สมุทรปราการ - มลพิษยุคบุกเบิก
สมุทรปราการ - มลพิษยุคบุกเบิก
การพลิกโฉมหน้าเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ จากชุมชนเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทยให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน นำพาให้จังหวัดสมุทรปราการ เปิดประตูต้อนรับมลพิษจากอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดสมุทรปราการยังได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2520 นั่นคือนิคมอุตสาหกรรมบางปู และอีก 12 ปีต่อมาก็มีนิคมอุตสาหกรรมบางพลีเพิ่มขึ้น ทำให้ในปี 2555 ทั้งจังหวัดสมุทรปราการเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมราว 6,576 แห่ง แบ่งเป็น 21 ประเภท
แน่นอนที่สุดว่า การเป็นทำเลที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากมาย มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้นตามไปด้วย ก็ทำให้พื้นที่แห่งนี้ต้องเผชิญกับมลพิษรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ เสียงดัง ฝุ่นเยอะ และขยะล้นทะลัก รวมทั้งลักลอบทิ้งขยะพิษ ที่ยิ่งนานวันก็เริ่มสร้างปัญหาคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
เสียงย้ำเตือนถึงวิกฤตมลพิษทุกด้านในพื้นที่สมุทรปราการดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านเวลามาเนิ่นนาน อีกทั้งยังมีสารพัดมาตรการทั้งป้องกัน ควบคุม และเฝ้าระวังมลพิษ แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครแห่งนี้ยังคงเสี่ยงกับปัญหาด้านสุขภาพ
การแถลงข่าวสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2555 ของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดอันดับให้สมุทรปราการติดอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม...ติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย (2,120,000 ตัน) และติด 1 ใน 14 จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่กรมควบคุมมลพิษให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกัน ข่าวการลักลอบปล่อยน้ำเสียของนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ก็ติดอันดับ 2 ของ 10 ข่าวเด่นสิ่งแวดล้อมประจำปี 2555
ราว 3 แสนล้านบาทต่อปี คือตัวเลขผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการที่ทุกฝ่ายต้องนำมาชั่งน้ำหนักว่า “คุ้มค่า” กับสิ่งที่ต้องเสียไปหรือไม่
กรณี: สมุทรปราการ - มลพิษยุคบุกเบิก
สถานที่: พื้นที่ 1,004 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมทั้ง 6 อำเภอของ จ.สมุทรปราการ
ความเสียหาย: มลพิษทางน้ำคือปัญหาใหญ่ของจังหวัดสมุทรปราการ มีสาเหตุสำคัญ คือทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองปล่อยน้ำทิ้งสู่แหล่งธรรมชาติ รวมทั้งสารเคมีเป็นพิษต่างๆ ทำให้แหล่งน้ำเสีย แม้จะประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2537 แต่คุณภาพน้ำของจังหวัดสมุทรปราการก็ยังไม่สามารถนำไปใช้ในการอุปโภค บริโภคได้
ช่วงเวลา: ปี 2536 - ปัจจุบัน
เหตุการณ์: ชาวบ้านสมุทรปราการเผชิญหน้ากับมลพิษทุกด้านมาเป็นระยะเวลาหลายปี จนกระทั่งเริ่มคุกคามต่อชีวิตและสุขภาพอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงขั้นคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 10 สิงหาคม 2536 เร่งรัดให้มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการโดยเร็ว โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม 2537
แม้พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการจะถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อนำไปสู่การควบคุม และขจัดมลพิษ
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ 4 ปีถัดมา ดร.ทองโรจน์ อ่อนจันทร์ ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ออกมาระบุว่า การพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการจากพื้นที่เกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำต่ำกว่ามาตรฐาน น้ำทิ้งส่วนใหญ่มาจากแหล่งอุตสาหกรรมเกิดมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรม ขยะล้นทะลัก เพราะไม่มีระบบกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และสารอันตรายจากขยะก็ยังแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำและดิน หนำซ้ำยังเกิดปัญหาจรจรติดขัดและฝุ่นละอองสูงเกินค่ามาตรฐานทุกบริเวณ
วิกฤตสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นอย่างไร เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ซ้ำซากที่เกิดขึ้น อาทิ
กันยายน 2541 ถังเก็บสารเคมีของโรงงานศรีเทพไทยพลาสเครม จำกัด ต.บางหัวเสือ อ.พระประแดง รั่วและเกิดควันแพร่กระจายไปถึง 12 ตารางกิโลเมตร นาน 1 ชั่วโมง ทำให้เด็กนักเรียนและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบต้องเข้ารักษาตัว 21 ราย โรงเรียน 2 แห่งถูกสั่งปิดชั่วคราว
พฤศจิกายน 2542 โรงงานในนิคมฯ บางปูปล่อยน้ำเสียลงทะเลทำให้น้ำทะเลมีคุณภาพต่ำ
และตลอดทั้งปี 2543 จังหวัดสมุทรปราการก็เผชิญกับปัญหามลพิษอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วง เริ่มจากเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลชายฝั่งเปลี่ยนสีในเดือนมกราคม...เดือนกรกฎาคมเกิดเหตุสารเคมีในกลุ่มอะไครโลโนไตรส์ อะไดรลิกเอซิด เมทิลอะไดรเลท และเอทิลอะไดรเลท รั่วไหลจากโรงงานผลิตสารเคมีสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนังของบริษัทอีเกิล เคมีคอล อินดัสตรี้ จำกัด ทำให้นักเรียน รร.วัดแพรกษาจำนวน 127 คนล้มป่วย ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากเครื่องดักจับไอของสารอะซิเตดเสีย แต่โรงงานไม่ยอมหยุดการผลิต
และเดือนสิงหาคมปีเดียวกันก็เกิดเหตุถึง 3 ครั้ง เริ่มจากคนงานบริษัทอินซูแพ็ค ประมาณ 50 คนล้มป่วยเนื่องจากสูดดมสารเมแคปแตนท์ที่รั่วไหลจากถังบรรจุสารเคมีของบริษัททวีค้า ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบพบว่าสารเคมีที่รั่วไหลเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมก๊าซและอุตสาหกรรมยาฆ่าแมลง โดยปริมาณสารตกค้างที่ตรวจพบมีอันตรายในระดับที่สามารถทำลายระบบสมองได้
ตามมาด้วยเหตุการณ์ครูและนักเรียน รร.ชมนิมิตร ร้องเรียนต่อทางจังหวัดว่าเดือดร้อนซ้ำซากจากกลิ่นเหม็นและเขม่าดำจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่โดยรอบ 3 แห่ง แต่เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบและรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานทั้ง 3 แห่งได้มาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้นผู้อำนวยการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรปราการทำหนังสือชี้แจงผู้บังคับบัญชาว่า ไม่มีครูและนักเรียนคนใดป่วยเพราะได้รับกลิ่นควันจากโรงงาน โดยกลิ่นที่เกิดขึ้นอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้ ถือเป็นเรื่องปกติของโรงเรียนที่อยู่ในเมืองอุตสาหกรรม
ไม่กี่วันถัดมาก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเครื่องประดับของบริษัทแมลิกอท จิวเวลรี่ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมฯ บางปู ทำให้สารเคมีหลายชนิดแพร่กระจาย ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายชนิดเฉียบพลันต่อระบบทางเดินหายใจและสมอง แต่การตรวจสอบของวิศวกรนิคมฯ บางปู พบว่าโรงงานสามารถเปิดดำเนินการต่อได้
และกันยายนก็เกิดกลิ่นเหม็นจากโรงงานเอส.บี.พี.การเกษตรและโรงฟอกหนัง รบกวนสถานพักฟื้นผู้ป่วยสูงอายุ
ความซ้ำซากของปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดสมุทรปราการจัดทำแผนที่ระบุจุดอันตรายของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยมีสถานประกอบการที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 5,000 โรงงาน ในจำนวนนี้มีโรงงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้านเคมี จำแนกเป็นโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตราย 256 แห่ง สถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง 20 แห่ง สถานที่เก็บบรรจุแก๊ส 12 แห่ง โรงงานที่มีสารกัมมันตภาพรังสี 17 แห่ง โดยทั้งหมดตั้งกระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัดสมุทรปราการ
แต่ดูเหมือนว่า มาตรการต่างๆ ที่ถูกประกาศใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตมลพิษในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการจะทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะยังคงเกิดเหตุการณ์โรงงานปล่อยมลพิษจนเกิดผลกระทบกับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง
โดยมูลนิธิกรีนพีซฯ ได้สำรวจภาคสนามในเดือนมิถุนายน 2544 และพฤษภาคม 2546 พบดินตะกอนและน้ำในคลองหัวลำภู บริเวณวัดสิบสองธันวาที่รองรับน้ำเสียจากนิคมฯ บางปูและโรงงานในละแวกนั้น ปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนักที่เป็นพิษ สอดคล้องกับรายงานผลการตรวจดินบริเวณกลุ่มโรงงานฟอกหนังของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าพบโครเมียมปนเปื้อนในปริมาณที่สูงมาก สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการของเสียที่ไร้ประสิทธิภาพที่ใช้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้
และอีก 11 ปีต่อมา มลพิษอุตสาหกรรมจากนิคมฯ บางปู ยังคงตกเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลักลอบปล่อยน้ำที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่ลำคลองสาธารณะ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อาศัยอยู่ใกล้เคียง ซึ่งผลการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐก็ทำได้เพียงการยืนยันว่าพบสารก่อมะเร็งค่อนข้างสูงในลำคลองสาธารณะเหล่านั้น แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า โรงงานใดเป็นผู้ปล่อยน้ำเสีย
จังหวัดสมุทรปราการยังคงตกอยู่ในวังวนของมลพิษอุตสาหกรรมอย่างไม่รู้อนาคตว่าจะจบลงเมื่อใด เพราะตราบใดที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดสมุทรปราการสูงที่สุด อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 มูลค่าผลผลิตด้านอุตสาหกรรม จำนวน 248,506 ล้านบาท และปี 2548 มูลค่าผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 270,278 ล้านบาท…
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมตามมานั่นคือ สาเหตุการตายที่สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการปี 2552 พบว่าสาเหตุการตาย 5 ลำดับแรก ได้แก่ (1) โรคมะเร็งทุกชนิด (2) โรคหัวใจ (3) โรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดในสมอง (4) โรคปอดอักเสบและโรคอื่นของปอด และ (5) โรคไตอักเสบ กลุ่มอาการของไตและไตพิการ ตามลำดับ
ไม่เพียงแต่ผลพวงของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมจะทำให้ชาวสมุทรปราการทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกิดปัญหาด้านสุขภาพจากมลภาวะเป็นพิษทุกด้าน แต่ยังส่งผลกระทบกับสภาพสังคมอย่างรุนแรงไม่แพ้กัน เพราะทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น เกิดปัญหามั่วสุม และยาเสพติดตามมา
ด้วยเหตุนี้ ข่าวคราวของจังหวัดสมุทรปราการ จึงยังคงครองแชมป์อันดับ 1 ของจังหวัดที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และยังติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย (2,120,000 ตัน) แถมยังติด 1 ใน 14 จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่กรมควบคุมมลพิษให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกัน ข่าวการลักลอบปล่อยน้ำเสียของนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ก็ติดอันดับ 2 ของ 10 ข่าวเด่นสิ่งแวดล้อมประจำปี 2555
และนี่คือ "รายจ่าย" ของชาวสมุทรปราการที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายโดยพร้อมเพรียงกันอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
เอกสาร: www.samutprakan.go.th
: แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดสมุทรปราการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ http://www.samutprakan.go.th/mm.htm
: http://www.greenpeace.org/seasia/th/Global/seasia/report/2008/2/bang-pu-industrial-estate-pollution.pdf
: http://www.pcd.go.th/Public/News/GetNewsThai.cfm?task=lt2009&id=16848
: http://www.pcd.go.th/download/regulation.cfm?task=s6
: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541
: กรณีมลพิษอุตสาหกรรมที่เกิดในรอบปี 2544-2545, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2544-2545, มูลนิธิโลกสีเขียว
: มลพิษอุตสาหกรรม, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2542-2543, มูลนิธิโลกสีเขียว
: มลพิษสิ่งแวดล้อมที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู สมุทรปราการ การสำรวจของกรีนพีซ, ตุลาคม 2546