พิษสารหนูที่ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
พิษสารหนูที่ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
ผลพวงของความมั่งคั่งจากสินแร่ใต้ดินอย่าง “ดีบุก” ทำให้เหมืองแร่ดีบุกเบ่งบานไปทั่วพื้นที่ของ ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
แต่แล้วเดือนกันยายน 2530 แร่ดีบุกที่นำความมั่งคั่งมาช้านาน ก็พ่นพิษร้ายเข้าใส่ชาวบ้านร่อนพิบูลย์อย่างตั้งตัวไม่ทัน เมื่อมีผู้ป่วยด้วยอาการประหลาดคือ ผิวหนังตามข้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณลำตัวเริ่มแข็งกระด้าง มีสีคล้ำดำ สลับจุดขาว หรือเรียกว่า “โรคไข้ดำ”
ทราบภายหลังว่าเป็นโรคที่เกิดจากพิษของสารหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งมีต้นตอจากกระบวนการทำเหมืองแร่ดีบุกนั่นเอง
ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ มีผู้ป่วยด้วยโรคพิษจากสารหนูจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 1,500 คน ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้เป็นโรคมะเร็งผิวหนังถึง 1,231 ราย
แม้ภาครัฐจะทุ่มงบประมาณและระดมหลายหน่วยงานให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา แต่จนถึงปี 2542 ยังพบว่าการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินระดับตื้น ยังสูงเกินค่ามาตรฐานน้ำสำหรับบริโภค
การเจ็บป่วยที่รุนแรงและบานปลายที่เกิดขึ้น ทำให้ปัญหาการปนเปื้อนของสารหนูจากเหมืองแร่ดีบุกในพื้นที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างที่ทำให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องจัดทำกรอบนโยบายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ โดยถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง
พิษโลหะหนักอย่างสารหนูจากเหมืองแร่ดีบุกที่ ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช จึงเป็นอีกหนึ่งตำนานของพิษภัยแห่งความมั่งคั่งเมื่อครั้งอดีตที่ส่งผลกระทบถึงปัจจุบันอย่างร้ายกาจ
กรณี: สารหนูปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
สถานที่: ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
ความเสียหาย: การปนเปื้อนและแพร่กระจายของสารหนูในแหล่งน้ำที่ชาวบ้านบริโภคมาหลายชั่วอายุคน ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,500 ราย ได้รับพิษสะสมกระทั่งเจ็บป่วยด้วยโรค “ไข้ดำ” อีกทั้งยังเป็นโรคมะเร็งผิวหนังตามมา
ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นของตนเองได้ เพราะมีสารหนูปนเปื้อน โดยภาครัฐขุดเจาะบ่อบาดาลและวางระบบประปาให้แทน
รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการอนุมัติให้คณะกรรมการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ เบิกจ่ายเงินกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดซื้อวัสดุปั้นโอ่ง 750,000 บาท ค่ายาบำบัดรักษาผู้ป่วย 419 ราย จำนวน 400,000 บาท สนับสนุนราษฎรยากไร้ 1,151 ราย จำนวน 1,151,000 บาท
กรมทรัพยากรธรณีได้นำกากแร่ที่ปนเปื้อนสารหนูประมาณ 3,700 ลูกบาศก์เมตร ไปฝังกลบ และฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่เดิม โดยใช้งบประมาณราว 600 ล้านบาท
ขณะที่ภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจากการปนเปื้อนของสารหนูในสิ่งแวดล้อม ประมาณปีละ 8.7 ล้านบาท
ช่วงเวลา: เดือนสิงหาคม 2530 - ไม่แน่ชัด
เหตุการณ์: เดือนสิงหาคม 2530 มีผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งจาก ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ด้วยอาการฝ่ามือ ฝ่าเท้า และผิวหนังบริเวณลำตัวมีสีดำผิดปกติ น.พ.สำราญ ตันนาภัย สงสัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง จึงตัดชิ้นเนื้อส่งไปตรวจที่สถาบันโรคผิวหนัง
ต่อมา น.พ.ธาดา เปี่ยมพงศ์สานต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งผิวหนังที่เกิดจาก “พิษสารหนูเรื้อรัง” และเมื่อวัดระดับสารหนูในเส้นผม เล็บ เนื้อเยื่อ และเลือด รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำดื่ม ก็พบว่ามีสารหนูสูงผิดปกติ
น.พ.สำราญ ตันนาภัย จึงตรวจครอบครัวผู้ป่วยทั้ง 8 คน ก็พบว่าได้รับพิษจากสารหนูเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นเป็นต้นมา กองระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ก็ระดมออกสอบสวนโรคอย่างเร่งด่วน และพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาการทางผิวหนัง โดยฝ่ามือมีสีดำผิดปกติ
ทั้งนี้ผลการตรวจตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530-กันยายน 2531 พบว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าได้รับพิษสารหนูอาศัยอยู่ที่ ต.ร่อนพิบูลย์ ส่วนผู้ป่วยที่เหลือก็พบว่าเคยมาทำงานหรืออาศัยอยู่ใน ต.ร่อนพิบูลย์มาก่อน โดยพบผู้ป่วยที่มีอาการทางผิวหนังอายุน้อยที่สุดคือ 1 ปี 6 เดือน
