บ่อขยะราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ
บ่อขยะราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ
เมื่อจู่ๆ บ้านพักอาศัยกลับกลายเป็นทำเลทองของธุรกิจบ่อฝังกลบขยะขนาดมหึมากว่า 200 ไร่ หนำซ้ำยังส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลรบกวนอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านจากหมู่ 14 ถ.กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จึงต้องต่อสู้กับการรุกล้ำครั้งสำคัญของชีวิต
หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ คือเจ้าของโครงการบ่อฝังกลบขยะดังกล่าว โดยได้รับการว่าจ้างจากกรุงเทพมหานครให้ขนย้ายและกำจัดทำลายขยะมูลฝอยจากโรงกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ตั้งแต่กรกฎาคม 2543-กรกฎาคม 2547 วงเงิน 780 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องฝังกลบขยะวันต่อวันไม่ให้มีขยะเหลือตกค้าง และต้องใช้จุลินทรีย์ฉีดพ่นเพื่อขจัดกลิ่น รวมทั้งควบคุมเรื่องการบำบัดน้ำเสียและปลูกต้นไม้โดยรอบ
แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งกลิ่นและฝูงแมลงวันคุกคามผู้อาศัยกว่า 2,000 คนที่อยู่ใกล้เคียง จนต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน และพบความไม่ชอบมาพากลของโครงการดังกล่าวหลายประเด็น กระทั่งกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์เริ่มข่มขู่คุกคามชาวบ้าน และบานปลายกลายเป็นการลอบยิงแกนนำคนสำคัญคือ นายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิต เสียชีวิตกลางร้านขายของชำเมื่อ 26 มิถุนายน 2544
หลังสูญเสียแกนนำ การคัดค้านของชาวบ้านยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ลดละ ทั้งการชุมนุม ยื่นหนังสือคัดค้าน ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งล้วนเปิดโปงให้เห็นถึงขบวนการของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีต่อโครงการบ่อฝังกลบขยะราชาเทวะแห่งนี้ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ
กรณี: บ่อขยะราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ
สถานที่: พื้นที่ 200 ไร่ ของหมู่ 14 ถ.กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ความเสียหาย: กลิ่นเหม็นจากกองขยะที่มีขนาดมหึมา รบกวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจามจุรี
น้ำจากบ่อขยะไหลออกไปปะปนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และมีปลาตาย
ความขัดแย้งยกระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหว ยิงปืนใส่รถยนต์ที่จอดอยู่ในบ้าน บานปลายกลายเป็นการลอบยิงแกนนำคือ นายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิต เสียชีวิตเมื่อ 26 มิถุนายน 2544
ช่วงเวลา: ปี 2542 - 2554
เหตุการณ์: ทันทีที่ได้ยินข่าวว่าจะมีโครงการบ่อฝังกลบขยะมาตั้งอยู่ละแวกบ้าน อีกทั้งยังเริ่มเห็นการลักลอบเอาขยะมาทิ้งในบ่อดินเก่า ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ตั้งโครงการคือ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2542 ห้วงเวลานั้นกลิ่นขยะยังไม่โชยมารบกวน นั่นเป็นเพราะขยะที่นำมาฝังกลบในช่วงเริ่มต้นเป็นขยะเก่าที่กลิ่นเหม็นไม่หลงเหลืออยู่แล้ว
ข้อเรียกร้องเริ่มต้นของชาวบ้านที่นำโดยชาวบ้านจากหมู่บ้านจามจุรีที่อยู่ใกล้มากที่สุดคือ ขอให้จังหวัดสมุทรปราการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าโครงการเป็นอย่างไร แต่ไม่มีคำตอบใดๆ
มกราคม 2543 แรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจังก็คือ การคุกคามจากกลิ่นเหม็นและฝูงแมลงวัน พร้อมๆ กับความชัดเจนมากยิ่งขึ้นของโครงการบ่อฝังกลบขยะบนพื้นที่ 200 ไร่ของ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ โดยได้รับการว่าจ้างจากกรุงเทพมหานครให้ขนย้ายและกำจัดทำลายขยะมูลฝอยจากโรงกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ระยะเวลาตั้งแต่ ก.ค.2543 – ก.ค.2547 วงเงิน 780 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องฝังกลบขยะวันต่อวันไม่ให้เหลือตกค้าง และต้องใช้จุลินทรีย์ฉีดพ่นเพื่อขจัดกลิ่น รวมทั้งควบคุมเรื่องการบำบัดน้ำเสียและปลูกต้นไม้โดยรอบ
เมื่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลิ่นเหม็นที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ โครงการฯ ทำให้การเคลื่อนไหวคัดค้านเข้มข้นมากขึ้น
หนังสือคัดค้านจำนวนนับไม่ถ้วนถูกส่งไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง ตามมาด้วยการนัดชุมนุมประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งยังมีความพยายามตรวจสอบที่มาและขั้นตอนการอนุมัติโครงการบ่อขยะราชาเทวะแห่งนี้ จนพบว่า...
