แม่น้ำกวงเน่า

แม่น้ำกวงเน่า

(1)
แม่น้ำกวงเน่า
    แม่น้ำกวง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวลำพูนมาช้านาน ถูกตั้งข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูนเข้ามาเป็น “ขาใหญ่” ของชุมชนได้ระยะหนึ่ง โดยปี 2532 ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานหลายชุมชนต่างได้กลิ่นเหม็นเน่าที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งในห้องนอน
    จุดวิกฤตของแม่น้ำกวงเกิดขึ้นในปี 2536 เมื่อพบปลาตายจำนวนมาก 
    เมื่อแม่น้ำเริ่มเปลี่ยนสีคล้ำลง ส่งกลิ่นเหม็น ปลาลอยตายเป็นแพ ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วย คนหาปลาทอดแห แต่กลับได้เศษชิ้นส่วนหนังวัวหนังควายจากโรงงานฟอกหนังและเย็บถุงมือขึ้นมาแทน
    จุดปล่อยน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ถูกระบุว่า ลักลอบปล่อยน้ำเสียตอนกลางคืน 
    แต่การส่งหนังสือร้องเรียนถึงผู้เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยแก้ไขจากนักเรียน ครู ผู้ปกครอง พระ และชาวบ้าน ครั้งแล้วครั้งเล่า ยังคงไร้ผล
    ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกับนิคมอุตสาหกรรมลำพูนมีขึ้นตลอดมา แต่การกล่าวอ้างถึงการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญทั้งของรัฐและเอกชน ไม่เคยนำไปสู่การหาต้นตอผู้ปล่อยน้ำเสียเพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบได้เลย
    แม่น้ำกวง ยังคงถูกใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตประปาป้อนชาวลำพูน เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมลำพูนก็ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อป้อนให้กับโรงงานที่เข้ามาลงทุน พร้อมๆ กับใช้แม่น้ำกวงเป็นแหล่งระบายน้ำเสียที่แม้จะมีบ่อบำบัด แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย
    สุขภาพของแม่น้ำกวงย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถึงขั้นทำให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาในปี 2542 ว่า ยังไม่สามารถแก้ปัญหาแม่น้ำกวงเน่าเสียได้ คุณภาพน้ำในแม่น้ำกวงจึงจมดิ่งอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องและนาวนาน
    จนถึงปี 2555 กรมควบคุมมลพิษ ยังคงประกาศให้แม่น้ำกวงเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเสื่อมโทรม 
    
