แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย

แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย

(1)
แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย
    แม้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จะเซ็นต์อนุมัติให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทยล็อตใหญ่แก่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5 แห่งอย่างเงียบๆ เมื่อปี 2550 
    แต่ในทันทีที่ชาวบ้านรับรู้ การอนุมัติดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่ถูกจุดชนวนให้ชาวบ้านที่ใช้ทะเลเป็นแหล่งหากินต่างลุกขึ้น “คัดค้าน” อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไล่เรียงมาตามริมฝั่งชายทะเลอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นสงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ชุมพร และสมุทรสาคร
    การแสดงความไม่เห็นด้วยของชาวบ้านทั้งชาวประมงและผู้มีอาชีพด้านการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ จึงเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสที่ดีของสังคมไทยที่จะได้รับรู้ถึงชุดข้อมูลความรู้ที่ว่าด้วยผลกระทบของแท่นขุดเจาะน้ำมันว่า การได้มาซึ่งของล้ำค่าอย่าง “น้ำมัน” มีรายจ่ายที่ฝากไว้ให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้แท่นขุดเจาะน้ำมันเป็นผู้แบกรับผลกระทบเอาไว้อย่างประเมินค่าไม่ได้อย่างไรบ้าง    

 (2)
กรณี : แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย
สถานที่ : ทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ชุมพร และสมุทรสาคร
ความเสียหาย : คราบน้ำมันสีดำลอยมาติดชายหาด แต่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า มาจากแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือไม่ เกิดความขัดแย้งในชุมชนท้องถิ่น
ช่วงเวลา : 2550-2556
เหตุการณ์ : แม้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ จะพยายามยืนยันว่ากว่า 30 ปีที่ผ่านมาการขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลอ่าวไทยมีขึ้นกว่า 5,000 หลุมก็ไม่เคยเกิดปัญหาหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบใดๆ ตามมาอย่างที่ชาวบ้านหวั่นวิตก 
    แต่ดูเหมือนว่าคำพูดดังกล่าวจะไร้น้ำหนัก และไม่ช่วยให้สถานการณ์การคัดค้านของชาวบ้านจากหลายจังหวัดที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2551 ลดน้อยลงแต่อย่างใด
    ชนวนเหตุสำคัญที่กลายเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งอ่าวไทยไม่ว่าจะเป็นชาวสงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ชุมพร และสมุทรสาคร ต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะการเซ็นต์อนุมัติให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานไม่น้อยกว่า 5 บริษัท ได้รับสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทยอย่างเงียบๆ ในปี 2550 
    อย่างไรก็ตาม ความเงียบก็ปกคลุมอยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ เพราะในทันทีที่ชาวบ้านแต่ละพื้นที่เริ่มรับรู้ความหวั่นวิตกถึงผลกระทบที่จะตามมาก็ทำให้บรรดาบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากการขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลครั้งก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง
    ปี 2551 การเปิดเวทีรับฟังความเห็นของแต่ละบริษัทในต่างพื้นที่ อาทิ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด เป็นต้น ล้วนต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน 
    ชาวประมงคือชาวบ้านกลุ่มแรกที่ขยับตัวออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะกังวลถึงผลกระทบจากแท่นขุดเจาะน้ำมันที่จะตามมา การเปิดเวทีเจรจาเรื่องค่าชดเชยระหว่างบริษัท นิวคอสตอลฯ กับชาวประมงพื้นบ้าน จ.สงขลา ที่มีขึ้นหลายครั้งหลายหนก็ล่มไม่เป็นท่า ทั้งๆ ที่ระยะเวลาลงมือขุดเจาะน้ำมัน ขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ คือ 20 มิถุนายน 2551 และจะต่อเนื่องยาวนานไปอีก 3 ปี โดยจุดที่จะติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ห่างจากชายฝั่งบริเวณ อ.สทิงพระ ราว 30 ก.ม.
