แรงต้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2

แรงต้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2

   
จู่ๆ โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ก็ถูกแจ้งเกิดขึ้นที่บ้านหนองแหน ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อชดเชยการเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลของบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด จำนวน 4,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังถูกต่อต้านจากชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่อย่างเข้มแข็ง 
    
ทันทีที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับข้อแลกเปลี่ยนดังกล่าวเมื่อสิงหาคม 2547 โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,468 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงรอง ก็ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่เคยรับรู้หรือได้รับการปรึกษาหารือมาก่อน เริ่มต้นนับหนึ่งคัดค้านโครงการดังกล่าวทันที
    
3 เหตุผลหลักที่ชาวบ้านหยิบยกขึ้นมาประกอบการคัดค้านโครงการคือ 

    1.ปัญหามลพิษทั้งในแหล่งน้ำ อากาศ และขยะอันตรายที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ท่วมท้นอยู่แล้ว หากโรงไฟฟ้ามาก่อสร้างอยู่ห่างจากชุมชนเพียงแค่ 2 กิโลเมตร ก็ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลให้ชาวบ้านมากยิ่งขึ้น

    2.ปัญหาการใช้น้ำและน้ำเสียของโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำป่าสักมากถึงวันละ 54,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันน้ำจากแม่น้ำป่าสักไม่เพียงพอให้ชาวบ้านใช้ในยามหน้าแล้ง อีกทั้งคุณภาพน้ำของแม่น้ำป่าสักก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากการคมนาคม

   3.ความห่วงใยในปัญหาสังคมและชุมชน เป็นผลมาจากการทำงานมวลชนของโรงไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข กลับทะเลาะเบาะแว้งกัน

และที่สำคัญก็คือ การข่มขู่คุกคามกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ที่ยกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นเปิดศักราชใหม่ของสังคมไทยในการใช้ข้อกฎหมายตามมาตรา 101 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 
โดยอ้างว่าชาวบ้านตามภาพถ่าย “ได้ร่วมกันแพร่หรือไขข่าวโดยการโฆษณาที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยมีเจตนาทำลายชื่อเสียงของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2” ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งและจับกุมผู้ถูกกล่าวหา 2 คนอย่างรวดเร็วในอีก 2 วันต่อมา
    
กรณีดังกล่าว กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนว่าการนำข้อกฎหมายดังกล่าวมาใช้นั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นและอาจเกิดผลกระทบต่อท้องถิ่นของตน ถือเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

ขณะที่โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ยังคงเดินหน้างานมวลชนอย่างเต็มรูปแบบพร้อมๆ กับลงมือก่อสร้างโครงการ ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านก็ไม่ลดละและเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ตอกย้ำว่าโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2ยังคงเผชิญแรงต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

27 มีนาคม 2550 ชาวบ้านผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ตัดสินใจพึ่งศาลปกครอง โดยยื่นฟ้องกรมชลประทานกับพวกที่เห็นชอบและอนุมัติให้บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยให้ฝังท่อและสูบน้ำจากทางน้ำชลประทานแม่น้ำป่าสัก ต.ป่าสัก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเหตุให้น้ำในแม่น้ำมีปริมาณไม่เพียงพอในการอุปโภค-บริโภค และทำให้น้ำมีสภาวะปนเปื้อนมลพิษ ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชนในพื้นได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน 

โดยขอให้เพิกถอนการอนุญาตให้บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ฝังท่อและสูบน้ำจากทางน้ำชลประทานแม่น้ำป่าสัก และเพิกถอนมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของบริษัทกัลฟ์ฯ และให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ใหม่ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัทกัลฟ์ฯ

หลังเฝ้ารอคอยมานาน 6 ปี วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษายกฟ้องตามมา

กรณี: แรงต้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จ.สระบุรี

สถานที่: บ้านหนองแหน ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

ความเสียหาย: ความแตกแยกของชาวบ้านในชุมชนที่แบ่งออกเป็นฝ่ายสนับสนุน-คัดค้านโรงไฟฟ้า 
                        
เจ้าของที่ดินหลายรายถูกบังคับรอนสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง เพื่อให้วางท่อส่งก๊าซขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว เพื่อส่งก๊าซป้อนให้โรงไฟฟ้า

เหตุการณ์: รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ให้บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ขนาด 1,468 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปีในพื้นที่บ้านหนองแหน ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท ที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ในพื้นที่ ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังเผชิญแรงต่อต้านอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่
    
การตัดสินใจของรัฐบาลโดยไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่รับรู้มาก่อน จึงกลายเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่บ่อนอก 
    
แม้จะเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินมาเป็นก๊าซธรรมชาติร่วมกับน้ำมันดีเซล เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกมาคัดค้านโครงการอย่างเปิดเผยกลับมองว่า นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ต้องยอมรับโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 
    
เพราะถึงจะเปลี่ยนเชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ยังต้องแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งในยามหน้าแล้งก็แห้งจนไม่เกษตรกรถูกห้ามไม่ให้ทำนาปรังอยู่ทุกปีอยู่แล้ว คุณภาพน้ำก็อยู่ระดับ 5 ซึ่งหมายความว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากการคมนาคม หนำซ้ำโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่กว่า 116 โรง ก็ปล่อยมลพิษทางอากาศจนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน
    
ที่สำคัญก็คือ ความห่วงใยในปัญหาสังคมและชุมชนที่จะตามมาจากการเร่งทำงานมวลชนของโรงไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกกันอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยงานระดับท้องถิ่น ซึ่งกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ของโรงไฟฟ้ามีทั้งการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน การอ้างว่าโครงการนี้เกิดขึ้นจะทำให้มีการจ้างงาน 2,000-3,000 คน พาชาวบ้านไปดูงาน การนำเงินและสิ่งของมาร่วมงานบุญของชาวบ้าน การให้ทุนการศึกษาและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งว่าไปแล้วกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการคล้อยตามและหันมาสนับสนุนโครงการของชาวบ้าน
    