(2)
กรณี : แม่น้ำกวงเน่า
สถานที่ : แม่น้ำกวงไหลผ่าน 2 อำเภอของจังหวัดลำพูน คือ อ.เมือง และ อ.ป่าซาง
ความเสียหาย : กลิ่นเหม็นรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน บางรายเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ปวดศีรษะ ใบหน้าบวมชา 
            : ปลาตายลอยเป็นแพ ชาวบ้านจับปลาได้น้อยลง ลงเล่นน้ำไม่ได้ มีอาการคัน
            : คุณภาพน้ำในแม่น้ำกวงอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง
ช่วงเวลา : ปี 2532-2555 
เหตุการณ์ : หลังการเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมลำพูน โดยเปิดดำเนินการเมื่อปี 2528 พร้อมเปลี่ยนแนวทางจากอุตสาหกรรมสะอาด มาเป็นการเปิดกว้างอ้าแขนต้อนรับการลงทุนที่หลากหลาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
    การเปลี่ยนแปลงนี้เอง ทำให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดลำพูน ระบุในเวลาต่อมาว่าโรงงานในนิคมฯ ลำพูน มีการใช้สารเคมีกว่า 800 ชนิด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มโลหะหนักเช่น อะลูมินัม ตะกั่ว แคดเมียม และทองแดง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเรื้อรังในระยะยาว เช่น เป็นโรคอัลไซเมอร์ ระบบประสาท โลหิตจาง ไต มะเร็ง ทำให้แท้งและเป็นหมัน เป็นต้น
    และกลุ่มสารระเหยอินทรีย์ (Volatile Organic Compounds) เช่น เบนซีน โทอูลีน เอทิลเบนซิน ไตรคลอโรเอทิลีน ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ เป็นสารก่อมะเร็งในตับ ไต ปากมดลูก และต่อมน้ำเหลือง มีผลต่อระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น
    แต่ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าว ปี 2532 ชาวบ้านศรีบุญยืน วังทอง เหมืองง่า และศรีสองเมือง นับพันครัวเรือนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงงานก็เริ่มรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเยือนจากกลิ่นเหม็นจากแม่น้ำกวงที่โชยเข้ามาและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนถึงห้องนอน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เริ่มทยอยเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ ปวดศีรษะ บ้างก็มีใบหน้าบวมชา โดยเฉพาะพระภิกษุชรา ชันษา 72 ปี จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีบุญยืน มีอาการอาพาธหนักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราช จ.เชียงใหม่
    ทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนต่างเชื่อว่า กลิ่นเหม็นเกิดจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำกวงของโรงงานฟอกหนัง และเย็บถุงมือแห่งแรกที่เปิดกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเหม็นรุนแรงมากในช่วงฤดูฝน โดยอ้างหลักฐานจากการสังเกตเห็นปลาตายลอยเป็นแพขึ้นมาจากลำน้ำ คนหาปลาบริเวณใต้ฝายน้ำล้นตรงกับจุดปล่อยน้ำเสียพบว่า มีเศษหนังวัวหนังควาย เศษชิ้นส่วนเหลือทิ้งจากการตัดเย็บนอนก้นอยู่ใต้แม่น้ำ
    พระครูศิริปุญญากร เจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืน สังเกตว่าแม่น้ำกวงสีคล้ำลงตั้งแต่ พ.ศ.2534-2535 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำไม่ได้เลย และผู้ที่ตั้งบ้านอยู่ริมน้ำตรงข้ามปากท่อน้ำเสียยืนยันว่า นิคมอุตสาหกรรมได้ปล่อยน้ำเสียตอนกลางคืนเป็นระยะ
    ความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่รายรอบกับนิคมอุตสาหกรรมลำพูนเริ่มปรากฏขึ้นจากจดหมายร้องเรียนฉบับแล้วฉบับเล่าทั้งจากพระ ชาวบ้าน ครู นักเรียน และผู้ปกครองที่ยื่นให้กับผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แก้ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านตั้งแต่ปี 2534 แต่ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ 
    16 มีนาคม 2536 การประท้วงของชาวบ้านจึงเกิดขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน ทำให้ผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาไกล่เกลี่ย และรับปากว่าจะแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดภายใน 3 เดือน โดยยอมรับเฉพาะเรื่องกลิ่นเหม็นว่าเกิดจากประสิทธิภาพของบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อที่ 1 แต่ไม่ยอมรับว่านิคมอุตสาหกรรมเป็นตัวการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำกวง
    การแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นแบบมีเงื่อนไขดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียเป็นหลัก ขณะที่หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแม่น้ำกวงมีหลายหน่วยงาน เช่น ฝ่ายวิเคราะห์แร่ (สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 3 เชียงใหม่) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (กระทรวงสาธารณสุข) ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)  กองจัดการคุณภาพน้ำ (กรมควบคุมมลพิษ) ศูนย์วิเคราะห์สารมลพิษอุตสาหกรรมภาคเหนือ (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) และบริษัทเอ็นไวร์เท็ค คอนซัลแต้นท์ จำกัด (โครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเสียเทศบาลเมืองลำพูน) หน่วยงานเหล่านี้ดำเนินการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำในลำน้ำกวงและลำน้ำสาขาในระยะเวลาต่างๆ ตามวัตถุประสงค์เฉพาะที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่ได้เป็นการติดตามคุณภาพแม่น้ำกวงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นอีก 4 ปี แม่น้ำกวงเกิดภาวะเน่าเสียขึ้นอีก
    ปี 2540 มีปลาตายในบ่อบำบัดน้ำเสียและในแม่น้ำกวงจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่จากนิคมอุตสาหกรรมลำพูนปฏิเสธว่าไม่ได้เกิดจากโรงงานในนิคมฯ ลำพูน เพราะไม่ได้ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำกวงนานแล้ว โดยอ้างว่านำไปรดต้นไม้แทน
    แม่น้ำกวงเน่า กลายเป็นปัญหาซ้ำซากที่ชาวลำพูนต้องแบกรับอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้กระทั่ง สมศักดิ์ บุญเปลื้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ยอมรับในปี 2542 ว่าปัญหาแม่น้ำกวงเน่าเสีย ยังไม่สามารถแก้ไขได้ และนับจากนั้นเป็นต้นมา กรมควบคุมมลพิษ ก็ประกาศให้แม่น้ำกวงเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม และคงสถานะเช่นนั้นจนถึงปี 2555

Tag : แม่น้ำกวง,นิคมอุตสาหกรรมลำพูน,มลพิษอุตสาหกรรม,จ.ลำพูน
เอกสาร : รายงานประจำปี สำนักจัดการคุณภาพน้ำ, กรมควบคุมมลพิษ, 2552. เข้าถึงได้จาก http://kmcenter.rid.go.th/kmc10/data/water_annual52.pdf
    : รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2555, กรมควบคุมมลพิษ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กุมภาพันธ์ 2556. เข้าถึงได้จาก www.pcd.go.th/count/mgtdl.cfm?...25560214.pdf
    : อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนที่มาพร้อม “ปัญหาสิ่งแวดล้อม”. เข้าถึงได้จาก http://www.khlong-u-taphao.com/index.php?file=forum&obj=forum.view(cat_id=pub_gen,id=13)
    : “นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือในสายพานการผลิตระดับโลก”. เข้าถึงได้จาก http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Cover/2001-3000/2401-2500/T02435.pdf