสาหกรรมลำพูน จะเปิดฉากครั้งแรกอย่างสวยหรูในปี 2526 ด้วยการประกาศว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในภาคเหนือ และจะดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิดว่า อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมฯ แห่งนี้ ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาดเท่านั้น
    แต่ผ่านไปแค่ 5 ปี นิคมอุตสาหกรรมลำพูนก็ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องอ้าแขนต้อนรับการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชื่อของนิคมอุตสาหกรรมลำพูนโด่งดังเป็นข่าวใหญ่ในเวลาต่อมา เมื่อคนงานวัยหนุ่มสาว 12 คน และลูกของคนงานอีก 2 คนทยอยเสียชีวิตโดยแพทย์ไม่รู้สาเหตุแน่ชัด ซึ่งทุกคนมีอาการเริ่มต้นเหมือนกันคือ หายใจไม่ออก ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยที่มีอยู่น้อยมากในประเทศไทยระบุว่า น่าจะเป็นโรคจากสารโลหะหนัก
ขณะที่คนงานก็เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินหายใจ ผลการสุ่มตรวจเลือดคนงาน 60 คนจาก 100 คน พบว่ามีสารตะกั่วในเลือดสูงมาก
    กว่าข้อเท็จจริงจะถูกเปิดเผยก็ใช้เวลาเนิ่นนาน โดยสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สรุปว่า พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในพื้นดินบริเวณโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน น้ำใต้ดินมีสารเคมีปนเปื้อนในปริมาณเข้มข้นสูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาท มีพิษต่อตับ ไต และเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งยังพบภาวะเลือดจาง และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ทำงานในโรงงานจะแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นผลจากสารพิษและของเสียอันตราย
    ไม่เพียงเท่านั้น กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังสุ่มตรวจน้ำประปาบาดาลของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมลำพูนอย่างหมู่บ้านหนองเป็ด ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน ก็พบว่ามีสารตะกั่วทองแดง และสังกะสี ปนเปื้อนสูงกว่าค่ามาตรฐานน้ำดื่มของไทย 4-8 เท่า 
     นิคมอุตสาหกรรมลำพูน จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมหยิบยกขึ้นมาชี้ให้เห็นถึงการย้ายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีมลพิษจากประเทศที่พัฒนาแล้วสู่ประเทศไทย โดยอาศัยค่าแรงราคาถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิต
    
(2)
กรณี : ปริศนาความตายที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน
สถานที่ : พื้นที่ 1,788 ไร่ ต.บ้านกลาง และต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 
ความเสียหาย : คนงานเสียชีวิต 12 คน ลูกของคนงานเสียชีวิตอีก 2 คน และอีกส่วนหนึ่งเจ็บป่วยไม่ทราบจำนวน 
        : สารพิษจำพวกโลหะหนักปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ
ช่วงเวลา : เริ่มมีคนงานทยอยเสียชีวิตนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา
เหตุการณ์ : การตีฆ้องร้องป่าวว่าจะทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในภาคเหนือคือ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ในพื้นที่ 1,788 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบลคือ บ้านกลางและมะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน โดยวางกรอบการลงทุนว่า ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาดเท่านั้น ซึ่งพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรม เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีวัตถุดิบด้านการเกษตรจำนวนมาก
    ทำให้เริ่มดำเนินการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมลำพูนตั้งแต่ปี 2526 ราบรื่นจนเปิดดำเนินการได้ในอีก 2 ปีต่อมา ด้วยเม็ดเงินลงทุน 538 ล้านบาท
    แต่การวางกรอบว่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาดเท่านั้น ก็ทำให้ประสบภาวะขาดทุน จนในที่สุดปี 2531 นิคมอุตสาหกรรมลำพูนก็ต้องเปิดกว้างอ้าแขนต้อนรับการลงทุนที่หลากหลาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกลายเป็นที่มาของข่าวใหญ่ในเวลาต่อมา
    ปี 2536-2537 ความตายของคนงานที่ล้วนอยู่ในวัยหนุ่มสาว 12 คน และลูกของคนงานอีก 2 คนก็เสียชีวิตตามมา โดยมีอาการเริ่มต้นเหมือนกันคือ หายใจไม่ออก แพทย์ก็ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจนได้ เพียงแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นโรคจากสารโลหะหนัก
    ส่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน ศูนย์ระบาดวิทยาภาคเหนือ และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงาน ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิต แต่ไม่มีการเปิดเผยรายงานการศึกษาต่อสาธารณชน
    แม้กระทั่งโฆษกรัฐบาลในขณะนั้นก็ออกมาแถลงว่า การเสียชีวิตของคนงานไม่เกี่ยวข้องกับภาวะการทำงานแต่อย่างใด