แต่กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการก็ไม่ลดละ เดินหน้าคัดค้านทุกรูปแบบต่อไป ไม่ว่าจะเดินขบวนในพื้นที่ ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอคำชี้แจงและความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 
    
หลังเริ่มต้นคัดค้านไม่นานนัก วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 เหตุการณ์ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 เมื่อฐิติกฤษณ์ เรืองประดับ เข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่า พีระศักดิ์ สุขสำราญ สุนันท์ พรหมยารัตน์ สมคิด ดวงแก้ว ประสิทธิ์ ดวงแก้ว และหญิงไทยไม่ทราบชื่อที่ปรากฏตามภาพถ่าย
    
“ได้ร่วมกับพวกแพร่หรือไขข่าวโดยการโฆษณาที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยมีเจตนาทำลายชื่อเสียงของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2” ความผิดดังกล่าวเป็นการอ้างตามมาตรา 101 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
    
แม้การอ้างข้อกฎหมายดังกล่าวจะเป็นกรณีแรกของสังคมไทย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข่งขัน หลังจากรับแจ้งได้ 2 วันก็จับกุมผู้ถูกกล่าวหา 2 คนได้ทันที
    
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ว่าการนำข้อกฎหมายนั้นมาใช้ถูกต้องและเหมาะสมเพียงใด เนื่องจากโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หากประชาชนถูกจับเพราะวิพากษ์วิจารณ์โครงการที่จะเกิดขึ้นและอาจก่อผลกระทบต่อท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 39 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์โฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”    
    
แม้จะโดนข่มขู่และคุกคามอย่างรุนแรง กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ลดละ ตามมาด้วยเสียงร้องขอความเป็นธรรมที่ดังขึ้นจากกลุ่มชาวบ้านเจ้าของที่ดินที่ถูกรอนสิทธิเพื่อเปิดทางให้แนวท่อก๊าซพาดผ่าน
    
จนถึงห้วงเวลาเดียวกับการเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 เฟสแรกในเดือนมีนาคม 2550 กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านรวม 26 คน นำโดยสมคิด ดวงแก้ว ก็ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า กรมชลประทานกับพวก รวม 3 คน เห็นชอบและอนุมัติให้บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยให้ฝังท่อและสูบน้ำจากทางน้ำชลประทานแม่น้ำป่าสัก ต.ป่าสัก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเหตุให้น้ำในแม่น้ำมีปริมาณไม่เพียงพอในการอุปโภค-บริโภค และทำให้น้ำมีสภาวะปนเปื้อนมลพิษ ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชนในพื้นได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน

และขอให้เพิกถอนการอนุญาตให้บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ฝังท่อและสูบน้ำจากทางน้ำชลประทานแม่น้ำป่าสัก และเพิกถอนมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของบริษัทกัลฟ์ฯ และให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ใหม่ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัทกัลฟ์ฯ

หลังจากยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปนาน 6 ปี วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาว่า

1.การอนุญาตให้บริษัทกัลฟ์ฯ ฝังท่อและสูบน้ำจากทางน้ำชลประทานดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่บางช่วงเวลา นอกจากนี้ กรมชลประทานและผู้เกี่ยวข้องยังยืนยันว่าปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอต่อการจัดสรรให้กับกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ อย่างพอเพียงไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
          
2.การเห็นชอบรายงานอีไอเอของบริษัทกัลฟ์ฯ เป็นการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับอันตรายจากสารเคมีหรือมลภาวะ มีการเรื่องส่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว จึงยุติการพิจารณาเพราะหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว
          
3.ในเรื่องรายงานอีไอเอของบริษัทกัลฟ์ฯ ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่บริษัทกัลฟ์ฯ โดยอาศัยรายงานอีไอเอฉบับดังกล่าวเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตจึงชอบด้วยกฎหมายด้วย ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีสงสัยว่าโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชน ถือว่าอยู่ในทำเลไม่เหมาะสม ปรากฏว่าโรงงานตั้งอยู่ห่างเขตติดต่อสาธารณสถาน มีบ้านพักอาศัยใกล้เคียงเพียง 3 หลัง อยู่ห่างจากหมู่บ้านจัดสรร ประมาณ 600 เมตร จึงถือว่าทำเลที่ตั้งเหมาะสม จึงพิพากษายกฟ้อง
    
สำหรับโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 แห่งบ้านหนองแหน ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ด้านหนึ่งถูกเจ้าของโครงการชูธงว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้น้ำน้อย ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงน้อย ปล่อยความร้อนในระดับต่ำ เพราะใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกบันทึกไว้โดยกฤษดา บุญชัย อนุกรรมาธิการฐานทรัพยากร กรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่า เป็นโครงการที่มีลักษณะปัญหาเหมือนโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมา คือขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำอีไอเอ และขาดการมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน

(ข้อมูล ณ พ.ศ. 2557)

เอกสาร : “โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จ่ายไฟยูนิต 2 เข้าสู่ระบบ 734 MW”. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000026465
      : “โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2”. เข้าถึงได้จาก http://www.ftawatch.org/node/8322

      : “ยกฟ้อง ‘คดีเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2’ หลังรอผล 6 ปี-โรงไฟฟ้าเดินเครื่องแล้ว”. เข้าถึงได้จาก http://www.prachatai.com/journal/2013/02/45515

      : “กลุ่มอนุรักษ์แก่งคอย แจง สว. เหตุผลค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2”. เข้าถึงได้จาก http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n_05012005_01

      : โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จ.สระบุรี, พลังงาน, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2548, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 312-314