ทะเลสาบสงขลาเน่า
ทะเลสาบสงขลาเน่า
ผลพวงจากการใช้ประโยชน์ทะเลสาบสงขลาอย่างหนักหน่วงและยาวนานจนเกินกว่าศักยภาพของระบบนิเวศจะรอบรับได้ ทำให้ทะเลสาบสามน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เสื่อมโทรมลงทุกด้าน
ต้นเหตุของความเสื่อมโทรมมาจากน้ำเสียซึ่งถูกปล่อยจากหลายแหล่ง หลักๆ คือน้ำเสียจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และฟาร์มปศุสัตว์
อีกทั้งโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ถูกบรรจุลงไปยังซ้ำเติมให้ทะเลสาบสงขลาเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปิดปากระวะ เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลาตอนบน ตามแผนป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาของกรมชลประทาน เพื่อนำน้ำจืดไปทำนาปรังเมื่อหลายสิบปีก่อน
30 สิงหาคม 2545 แผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคใต้จึงเริ่มต้นขึ้นหลังการเดินทางลงพื้นที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานถึง 3 ปัญหาหลักของทะเลสาบสงขลาคือ น้ำเสีย การตื้นเขิน และการลดลงของปริมาณสัตว์น้ำ
ตามมาด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยเฉพาะการขุดลอกคูคลองที่ไหลลงสู่ทะเลสาบหรือเชื่อมต่อ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดและแก้ไขปัญหาความตื้นเขิน และพิจารณาแนวทางการเปิดปากระวะ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวก็ถูกนำมาปรับเปลี่ยนเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในปีถัดมา
อย่างไรก็ตาม การระดมสารพัดโครงการเพื่อกู้ทะเลสาบสงขลา ก็ถูกทักท้วงจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่และหาข้อมูลเชิงลึกก่อน โดยเฉพาะการขุดลอกร่องน้ำที่ทำให้น้ำเค็มจากอ่าวไทยไหลเข้าทะเลสาบได้มากกว่าเดิม
การฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ยังคงเดินหน้าต่อไปโดยภาครัฐใช้แผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พ.ศ.2549-2558 เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 2.การใช้ประโยชน์ทรัพยากรลุ่มน้ำแบบบูรณาการและใช้อย่างยั่งยืน 3.การควบคุมและการป้องกันมลพิษ 4.การอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะ ศิลปวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการการบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
กรณี: ทะเลสาบสงขลาเน่า
สถานที่: ทะเลสาบสงขลาครอบคลุม 3 จังหวัดคือ พัทลุงทั้งจังหวัด สงขลา 12 อำเภอ และนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ มีพื้นที่เป็นแผ่นดินและทะเลสาบรวม 8,727 ตารางกิโลเมตร
ความเสียหาย : ประเมินค่าไม่ได้
ช่วงเวลา: 2544 ทะเลสาบสงขลาเริ่มเน่าเสียถึงขั้นวิกฤต ทำให้รัฐบาลมีนโยบายทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อฟื้นฟู
เหตุการณ์: ทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบสามน้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม) ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 652,775 ไร่หรือ 8,727 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ตัวทะเลสาบนอกจากจะเป็นที่ไหลรวมของน้ำจากต้นน้ำลำคลองเล็กๆ กว่าร้อยสายแล้ว ยังมีทางออกทะเลสู่อ่าวไทย จึงทำให้มีระบบน้ำที่แตกต่าง มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก จึงเป็นแหล่งประกอบอาชีพที่สำคัญของประชาชนโดยรอบมากกว่า 1.5 ล้านคน
ปลายปี 2544 วิกฤตการณ์น้ำเน่าเสียในทะเลสาบสงขลารุนแรงขึ้นเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมและบ่อบำบัดน้ำเสียฉวยโอกาสปล่อยน้ำเสียในช่วงฝนตกหนัก โดยเฉพาะบริเวณรอบเกาะยอซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงปลากระชังกว่า 2,000 ครอบครัว ทำให้น้ำเน่าเสียและปลาตายเกลื่อน ซึ่งผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พบว่าคุณภาพน้ำของทะเลน้อย และทะเลหลวง มีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม
ต้นเหตุของความเสื่อมโทรมมาจากน้ำเสียซึ่งถูกปล่อยจากหลายแหล่ง หลักๆ คือน้ำเสียจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และฟาร์มปศุสัตว์
ความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำทำให้ระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลาเสียหายและส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำลดลง จากการวิจัยพบว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณสัตว์น้ำลดลงร้อยละ 22