พื้นที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตผังเมืองสีส้ม ซึ่งหมายถึงมีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ห้ามไม่ให้ก่อสร้างบ่อกำจัดขยะ แต่โครงการดังกล่าวกลับได้รับการแก้ไขกฎกระทรวงเปลี่ยนสีผังเมืองจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สามารถสร้างบ่อกำจัดขยะได้ในเดือนสิงหาคม 2543 โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยชื่อ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์
ยิ่งนานวัน ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่คัดค้านโครงการบ่อฝังกลบขยะราชาเทวะกับเจ้าของโครงการก็ยิ่งครึกโครมมากยิ่งขึ้น โดยมีการคุกคาม ข่มขู่ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้าน ถึงขั้นลอบยิงใส่รถยนต์ที่จอดไว้ในบ้านพักยามวิกาล และข่มขู่ทำร้ายห้ามไม่ให้ออกมาประท้วงเรื่องบ่อขยะ กระทั่งทำให้ครั้งหนึ่งของการชุมนุมประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการเมื่อ 15 มีนาคม 2544 ต้องล้มพับไปทั้งที่นัดหมายกันไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว
และแล้วเหตุการณ์ที่ทำให้โครงการบ่อฝังกลบขยะราชาเทวะโด่งดังระดับประเทศก็เกิดขึ้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2544 ในทันทีที่แกนนำคนสำคัญอย่างนายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ถูกมือปืนบุกยิงเสียชีวิตคาร้านขายของชำในหมู่บ้านจามจุรี
แต่ความสูญเสียครั้งนั้นก็ไม่ได้ลดทอนพลังของชาวบ้านในการคัดค้านโครงการ หนำซ้ำการเคลื่อนไหวยังพ่วงประเด็นข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกด้วย โดยชาวบ้านเดินหน้ายื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ อย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา การยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง รวมทั้งเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับผู้บังคับการกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุมนุมขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
ซึ่งผลการตรวจสอบของกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พบประเด็นปัญหาสำคัญ 3 ประการคือ
1.ปัญหาพื้นที่ที่ใช้ฝังกลบขยะ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวกว่า 200 ไร่ ติดชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สีส้ม ไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่ฝังกลบขยะได้ แม้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ จะแก้ไขระเบียบให้แล้วก็ตาม
2.ปัญหาการควบคุมกลิ่น ซึ่งถือเป็นปัญหารากฐานของปัญหาทั้งหมด เมื่อไม่มีทางควบคุมได้ก็น่าจะหาสถานที่ห่างไกลชุมชน
3.ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านราชาเทวะ ทางกระทรวงมหาดไทยจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ในเบื้องต้นจะต้องมีการแก้ไขสัญญาที่เขียนไว้ว่า ต้องกลบขยะอย่าให้มีกลิ่นรบกวน โดยเพิ่มเติมให้ชัดเจนมากขึ้นว่า เมื่อถึงเวลา 22.00 น. ต้องกลบขยะให้หมดไม่ให้มีกลิ่น หากผู้รับเหมาไม่ทำตามสัญญา ผู้ควบคุมงานไม่ดูแล ก็ควรตั้งองค์กรอิสระขึ้นเป็นคนกลางมาตรวจสอบ หรือชาวบ้านจะร้องศาลเอง
ผลพวงของการเป็นข่าวครึกโครมและต่อเนื่อง ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่เมื่อ 10 สิงหาคม 2545 ซึ่งยอมรับว่าบ่อฝังกลบขยะมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจริง และจะเรียกทุกฝ่ายมาหารือเพื่อคลี่คลายปัญหาให้ยุติลง