    ขณะที่ความตายของคนงานทั้ง 12 คน และลูกของคนงานอีก 2 คนยังดำมืด แต่ผลการสุ่มตรวจเลือดคนงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 100 คน ก็พบว่า 60 คน มีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงมาก
    เหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนั้นนำไปสู่การเรียกร้องของสาธารณชนให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยจากการทำงานและปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ขณะที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนกลายเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยด้านต่างๆ มากมาย แต่กว่าความจริงจะปรากฏ ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่มีรากฐานด้านการเกษตรก็ยากที่จะหวนคืน 
    งานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ชัดว่า แม้นิคมอุตสาหกรรมลำพูนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน แต่การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการเกษตรเป็นอุตสาหกรรม ก็เกิดผลกระทบหลายด้าน อาทิ แม้ค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมจะสูงกว่าภาคเกษตร 3-4 เท่า ทำให้แรงงานมีความมั่นคงมากขึ้น แต่ก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นจนเกิดปัญหาหนี้สินตามมา ขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรก็ทำให้เกิดปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นขยะ น้ำเสีย อาชญากรรม และการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหม่และใหญ่เกินกว่าชุมชนจะจัดการแก้ไขได้โดยลำพัง
    ไม่เพียงแค่นั้น การเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมลำพูนยังสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งผลการวิจัยของสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สรุปว่า พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในพื้นดินบริเวณโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน น้ำใต้ดินมีสารเคมีปนเปื้อนในปริมาณเข้มข้นสูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาท มีพิษต่อตับ ไต และเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งยังพบภาวะเลือดจาง และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ทำงานในโรงงานจะแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นผลจากสารพิษและของเสียอันตราย
    ปี 2550 หายนะทางสิ่งแวดล้อมจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ยังแผ่ขยายครอบคลุมไปยังชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงอย่างบ้านหนองเป็ด ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน โดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตรวจพบว่าน้ำประปาบาดาลของหมู่บ้านมีสารตะกั่วและทองแดง สูงเกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มของไทย 4 เท่า และสังกะสีสูงเกินค่ามาตรฐาน 8 เท่า สาธารณสุขประจำเทศบาลตำบลบ้านกลางจึงแจ้งให้ชาวบ้านงดตื่มน้ำประปาของหมู่บ้านชั่วคราว ซึ่งนายจำนงค์ จันทกลาง ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองเป็ด ตั้งคำถามว่า ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของชาวบ้าน 30 ครัวเรือน กว่า 100 คน ที่ต้องซื้อน้ำดื่ม 
    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน คือตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมหยิบยกขึ้นมาชี้ให้เห็นถึงการย้ายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีมลพิษจากประเทศที่พัฒนาแล้วสู่ประเทศไทย โดยอาศัยค่าแรงราคาถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิต
    
Tag : สารพิษ,มลพิษ,นิคมอุตสาหกรรมลำพูน,ความตายที่ลำพูน,มลพิษอุตสาหกรรม,จ.ลำพูน
เอกสาร : “คนลำพูนเตือนคนเชียงแสน อันตรายนิคมอุตสาหกรรม”. เข้าถึงได้จาก http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n_07122004_01
    : “จับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษกับอุตสาหกรรมมลพิษ”. เข้าถึงได้จาก www.openbase.in.th/files/rapeearticle2007013.doc
    : “ฐานข้อมูลโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและสารเคมี”. เข้าถึงได้จาก http://www.chemtrack.org/HazMap-Disease-Info.asp?ID=110
    : “บทบาทของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือต่อการเจริญเติบโตของชุมชนโดยรอบ”. สถาบันวิจัยสังคม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เข้าถึงได้จาก http://www.sri.cmu.ac.th/~srilocal/research_a/DATA/41_B.html
    : “กรีนพีซ แฉน้ำใต้ดินติดนิคมฯ ลำพูน สารพิษอันตรายต่อชีวิต”. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9500000134709
    : “นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือในสายพานการผลิตระดับโลก”. เข้าถึงได้จาก http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Cover/2001-3000/2401-2500/T02435.pdf