    ตัวแทนบริษัท นิวคอสตอลฯ ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการจะมีการสูญเสียพื้นที่ประมงมากที่สุดไม่เกิน 1.98 ตารางกิโลเมตร สำหรับมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการประมง จะแจ้งเวลาและตำแหน่งที่ดำเนินโครงการให้ทราบล่วงหน้า พร้อมกับติดตั้งทุนลอย สัญญาณไฟส่องสว่าง และจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายให้ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ หรือเครื่องมือประมงเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการ
    ส่วนเหตุผลของชาวประมงที่ออกมาคัดค้านโครงการนี้คือ การก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันต้องใช้สารเคมี อีกทั้งยังก่อให้เกิดตะกอนฟุ้งกระจายจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับการจับปลา นอกจากนั้นกระแสน้ำก็อาจทำให้อวนปลาทูลอยเข้าไปอยู่ในเขตแท่นขุดเจาะ ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้าม จนได้รับความเสียหายได้ 
    เมื่อไม่สามารถตกลงตัวเลขค่าชดเชยจากผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างบริษัทขุดเจาะน้ำมันกับชาวบ้านก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ ถึงขั้นมีการนำเรือประมงขนาดเล็กเกือบ 500 ลำประท้วงด้วยการปิดร่องน้ำทะเลสาบสงขลาและร่องน้ำท่าเรือน้ำลึกสงขลา ทำให้เรือสินค้าจากต่างประเทศ เรือบรรทุกก๊าซและน้ำมันจากแท่นขุดเจาะต่างๆ ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้
    หลังจากนั้นมา แม้การขุดเจาะน้ำมันจะเดินหน้าต่อไป แต่เครือข่ายประมงพื้นบ้านของ จ.สงขลา ก็มีกิจกรรมรณรงค์คัดค้านแท่นขุดเจาะน้ำมันอย่างต่อเนื่อง และถูกเผยแพร่เป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อเรือประมงของชาวบ้านกว่า 200 ลำร่วมกับเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซ ได้ร่วมกันเคลื่อนขบวนเข้าล้อมแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอลฯ ที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง อ.สทิงพระ พร้อมกับวางทุ่นที่มีข้อความ “หยุดทำร้ายทะเลไทย” เมื่อ 16 มิถุนายน 2556 
    ส่วนที่นครศรีธรรมราช บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิต จำกัด มีโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานในแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทยหรือชอร์เบส ที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านของของเครือข่ายชาวบ้านและนักอนุรักษ์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง 
    ในที่สุด ต้นปี 2556 หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิต จำกัด ก็ออกมาเน้นย้ำชัดเจนว่าเลิกโครงการชอร์เบส และจะไม่มีการก่อสร้างในจังหวัดใดอย่างแน่นอน และจะใช้ท่าเทียบเรือที่จังหวัดสงขลาตามเดิม
ความไม่ราบรื่นยังเกิดขึ้นกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อื่นราวกับส่งไม้ให้ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นสุราษฏร์ธานี ชุมพร และสมุทรสาคร ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญหน้ากับชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น ยังต้องเจอกับการคัดค้านจากผู้มีอาชีพด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี
    ชาวเกาะสมุยยื่นจดหมายคัดค้านโครงการขุดเจาะน้ำมันทั้ง 5 แปลงใกล้พื้นที่เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน และหมู่เกาะอ่างทอง ผ่านเวทีประชาพิจารณ์เวทีแล้วเวทีเล่า ตั้งแต่ปี 2551 แต่ก็ไร้ผล
    นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวถึงการคัดค้านของชาวเกาะสมุยว่า “ครม.ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทขุดสำรวจน้ำมันไปแล้ว ทางกระทรวงพลังงานไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากบริษัทผู้รับสัมปทานไม่ได้ทำผิดตามเงื่อนไขสัมปทาน จึงไม่สามารถยกเลิกสัมปทานหรือทบทวนการขุดเจาะได้ หากยกเลิกสัมปทาน กระทรวงฯ อาจโดนฟ้องร้องได้” 
