หมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบน
หมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบน
(1)
หมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบน
ปัญหา หมอกควันปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเกิดขึ้นมานานนับสิบปี โดยสถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่เคยแตะระดับเลวร้ายสุดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กมีปริมาณสูงกว่าระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยไปมากกว่า 3 เท่า ถึงขนาดที่กรมควบคุมมลพิษต้องออกประกาศเตือนให้หลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคารเป็นเวลานาน
ต้น เหตุหลักของปัญหาหมอกควันก็คือ ไฟป่า การเผาตอซังและวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ การเผาขยะชุมชนในที่โล่ง และมลพิษจากยวดยานพาหนะ โดยในปี พ.ศ. 2550 เกิดไฟป่ารุนแรงกว่าปกติ ปัญหาจึงวิกฤตกว่าทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบวงกว้างต่อสุขภาพของประชาชนมากเกือบ 6 หมื่น คน กระเทือนถึงธุรกิจการท่องเที่ยว กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้หน่วยงานระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ลุกขึ้นมาวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
กระนั้น สารพันมาตรการที่เข็นออกมาเพิ่มเติมจากข้อกฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็ยังไม่ สามารถเยียวยาสถานการณ์ให้พ้นขีดอันตรายได้ โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่งประสบกับวิกฤตหมอกควันครั้งรุนแรงที่สุด หลังตรวจพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐานมากกว่า 4 เท่า
(2)
กรณี : หมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบน
สถานที่ : พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา
ความเสียหาย : (คิดเฉพาะผลกระทบจากวิกฤตหมอกควันในปี 2550 ) ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลโรคหืดหอบของผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงปี 2549-2550 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยของคนเชียงใหม่ทั่วไป (ประมาณ 5,000 บาทต่อคนต่อปี) ถึง 3 เท่า
สำหรับด้านธุรกิจท่องเที่ยว มีรายงานว่า วิกฤตหมอกควันในปี 2550 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างน้อย 57,000 ราย สูญเสียรายได้อย่างน้อย 477 ล้านบาท
ช่วงเวลา : ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี
เหตุการณ์ :
กรณี หมอกควันปกคลุมภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นปัญหามลพิษเรื้อรังที่มักปะทุ ขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายฤดูหนาวต่อเข้าฤดูร้อน โดยมีแหล่งกำเนิดมลพิษหลักจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ทั้งการเผาไร่นาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและการเผาขยะชุมชน อีกเพียงเล็กน้อยเป็นมลพิษจากยวดยานการจราจรหนาแน่นในเขตเมือง
เมื่อ ผนวกรวมเข้ากับสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยภูเขาสูง และสภาพอากาศในช่วงปลายฤดูหนาวต่อเข้าฤดูร้อน ซึ่งมักได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีน เมื่อมวลอากาศเย็นแผ่เข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยิ่งทำให้อากาศแห้งและนิ่งกว่าช่วงเวลาอื่นในรอบปี มลพิษต่างๆ จากการเผาไหม้ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน หรือที่เรียกกันว่า พีเอ็ม 10 (PM10) จึง ไม่ถูกพัดพาแพร่กระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศระดับสูง แต่กลับแขวนลอยอยู่ในอากาศนานขึ้น เกิดเป็นสภาพฟ้าหลัวมีหมอกควันปกคลุมวิสัยทัศน์ของการสัญจรทางบกและทางอากาศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง
เดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 จังหวัด เชียงใหม่เผชิญกับสถานการณ์ปัญหาหมอกควันครั้งเลวร้ายที่สุด ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดในเขตอำเภอเมือง พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงถึง 383 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่กำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรไปมากกว่า 3 เท่า ถึงขนาดที่กรมควบคุมมลพิษต้องออกประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคารเป็นเวลานาน
สิ่งที่ตามมาก็คือประชาชนใน 8 จังหวัดของภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา ได้รับผลกระทบทางสุขภาพเกือบ 6 หมื่นคน จำนวนผู้ที่เข้ารับการในโรงพยาบาลด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และตาอักเสบ รวมเฉลี่ยประมาณ 1,500 รายต่อวัน หากนับเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม พ.ศ. 2550 ตัวเลขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รายงานว่า เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2549
ซ้ำร้ายยังกระทบถึงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากทัศนวิสัยที่ย่ำแย่สามารถมองเห็นได้ในระยะต่ำกว่า 2,000 เมตร ทำให้เครื่องบินไม่สามารถร่อนลงจอดที่สนามบินจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ กระทั่งต้องยกเลิกเที่ยวบิน ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง แม้ไม่มีการยกเลิกเที่ยวบิน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลงค่อนข้างมาก อัตราการยกเลิกห้องพักเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนๆ
แม้ ประเทศไทยจะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ อยู่บ้างแล้ว เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดย เฉพาะอย่างยิ่งแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง ซึ่งจัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 กรกฏาคม 2546 ซึ่งถูกนำมาใช้กับกรณีหมอกควันในภาคเหนือมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ
แต่ วิกฤตครั้งรุนแรงนี้ก็กระตุ้นให้รัฐต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังกว่า เคย ด้วยการคลอดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปี 2551-2554 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 ตุลาคม 2550 เพื่อ บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก และวางยุทธศาสตร์สำคัญไว้ 3 ประการคือ
1.ควบคุมการเผาในพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรม
2.ควบคุมไฟป่า
3.รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้ การมีส่วนร่วม การเฝ้าระวัง และการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2550-2551 องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งก็ตื่นตัวในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อห้ามและควบคุมการเผาในที่โล่ง โดยกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการปรับจำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท แต่ในทางปฏิบัติ มาตรการลงโทษปรับถูกนำไปบังคับใช้น้อยมาก
ทว่าสถานการณ์ปัญหาในภาพรวมยังไม่กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนเท่าใดนัก ล่าสุดเมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา สถานีตรวจวัดอากาศรายงานว่า ตรวจพบปริมาณฝุ่นในเขตตัวเมือง จ.แม่ฮ่องสอน สูงถึง 518 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. ซึ่งสูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 4 เท่า และอยู่ในระดับอันตราย
Tag : หมอกควัน, ภาคเหนือตอนบน, ไฟป่า, การเผาวัชพืช, การเผาขยะชุมชน
เอกสาร : ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ กม.ยังเอื้อมไม่ถึง "มือเผา". หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 มีนาคม 2553
แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปี 2551-2554 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. http://infofile.pcd.go.th/air/SmogandFire51_54.pdf?CFID=4229283&CFTOKEN=65763869
สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือตอนบน. ใน รายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนมีนาคม 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ. ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ. http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/North/ArticleAndResearch/DocLib_Article/255003@HazePollution.pdf
หมอกควันที่เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน สูงเกินมาตรฐานกว่า 4 เท่า. มติชนออนไลน์ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554
หมอกควันและมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่. ดร.มงคล รายะนาคร. มีนาคม 2553. เชียงใหม่.