บ่อขยะอันตรายของบริษัท Better World Green

บ่อขยะอันตรายของบริษัท Better World Green


กลิ่นเหม็นและสารพิษจากบ่อขยะของบริษัท Better World Green ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณ 250 ไร่ ในหมู่ 8 ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จุดประกายกลายเป็นความขัดแย้งที่ยาวนานและบานปลายระหว่างบริษัทรับกำจัดขยะกับชาวบ้านในพื้นที่ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2542 เป็นต้นมา

แม้ตอนเริ่มต้น บริษัทฯ จะขออนุญาตดำเนินกิจการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย แต่ต่อมาก็เพิ่มศักยภาพการให้บริการครอบคลุมถึงของเสียที่เป็นอันตรายด้วย 
    
กระนั้นก็ตาม ชาวบ้านโดยรอบก็ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นและสารพิษที่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตร จนเกิดผลกระทบด้านสุขภาพตั้งแต่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กำจัดของเสียอันตรายด้วยซ้ำไป

เมื่อการร้องเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าไม่เป็นผล แต่ความเดือดร้อนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีคดีฟ้องร้องยืดเยื้อตามมา

ในที่สุด การเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 จึงถูกประเดิมด้วยคดีฟ้องร้องของชาวบ้านรวม 124 คนร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท Better World Green เป็นจำเลย โดยเรียกค่าเสียหายรวม 2,006 ล้านบาท
    

กรณี: บ่อขยะอันตราย ของบริษัท Better World Green

สถานที่: หมู่ 8 ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 

ความเสียหาย: มีกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะจนชุมชนรายรอบเวียนศีรษะ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับบ่อขยะ
    
ตรวจพบสารพิษตกค้างในเลือดของชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่รอบบ่อขยะ
    
ครูเกือบทั้งโรงเรียนบ้านเขาจำปายื่นหนังสือขอย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากผลการตรวจสุขภาพพบว่ามีสารพิษตกค้างในกระแสเลือด
    
สถิติการเจ็บป่วยของชาวบ้าน 3 ตำบลรอบบ่อขยะ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตเพิ่มสูงขึ้น

มีสารโลหะหนักจำพวก แมงกานีส นิเกิล ปรอท ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำจนพื้นที่เกษตรเสียหาย ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ตามปกติ หากสัมผัสน้ำจะเกิดผื่นคัน 
    
สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านแคระแกรน และแท้งลูก

ช่วงเวลา : ปี 2542 - ปัจจุบัน 

เหตุการณ์ : บริษัท Better World Green จำกัด (มหาชน) ซึ่งเริ่มต้นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจรับจัดการของเสียจากอุตสาหกรรมที่ไม่มีอันตราย และเพิ่มศักยภาพรับจัดการของเสียอันตรายในเวลาต่อมา
    
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มต้นดำเนินกิจการในอาณาบริเวณประมาณ 250 ไร่ของพื้นที่หมู่ 8 ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ก็สร้างความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องให้กับชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ 
    
จนกระทั่งชาวบ้านใน ต.หนองปลาไหล ห้วยแห้ง และกุดนกเปล้า รวมตัวกันร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นเหม็น และสารพิษที่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ 
    
โดย อบต.หนองปลาไหลทำหนังสือร้องเรียนถึงนายอำเภอเมืองสระบุรีเมื่อ 24 มีนาคม 2544 ระบุว่าเกิดจากการทิ้งขยะและกากวัสดุสารเคมีของเหลวมีพิษของบริษัท Better World Green 
    
นับจากนั้นเป็นต้นมา การเปิดศักราชแห่งความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านใกล้เคียงและบริษัท Better World Green ก็เริ่มนับหนึ่ง
    
แม้กลุ่มชาวบ้านจะทำหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับพื้นที่ จนถึงสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การจัดการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีอะไรคืบหน้า
    
กระทั่งชาวบ้านตัดสินใจประท้วงด้วยการปิดถนนทางเข้าบริษัทฯ ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-15 ต.ค. 2546 เพื่อห้ามรถขยะเข้าไปในโรงกำจัดและขับไล่บริษัทออกไปจากพื้นที่ และทำให้จังหวัดสระบุรีมีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
    
ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบน้ำจากบ่อสังเกตการณ์พบว่ามีโลหะหนัก เช่น นิกเกิล แมงกานีส ตะกั่ว และอาร์เซนิก ปนเปื้อนอยู่ในระดับเกินกว่ามาตรฐาน จึงมีข้อสงสัยตามมาว่า บริษัทฯ อาจลักลอบนำของเสียอันตรายมากำจัดด้วยในช่วงก่อนได้รับใบอนุญาตให้กำจัดของเสียอันตรายได้ปีละ 50,000 ตันเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2546 
    
เมื่อกรมควบคุมมลพิษแจ้งผลการตรวจสอบน้ำชะกาก น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ของเสียอันตราย การรั่วซึมของบ่อฝังกลบ และการปฏิบัติตามมาตรการในอีไอเอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบ ซึ่งปรากฏว่ามีของเสียอุตสาหกรรมอันตรายปะปนเข้าไปฝังกลบด้วยจริง 
    
กรมโรงงานจึงมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีบังคับให้โรงงานแก้ไขภายใน 60 วัน ด้วยการสูบน้ำชะกากที่ขังอยู่ในหลุมฝังกลบที่ 1 ไปบำบัดให้ถูกต้อง เพิ่มความสูงของคันกั้นน้ำในหลุมฝังกลบที่ 2 และปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    
ทั้งนี้ ไม่มีการดำเนินการใดๆ กับบริษัทฯ ที่ลักลอบนำของเสียอันตรายเข้ามากำจัดด้วย รวมทั้งไม่มีการดำเนินการกับกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ฝังกลบไปแล้ว ทั้งที่เป็นการฝังกลบในหลุมฝังกลบที่ออกแบบไว้สำหรับของเสียไม่อันตรายเท่านั้น
    
ตลอดปี 2550 การร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นยังคงดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น หนำซ้ำสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรียังทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีและ อบต.ห้วยแห้ง เพื่อแจ้งว่า คำร้องเรียนของชาวบ้านเรื่องกลิ่นเหม็น น่าจะเป็นการร้องเรียนที่คลาดเคลื่อน และเห็นควรยุติเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน 
    
ต้นปี 2551 สัญญาณของความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้นครั้งใหม่ เมื่อบริษัทฯ ทำหนังสือถึง อบต.ห้วยแห้ง และหน่วยงานระดับจังหวัดสระบุรี เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบเรื่องกลิ่นว่าได้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยแนบหนังสือบันทึกการประชุมของผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 พร้อมลายเซ็นของชาวบ้าน เพื่อรับรองว่าการดำเนินการของบริษัทฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนแต่อย่างใด
    
ตามมาด้วยหนังสือจากจังหวัดสระบุรีที่แจ้งถึงนายอำเภอเมืองสระบุรีและนายอำเภอแก่งคอย ว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของบริษัทฯ รายงานว่าปริมาณไฮโดรเจนซัลไฟด์ และแอมโมเนีย มีปริมาณรับรู้กลิ่นได้ แต่ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยแต่อย่างใด
    
ขณะที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี กลับรายงานการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมในทิศทางตรงกันข้าม โดยระบุว่าครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขาจำปา ร้อยละ 86 ยอมรับว่ามีกลิ่นเหม็นรุนแรง พร้อมระบุช่วงเวลาที่มีกลิ่นเหม็นมากที่สุดว่าอยู่ระหว่าง 06.00-12.00 น.
    
ดูเหมือนว่า ปัญหามลพิษนำมาซึ่งความขัดแย้งที่ซับซ้อนและลากเอาผู้คนมากมายเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ปัญหามลพิษยังคงค้างคานานหลายปี
    
2 เมษายน 2552 ชาวบ้านจึงรวมตัวกันปิดถนนพหลโยธินทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีสั่งปิดบ่อขยะชั่วคราว เพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์หรือไม่ 
    
ในที่สุด ผวจ.สระบุรี จึงมีคำสั่งปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2552 ทำให้อีก 2 วันถัดมาพนักงานของบริษัทจึงเดินทางไปกดดันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมถึงกรุงเทพมหานครเพื่อให้ยกเลิกคำสั่งปิดโรงงาน
    
ช่วงเช้าของวันที่ 8 เมษายน 2552 ผวจ.สระบุรี จึงแถลงยกเลิกคำสั่งปิดโรงงาน โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีความชัดเจนและข้อความในคำสั่งไม่เป็นไปตามองค์ประกอบตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ.2535
    
หลังการแถลงยกเลิกคำสั่งปิดโรงงาน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและนำยางรถยนต์มาปิดทางเข้า-ออกของบริษัทฯ ตามมาด้วยการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มพนักงานของบริษัทฯ จนนำไปสู่การปะทะกันและมีผู้บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย 
    
ล่าสุด ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและบริษัท Better World Green ที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ก้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมครั้งสำคัญ เมื่อนางศรีวรินทร์ บุญทับ ร่วมกับชาวบ้านรวม 124 คน ซึ่งล้วนเป็นเกษตรกรในพื้นที่บ้านหนองปลาไหล ต.กุดนกเปล้า อ.เมือง จ.สระบุรี และ ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ยื่นฟ้องบริษัท Better World Green พร้อมเรียกค่าเสียหาย 2,006 ล้านบาท 
    
โดยระบุว่า การดำเนินการของบริษัทฯ ทำให้เกิดมลพิษจากบ่อขยะ น้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะจนเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง ปลาที่เลี้ยงไว้ตาย ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วยมีอาการผิวหนังอักเสบ หายใจไม่ออก แสบตา พร่ามัว จมูกอักเสบ เจ็บหน้าอก ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ คลื่นไส้ ปวดหัว ต่อมาพบว่ามีสารพิษอื่นๆ อาทิ แคดเมียม ปรอท แมงกานีส ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ พืชผัก สัตว์เลี้ยง และพื้นดิน
    
และทำให้กลายเป็นคดีฟ้องร้องประเดิมการก่อตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง เมื่อ 25 พฤษภาคม 2554 

เอกสาร: การกำจัดขยะอันตรายของบริษัทเบตเตอร์เวิลด์กรีน, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2548 ,หน้า 255, มูลนิธิโลกสีเขียว จัดพิมพ์
    : ลำดับการดำเนินการกรณีร้องเรียนกลิ่นเหม็นรบกวนจากบ่อขยะของบริษัท เบตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด
    : นสพ.ข่าวสด วันที่ 9 เมษายน 2552
    : ASTV ผู้จัดการ วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 (www.manager.co.th)