นอกจากนั้นความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลายังเป็นผลมาจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ถูกบรรจุลงไป โดยเฉพาะการปิดปากระวะ ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลาตอนบน ตามแผนป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่ทะเลสาบของกรมชลประทาน เพื่อนำน้ำจืดไปใช้ทำนำปรังเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งน้ำจืดที่อยู่ถาวรทำให้เกิดการระบาดของวัชพืช และทำให้เกิดการตื้นเขินของท้องน้ำตามมา
การตื้นเขินของท้องน้ำยังมีสาเหตุมาจากการไม่จัดระเบียบเครื่องมือทำประมง เช่น กระชัง โพงพาง ทำให้เส้นทางการไหลของน้ำถูกปิดกั้นด้วยเครื่องมือเหล่านี้ อีกทั้งบริเวณปากร่องน้ำก็มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก กระแสน้ำจึงไม่สามารถไหลได้ตามธรรมชาติ
ไม่เพียงเท่านั้น การตื้นเขินของทะเลสาบยังเป็นผลมาจากการสูญเสียพื้นที่ป่า ทั้งการตัดไม้เพื่อจำหน่าย และการบุกรุกเพื่อทำนากุ้ง เมื่อพื้นที่ป่าลดลง การพังทลายของดินก็มีมากขึ้น และกลายเป็นตะกอนไหลลงสู่ทะเลสาบในเวลาต่อมา
ว่าไปแล้ว ความพยายามฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาของชาวประมงมีขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ในนามของสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา โดยเน้นการปลูกป่าชายเลนและการปล่อยสัตว์น้ำวัยอ่อนลงสู่ทะเลสาบ
ด้านภาครัฐได้เริ่มฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาอย่างจริงจังหลังจากการเดินทางมาร่วมประชุมที่ จ.สงขลาของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 30 สิงหาคม 2544 โดยบรรจุแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคใต้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปปัญหาเร่งด่วนของทะเลสาบสงขลา 3 เรื่องหลักคือ น้ำเสีย การตื้นเขิน และการลดลงของสัตว์น้ำ
หลังการสรุปปัญหาและพิจารณาถึงข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนว่า ต้องขุดลองคูคลองที่ไหลหรือเชื่อมต่อลงสู่ทะเลสาบสงขลา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดและแก้ไขปัญหาการตื้นเขิน โดยนำดินที่ขุดลอกได้มาทำเป็นเกาะ ใช้งบประมาณไร่ละ 1 ล้านบาท รวม 400-500 ไร่ และพิจารณาเปิดปากระวะ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวมอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนแม่บท รวมถึงการจัดการน้ำเสียและมูลฝอยด้วย
ซึ่งการใช้งบประมาณถึง 16 ล้านบาทของสภาพัฒน์ฯ เพื่อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำแผนแม่บทภายในระยะเวลา 1 ปีนี้เอง ถูกคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้องโดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมามีรายงานการศึกษาของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ บริษัทที่ปรึกษา รัฐบาลชุดต่างๆ อพช. ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมากมายอยู่แล้ว จึงสิ้นเปลืองงบประมาณและเวลา
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวก็ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา ที่จัดทำโครงการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทะเลสาบในปี 2546-2547 โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 2,264 ล้านบาทให้ดำเนินการแผนทั้งหมด 5 แผน คือการขุดลอกร่องน้ำ การจัดระเบียบเครื่องมือทำการประมงหรือโซนนิ่ง เพื่อแก้ปัญหาการปิดกั้นทางไหลของน้ำ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำประมง การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และการปลูกป่าชายเลน
การดำเนินการดังกล่าว ถูกทักท้วงจากชาวบ้านและนักวิชาการว่าควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่และหาข้อมูลเชิงลึกก่อน เพราะการขุดลอกร่องน้ำจะเป็นต้นเหตุทำให้น้ำเค็มจากอ่าวไทยไหลเข้าทะเลสาบสงขลาได้มากกว่าเดิม จนอาจทำให้เกิดการสูญเสียระบบนิเวศน้ำกร่อยไปอย่างถาวร
ปัจจุบัน การฟื้นฟูทะเลสาบสงขลายังคงเดินหน้าต่อไปภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พ.ศ.2549-2558
เอกสาร : “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. เข้าถึงได้จาก http://marinegiscenter.dmcr.go.th/km/biodiversity_basin-songkhla/#.U9yUoOOSybo
: “แฉทะเลวิกฤติ สัตว์หายากตายอื้อ ประมงล่า-เมิน ‘พะยูน-เต่า-โลมา’ มลพิษรุมทะเลสาบสงขลาเละหนัก”. ปาลิดา พุทธประเสริฐ. ศูนย์ข่าวTCIJ. 6 มิถุนายน 2556. เข้าถึงได้จาก http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=2638
: “บทความปัญหาของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและการแก้ไข”. เข้าถึงได้จาก http://region.nesdb.go.th/SESO/research_south/data_08042014.pdf
: ทะเลสาบสงขลา, ทะเลและชายฝั่ง, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2544-45, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 199-201