ขณะที่คณะตุลาการศาลปกครองได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ชาวบ้านได้ยื่นเรื่องเอาไว้ ก็ได้มีคำสั่งถึงประธาน อบต.ราชาเทวะ เมื่อ 25 กันยายน 2545 ให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ออกคำสั่งห้าม หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ ขนขยะของกทม.หรือกระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นของมูลฝอยอันเป็นเหตุรำคาญ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี
แต่ทว่า คำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวก็ไร้ผลในทางปฏิบัติ เพราะการขนถ่ายขยะของ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ ยังคงดำเนินต่อไป และส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านอีกเหมือนเดิม ทำให้ชาวบ้านต้องเดินหน้าร้องเรียนต่อไป
ส่วนความคืบหน้าทางคดีลอบยิงนายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 5 คนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2545 และอีก 9 ปีต่อมาคือ 19 เมษายน 2554 ศาลอุธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตผู้จ้างวานคือ นายสมยุทธ หรือปุ๊ พุ่มภักดี สมาชิก อบต.ราชาเทวะ ส่วนจำเลยอีก 4 คนให้จำคุกตลอดชีวิต ซึ่งบางคนเสียชีวิตในเรือนจำ
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลปกครองชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เพิกถอนคำสั่งของ อบต.ราชาเทวะ ที่อนุญาตให้ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ นำขยะไปทิ้งในท้องที่ดังกล่าว โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคม 2546
คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นกลายเป็นชัยชนะระยะสั้นๆ ของชาวบ้านราชาเทวะ เพราะก่อนถึงวันปิดบ่อขยะราชาเทวะตามคำพิพากษาดังกล่าวเพียงแค่ 5 วัน นายทรงชัย นกขมิ้น ประธาน อบต.ราชาเทวะ ก็ชิงลงนามในหนังสืออนุญาตให้ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ ดำเนินการฝังกลบขยะในพื้นที่เดิมต่อไปได้จนถึง 30 พฤศจิกายน 2547 โดยอ้างว่าได้เพิกถอนใบอนุญาตของ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ ตามคำพิพากษาแล้ว แต่ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ เสนอขออนุญาตใหม่ด้วยการผนวกเอาเงื่อนไขของกรมควบคุมมลพิษที่กำหนดให้มีการปูแผ่นพลาสติกรองก้นบ่อขยะ ฉีดสารดับกลิ่นขยะ และฝังดินกลบหน้าขยะทุกครั้งที่ทำงานเสร็จ ทำให้มั่นใจว่าจะไม่สร้างปัญหาอย่างแน่นอน จึงออกใบอนุญาตให้
ชาวบ้านจึงเดินหน้าร้องเรียนหลายหน่วยงานพร้อมกับยื่นอุทธรณ์ต่อสาลปกครองสูงสุดต่อไป แต่ก็ไม่มีผลใดๆ จนกระทั่งถึงวันอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด 16 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนใบอนุญาตของ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ คำสั่งดังกล่าวแทบไม่มีความหมายใด ทั้งนี้เพราะสัญญาการว่าจ้างให้ฝังกลบขยะระหว่าง กทม.กับ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 อยู่แล้ว
โครงการบ่อฝังกลบขยะราชาเทวะ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จึงตอกย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงของปัญหาขยะที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางธุรกิจกระทั่งก่อความสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง
เอกสาร : บ่อขยะราชาเทวะ, ขยะมูลฝอย, ขยะและสารอันตราย, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2544-45, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 354-356
: บ่อขยะราชาเทวะ, ขยะมูลฝอย, ขยะและสารอันตราย, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2548, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า338-339
: อุทธรณ์ยืน “ประหาร” คนบงการฆ่าแกนนำสู้ “บ่อขยะ”, นสพ.ข่าวสดรายวัน, ฉบับวันที่ 20 เมษายน 2554, ปีที่ 21, ฉบับที่ 7447 (สืบค้นได้จาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXhOVEl3TURRMU5BPT0=)