เมื่อชัดเจนว่าพิษสารหนูเล่นงานชาวบ้านร่อนพิบูลย์อย่างหนักหน่วง ผ่านช่องทางสำคัญคือแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะบ่อน้ำตื้น ซึ่งผลจากร่างกายได้รับสารหนูสะสมมานาน ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชาตามปลายมือปลายเท้า ไม่มีแรง เดินลากเท้าเนื่องจากปลายเท้าแตก กล้ามเนื้อลีบลง ซีดเพราะสารหนูไปสะสมอยู่บริเวณผิวหนัง ผม และเล็บ จนกระทั่งพบการเปลี่ยนแปลงของสีผิว ผม และเล็บ ผิวหนังทั่วทั้งตัวจะสีดำคล้ำมีจุดด่างขาวสลับ เห็นได้ชัดบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า จะมีตุ่มนูนแข็งผิวขรุขระคล้ายหูด ซึ่งตุ่มเข็งเหล่านี้จะกลายเป็นมะเร็งได้ โดยร้อยละ 75 ของมะเร็งผิวหนังจะพบบริเวณลำตัวมากกว่า 1 แห่ง และหากได้รับพิษสารหนูนานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปก็จะเกิดมะเร็งที่อวัยวะภายใน โดยเฉพาะมะเร็งหลอดลม ทางเดินปัสสาวะ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ซึ่งความเจ็บป่วยที่น่าตกใจของชาวบ้านร่อนพิบูลย์ที่ตรวจพบนี้ ถูกชี้ชัดว่า มีต้นตอมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่พบมากในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีแหล่งแร่
ว่าไปแล้ว การเจ็บป่วยที่ผิดปกติของชาวบ้านร่อนพิบูลย์เคยส่งสัญญาณที่ชัดเจนผ่านพาดหัวข่าวหน้า 1 ของ น.ส.พ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2526 ว่า “พบทายาทแสนปมแพ้สารพิษทั่วหมู่บ้าน สาเหตุน้ำเป็นพิษ เด็กผู้ใหญ่คันทั้งตัว” พร้อมกับเนื้อหาข่าวระบุว่าพบชาวบ้านหมู่ 1 และ 2 ของ ต.ร่อนพิบูลย์ ป่วยด้วยโรคคันมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงส่งวิศวกรเหมืองแร่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการคัน ร่างกายมีตุ่มแดงคล้ายๆ หิด ร่างกายอ่อนเพลีย โดยครอบครัวที่ป่วยบอกว่าใช้น้ำจากบ่อที่ขุดขึ้นบริเวณข้างบ้าน ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นคือพื้นที่ประทานบัตรเก่าของบริษัทเรือขุดแร่ร่อนพิบูลย์ และผลการกรวดน้ำก็พบว่ามีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน แต่การดำเนินการแก้ไขก็ไม่ต่อเนื่องและไม่มีความคืบหน้า
จนกระทั่งเกิดการเก็บป่วยด้วยพิษสารหนูที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในปี 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในห้วงเวลานั้น เดินทางลงพื้นที่ด้วยตัวเอง และแต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎรอันเนื่องจากพิษสารหนูที่ปะปนอยู่ในแหล่งน้ำ” เมื่อ 29 ธันวาคม 2530 เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณฉุกเฉินในการแก้ไขปัญหา อาทิ ตรวจวิเคราะห์สารหนูในแหล่งน้ำ ขุดบ่อบาดาล ฝึกอบรมปั้นโอ่งเพื่อกักเก็บน้ำฝนแทนการใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นที่ปนเปื้อนสารหนู รักษาผู้ป่วย รวมทั้งติดตั้งเครื่องกรองน้ำเพื่อกำจัดสารหนู ฯลฯ
ขณะที่ระดับจังหวัดก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและศูนย์ประสานงานเพื่อแก้ไขป้องกันทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน
ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งเมื่อ 12 มกราคม 2531 แต่งตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของพิษสารหนูหรือสารพิษอื่นที่เป็นอันตรายต่อราษฎรในระยะยาว” พร้อมกับมีคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการทำงานอีก 5 คณะ
ข่าวการเจ็บป่วยจากพิษสารหนูที่ครึกโครมในห้วงเวลาดังกล่าว ทำให้การออกมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาจากหลายหน่วยงานเป็นไปอย่างคึกคัก
โดยกรมทรัพยากรธรณีออกคำสั่งห้ามเหมืองแร่ดีบุกแต่งแร่บนภูเขา ต้องนำแร่มาแต่งในโรงแต่งแร่เท่านั้น และห้ามถ่ายเทน้ำออกนอกเขตแต่งแร่โดยเด็ดขาด รวมทั้งต้องจัดเก็บแร่สารหนูที่แยกออกมาอย่างมิดชิดในบ่อคอนกรีต อีกด้านหนึ่งก็จัดหาน้ำสะอาด และขุดเจาะบ่อบาดาลในระดับลึกที่ไม่มีสารหนูปนเปื้อนหาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภค
แต่มาตรการเบื้องต้นดังกล่าว ยังไม่สามารถหยุดยั้งการปนเปื้อนสารหนูได้ จึงต้องประกาศมาตรการเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537 ห้ามให้ประทานบัตร ไม่ต่ออายุประทานบัตร และไม่อนุญาตให้แต่งแร่และร่อนแร่ในท้องที่ ต.ร่อนพิบูลย์ ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการทำเหมืองแร่ที่มีมาช้านานลงอย่างสมบูรณ์
