ฝุ่นโรงโม่หินหน้าพระลาน จ.สระบุรี

ฝุ่นโรงโม่หินหน้าพระลาน จ.สระบุรี

เหตุเพราะเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรแร่คือ “หินปูน” มากกว่าร้อยละ 90 ของที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ต้องแบกรับกับปัญหาฝุ่นละอองจากการทำเหมืองหินและโรงโม่หินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    
ความเข้มข้นของฝุ่นละอองจากโรงโม่หินและเหมืองหินที่หน้าพระลาน ถูกบันทึกไว้ว่าเคยพุ่งสูงถึง 1,721 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่าค่ามาตรฐานถึง 5 เท่า (ค่ามาตรฐานคือ 330 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 
    
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นละอองจากกิจกรรมเหมืองหินและโรงโม่หิน ในพื้นที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ติดอันดับ 1 ใน 6 ของเหตุการณ์ร้องเรียนและเรียกร้องค่าเสียหายจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของกลุ่มคนในพื้นที่มาโดยตลอด
    
ปี 2547 หลังการเดินทางลงพื้นที่และเห็นสภาพปัญหาและความเดือดร้อนจากฝุ่นละอองด้วยตนเองของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ การประกาศให้เขตพื้นที่ ต.หน้าพระลาน เป็นเขตควบคุมมลพิษตามความในมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 
    
แผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ ต.หน้าพระลาน (พ.ศ.2548-2552) จึงถูกบังคับใช้ พร้อมๆ กับการตรวจสุขภาพอนามัยของประชาชนและคนงานที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงโม่ ซึ่งส่วนใหญ่มีสุขภาพปอดผิดปกติ
            

กรณี: ฝุ่นละอองจากโรงโม่หินหน้าพระลาน จ.สระบุรี
สถานที่: ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี

ความเสียหาย: ฝุ่นละอองขนาดเล็กจากกิจกรรมเหมืองหินและโรงโม่หิน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 
    
ผลการตรวจสุขภาพชาวบ้านใน ต.หน้าพระลาน พบว่ามีความผิดปกติของปอดมากกว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณอื่น โดยปรากฏอาการเจ็บป่วย เช่น ไอตอนเช้าหลังจากตื่นนอน อาการไอจะมีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มีอาการเหนื่อยอ่อน

ช่วงเวลา: ปรากฏชัดในปี 2543

เหตุการณ์: ความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมเหมืองหินปูนและโรงโม่หินที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ จ.สระบุรี โดยเฉพาะ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีระบุว่า กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของโรงงานโม่ บด และย่อยหิน ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ 
ทำให้กรมควบคุมมลพิษประกาศให้พื้นที่หน้าพระลาน ติดอันดับพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าสูงสุดในประเทศไทย และเกินค่ามาตรฐานทุกปี 
    
แม้จะมีการบันทึกไว้ว่า ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองจากโรงโม่หินและเหมืองหินที่หน้าพระลาน เคยพุ่งสูงถึง 1,721 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานคือ 330 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึง 5 เท่า แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น
    
ชาวบ้านในพื้นที่หน้าพระลานยังคงเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองคละคลุ้งไปทั่วบริเวณทั้งบ้านพักอาศัย แหล่งน้ำ และถนนหนทาง 
    
ขณะที่การร้องเรียนแต่ละครั้งมักจบลงด้วยการให้โรงโม่ฉีดพ่นน้ำและปลูกต้นไม้เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองที่ปลิวว่อนไปทั่ว
    
ต้นปี 2542 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้เปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับอาการเสื่อมสมรรถภาพของปอดอันเกิดจากกิจกรรมระเบิดหิน โดยระบุว่า คุณภาพอากาศใน ต.หน้าพระลาน มีสภาพย่ำแย่มาก เพราะมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เกินมาตรฐานทั้งค่าสูงสุดและต่ำสุดที่ตรวจวัดได้ นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านใน ต.หน้าพระลาน มีความผิดปกติของปอดมากกว่าประชาชนในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในรัศมี 10-500 ของโรงโม่หินหรือบริเวณที่มีรถบรรทุกหินวิ่งเข้า-ออก รวมทั้งมีการระเบิดหินอยู่ตลอดเวลา
    
ต้นปี 2547 สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินมาตรฐานกว่า 2-3 เท่า ซึ่งถือว่าผิดปกติมาก หากปล่อยไว้เช่นนี้แนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีก พร้อมกับเปิดเผยผลการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ซึ่งพบว่า ฝุ่นอาจจะเกินมาตรฐานถึง 10 เท่า ส่วนปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนพบว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากฝุ่นทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ 30 คนจาก 1.219 คน จึงเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่ ต.หน้าพระลาน ครั้งใหญ่
    
2 เมษายน 2547 การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่หน้าพระลานก็ถึง “จุดเปลี่ยน” สำคัญ เมื่อนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่หน้าพระลานและเห็นปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจายด้วยตัวเอง จึงสั่งให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
    
หลังจากนั้นจึงมีกระบวนการตรวจสอบครั้งใหญ่ นำมาซึ่งการเพิกถอนประทานบัตรและดำเนินคดีโรงโม่ที่กระทำผิดหลายราย และยังกำหนดให้กิจการโรงโม่เป็นสถานประกอบการที่ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
    
มติคณะรัฐมนตรียังตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละอองบริเวณหน้าพระลาน และ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2547-2550 
    
ทั้งนี้ วันที่ 13 สิงหาคม 2547 มีการประกาศให้เขตพื้นที่ ต.หน้าพระลาน เป็นเขตควบคุมมลพิษตามความในมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยครอบคลุมพื้นที่ 17,940 ไร่ หมู่บ้าน 6 แห่ง โรงโม่ บด และย่อยหิน 38 แห่ง อุตสาหกรรมทำเหมืองหิน 50 แห่ง
    
พร้อมกับจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ ต.หน้าพระลาน (พ.ศ.2548-2552) รวม 6 แผนงาน ได้แก่ แผนงานฟื้นฟูและบำบัด แผนงานด้านกฎหมาย แผนงานป้องกันและเฝ้าระวัง แผนงานสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม แผนงานศึกษาวิจัย และแผนงานตรวจและประเมินผล ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบกับแผนดังกล่าวเมื่อ 29 กรกฎาคม 2547
    
นอกจากนี้ยังมีการติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษด้านต่างๆ รวมทั้งตรวจสุขภาพอนามัยของประชาชนและคนงานที่พักอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงโม่และเหมืองหินอีกด้วย
       
เอกสาร: มลพิษอากาศในพื้นที่ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี, อากาศ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2548, มูลนิธิโลกสีเขียว
              : “สภาพสิ่งแวดล้อม จ.สระบุรี” http://www.teeneemuaklek.com/saraburi2.php
              : “โครงการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น ในพื้นที่ทำเหมืองหินและโรงโม่หิน บริเวณตำบลหน้าพระลานและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดสระบุรี”, กรมทรัพยากรธรณี, กุมภาพันธ์ 2543, http://library.dmr.go.th/library/DMR_Technical_Reports/2543/1580.pdf