    เมื่อไม่อาจพึ่งพาผู้อื่นได้ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิตและยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลาง (คดีดำหมายเลขที่ 1785/2553) เพื่อให้มีการระงับยับยั้งโครงการดังกล่าว 
    โดยเหตุผลในการคัดค้านก็คือ อาณาบริเวณโดยรอบของเกาะต่างๆ ล้วนเป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสวยงามอุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาททุกปี ซึ่งเป็นรายได้ที่มีการกระจายไปยังชุมชน และห่วงโซอุตสาหกรรม รวมทั้งอาชีพต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิด และอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญหลายชนิดในอ่าวไทย เช่น ปลาทู 
    แต่การดำเนินการจากหน่วยงานรัฐกระทำไม่โปร่งใส กระบวนการศึกษาผลกระทบเป็นไปอย่างรวบรัด ไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ และขาดการพิจารณาจากองค์กรอิสระ 
    อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษาใดออกมา 28 กุมภาพันธ์ 2556 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ของแท่นขุดเจาะน้ำมันบริเวณเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง ก็ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมอีก 3 แปลง 
    “เราตกใจกันมากที่รู้ว่าอีไอเอของบ่อน้ำมัน 3 ใน 4 บ่อที่กำลังจะเกิดขึ้นใกล้บ้านเราผ่านไปแล้ว รู้สึกว่า ทำไมทำกับชาวบ้านได้ขนาดนี้” นั่นคือความรู้สึกของนายอานนท์ วาทยานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ซึ่งดูจะไม่แตกต่างจากชาวบ้านคนอื่นๆ ที่รับรู้ข่าวนี้ 
    ขณะที่ จ.ชุมพร ก็มีแท่นขุดเจาะสำรวจน้ำมันของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด โดยอยู่ห่างจากชายฝั่งปากน้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพียง 18 ก.ม.เท่านั้น 
    การประท้วงคัดค้านแท่นขุดน้ำมันของชาวชุมพรเกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ระหว่างการชุมนุมเมื่อ 25 มีนาคม 2557 บริษัท ปตท. สผ.ก็มีหนังสือชี้แจงว่า “ผลการสำรวจไม่พบน้ำมันและปิโตรเลียมใดๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการสละหลุมและเก็บอุปกรณ์ โดยแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่างๆ จะเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ประมาณต้นเดือนเมษายน”
    แต่ชาวประมงจากบ้านบางมะพร้าวและบ้านบางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ก็รอให้วันนั้นมาถึงไม่ไหว อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ 9 เมษายน จึงรวมตัวกันแล่นเรือประมงไปล้อมรอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน ทำให้นายวิรัตน์ ปิยะพันธ์ วิศวกรการเรือ ฝ่ายส่งกำลังบำรุงและสนับสนุนปฏิบัติการ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) จึงมารับหนังสือข้อเรียกร้องและยืนยันว่า จะปิดหลุมและเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะแท่นขุดเจาะออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 13 เมษายน 2557 อย่างแน่นอน ซึ่งการขนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันก็เกิดขึ้นท่ามกลางชาวประมงพื้นที่บ้านที่เป็นพยาน
    แท่นขุดเจาะน้ำมันยังสร้างความไม่สงบสุขมาถึง จ.สมุทรสาคร ทำให้ชาวประมงสมุทรสาครมารวมตัวกันบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการขุดเจาะสำรวจน้ำมันของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด หรือบริษัท เอ็ม พี จี (ประเทศไทย) จำกัด ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีเรือประมงกว่า 100 ลำมาจอดเทียบท่าบริเวณริมเขื่อนหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร
โดยให้เหตุผลในการคัดค้านว่าการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเล และการทำมาหากินด้านอาชีพประมง จึงขอให้บริษัทฯ ที่ได้รับสัมปทานในเขตพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ทำการขุดเจาะปิโตรเลียมหลุมสำรวจให้ห่างออกไปจากพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก โดยขอให้เว้นพื้นที่ทำมาหากินในบริเวณดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ ชาวประมง จ.สมุทรสาคร ยืนยันจะคัดค้านให้ถึงที่สุด 
    นับจากนี้ไปการให้สัมปทานแท่นขุดเจาะน้ำมัน จึงไม่ง่ายเหมือนอดีตที่ผ่านมาอีกแน่นอน

Tag : น้ำมัน,แท่นขุดเจาะน้ำมัน,สัมปทานขุดเจาะน้ำมัน,แท่นขุดน้ำมัน,อ่าวไทย,พลังงาน,เกาะสมุย,สงขลา,นครศรีธรรมราช,สุราษฏร์ธานี,ชุมพร,สมุทรสาคร
เอกสาร : “เรือประมงพื้นบ้านผนึกกำลัง “กรีนพีซ” ประท้วงแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย”, ผู้จัดการออนไลน์, 16 มิถุนายน 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/south/viewnews.aspx?NewsID=9560000072660
: “ถกชดเชยล่มประมงสงขลาขู่ปิดทะเล "นิวคอสตอล" ดันตั้งแท่นเจาะน้ำมันมิถุนา"51”,ประชาไท, 20 พฤษภาคม 2551. เข้าถึงได้จาก http://www.prachatai.com/journal/2008/05/16757
    : “ชาวประมงพื้นบ้านยอมเปิดร่องน้ำทะเลสาบสงขลาแล้ว”, เนชั่นทันข่าว, 30 กันยายน 2551. เข้าถึงได้จาก http://www.coastalaqua.com/webboard/index.php?topic=1799.0
    : “ท่าฉาง-สมุย หวั่น ผลกระทบขุดน้ำมัน”, ข่าวสดรายวัน, 20 กรกฎาคม 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd1pXOHdNVEl3TURjMU5nPT0=§ionid=TURNek9BPT0=&day=TWpBeE15MHdOeTB5TUE9PQ==
    : “ชาวสมุยเคลื่อนตัวต้านขุดเจาะน้ำมันพื้นที่อ่าวไทยแล้ว”, ผู้จัดการออนไลน์, 20 มีนาคม 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9560000034272&TabID=3&
    : “บ่อน้ำมันกลางอ่าวไทยกับปัญหาการมีส่วนร่วม”, มติชนกรอบบ่าย, 19 มิถุนายน 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.en.mahidol.ac.th/thai/news/envi_news_fullv2.php?id=1798
    : “หยุดขายอ่าวไทยให้ต่างชาติ”, โอเคเนชั่น, ตุลาคม 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=891221
    : “เชฟรอนไม่ถอดใจโครงการท่าเรือฯ”, ฝ่ายบริการวิชาการ www.siamsafety.com, 31 มกราคม 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.siamsafety.com/index.php?page=moral/moral_chevronport&ps_session=500dcd283a8d19d558a9db92f18b7c38
    : “วรรณรัตน์ ยันบริษัทที่ได้สัมปทานขุดน้ำมันเกาะสมุยยังไม่ทำผิดเงื่อนไข ถ้ายกเลิกอาจโดนฟ้องกลับ”, กองประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร, 9 กรกฏาคม 2553. เข้าถึงได้จาก http://prbangkok.com/ข่าวที่น่าสนใจ/64-ทั่วไป/8579-วรรณรัตน์-ยันบริษัทที่ได้สัมปทานขุดน้ำมันเกาะสมุยยังไม่ทำผิดเงื่อนไข-ถ้ายกเลิก
    : “ปตท.สผ.ย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันออกจากปากน้ำชุมพรแล้ว หลังชาวประมงรวมตัวประท้วง”, ผู้จัดการออนไลน์, 12 เมษายน 2557. เข้าถึงได้จาก http://www2.astvmanager.com/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000041279&Html=1&CommentReferID=25166825&CommentReferNo=5&TabID=1&
    : “คราบน้ำมันดิบ “ฝันร้าย” ของคนรักษ์อ่าวปากน้ำหลังสวน”, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). เข้าถึงได้จาก http://www.codi.or.th/index.php/news/documentary-communities-news/42-2009-09-22-05-47-57/3561-2014-04-17-08-05-44
    : “ปตท.สผ.ย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันออกจากปากน้ำชุมพรแล้ว หลังชาวประมงรวมตัวประท้วง”, ผู้จัดการออนไลน์, 12 เมษายน 2557. เข้าถึงได้จาก http://www2.astvmanager.com/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000041279&Html=1&CommentReferID=25166825&CommentReferNo=5&TabID=1& 
    : “ยันขุดเจาะน้ำมันอ่าวไทย 5,000 หลุมไร้ปัญหา หวั่นคัดค้านโครงการ กระทบลงทุนในอนาคต”, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 30 สิงหา 2553. เข้าถึงได้จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1283174302