และในปี 2540-2541 กรมทรัพยากรธรณีก็ย้ายกากแร่สารหนูจากการแต่งแร่ดีบุกบนเขาร่อนนาและเขาสรวงจันทร์ รวมทั้งจากโรงแต่งแร่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสารหนูท่าสำคัญรวม 8 บริเวณ ประมาณ 3,700 ลูกบาศก์เมตร ไปฝังกลบอย่างปลอดภัย พร้อมกับดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านกมาทำเหมืองแร่บนเขาให้กลับคืนสู่สภาพป่าไม้เพื่อลดการชะล้าง พังทลายของดิน และลดการแพร่กระจายของสารหนูที่ยังหลงเหลืออยู่ในสายแร่ดีบุก
แต่เมื่อเวลาผ่านไปการทบทวนข้อมูลของแพทย์หญิงจันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ ก็พบว่า ทุกมาตรการการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะยาว ที่คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่างๆ เคยเสนอไว้ ยังคงใช้ได้อยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ขาดความต่อเนื่องและไม่มีองค์กรระดับท้องถิ่นที่จะติดตามและประสานการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน นอกจากผู้ป่วยเก่ายังคงมีอยู่ ยังพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น แถมยังอายุน้อยลงกว่าเดิมคือ 6 เดือน
18 พฤศจิกายน 2542 ปัญหาการปนเปื้อนสารหนูในพื้นที่ ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ตกเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าวเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพการปนเปื้อนของสารหนูในพื้นที่ดังกล่าวว่า แม้จะมีมาตรการดำเนินการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว แต่การศึกษาของหลายหน่วยงานยังพบว่าพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีการปนเปื้อนและแพร่กระจายของสารหนูในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดินระดับตื้น และดิน ในระดับที่เกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายหมู่บ้าน
จนถึงปัจจุบัน พิษจากสารหนูที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรม กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกให้เห็นถึง “ความไม่คุ้มค่า” ของการนำสินแร่ใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ จากสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ สะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้น่าขบคิดว่า “ผลจากการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลรายงานการวิจัยทางด้านสุขภาพ ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่และที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาสารหนูในร่อนพิบูลย์ จำนวน 75 เรื่อง (จาก 100 กว่างานวิจัย) แต่เชื่อไหมครับว่า ปัญหาสารหนูที่ร่อนพิบูลย์ ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่ เนื่องจากข้อสรุปและองค์ความรู้ที่ได้จากผลการศึกษาวิจัยและข้อเสนอแนะดังกล่าวนั้น มักไม่ได้นำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังในพื้นที่”
เอกสาร : กรอบนโยบายและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2551
: สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2542-43, มูลนิธิโลกสีเขียว, หัวข้อผลกระทบเหมืองแร่ กรณีอื่นๆ หน้า 34-35
: ปัญหาพิษสารหนู อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช, ทบทวนและเรียบเรียงโดย แพทย์หญิงจันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ, สถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, จัดพิมพ์ใหม่ มีนาคม พ.ศ.2537
: แผนปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพการปนเปื้อนของสารหนูในพื้นที่ ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช, ข่าวสารสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 25, วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 (http://www.pcd.go.th/Public/News/GetNewsThai.cfm?task=lt1997&id=37)
: ข้อมูลสุขภาพ,ไฟล์ 237-010, เล่ม 237, กันยายน 2004 (http://www.doctor.or.th/print/8064)
: การปนเปื้อนโลหะหนักในแหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่, กรณีศึกษาสารหนูในตำบลร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช, สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ (http://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/pro-5_Chapter5%281%29.doc)
: การจัดการความรู้และงานวิจัย กรณีการแก้ปัญหาสารหนูที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช, ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (http://www.gotoknow.org/posts/4834)
: รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2541, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (www.onep.go.th/download/soe41/06_natural%20resources2.doc)