เตาเผาขยะภูเก็ต จ.ภูเก็ต
เตาเผาขยะภูเก็ต จ.ภูเก็ต
ยิ่งเกาะภูเก็ต จ.ภูเก็ต มีชื่อเสียงว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามติดระดับโลกมากขึ้นเท่าใด สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่การเป็น “จุดหมายปลายทาง” ของบรรดานักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกก็หนีไม่พ้น...ปัญหาขยะ
ปี 2536 บริษัท Pal Consultants ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอทางออกว่าต้องก่อสร้างเตาเผาขยะที่สามารถกำจัดขยะได้ 250 ตัน/วัน และยังนำความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้มาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย
และอีก 2 ปีต่อมา โครงการก่อสร้างเตาเผาขยะของ จ.ภูเก็ต ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 788 ล้านบาท โดยต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากกรมป่าไม้เพื่อก่อสร้างในพื้นที่ป่าชายเลน
โครงการก่อสร้างเตาเผาขยะ จ.ภูเก็ต ถูกทักท้วงจากนักสิ่งแวดล้อมว่าจะก่อผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากกระบวนการเผาขยะจะปล่อยสารพิษจำพวกโลหะหนักมากมาย อาทิ สารตะกั่ว แคดเมียม ทองแดง และที่สำคัญก็คือไดออกซิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
ทว่าเสียงทักท้วงกลับถูกมองข้าม เพราะมองว่าปัญหาขยะที่ล้นทะลัก...สำคัญกว่า
ในที่สุด เตาเผาขยะภูเก็ตก็ก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2542 และพบว่าเตาเผาขยะแห่งนี้ปล่อยสารอันตรายคือ ไดออกซิน เกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งยังไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่มีมากเกินไปได้ทั้งหมด จนต้องหันกลับมาใช้การฝังกลบร่วมด้วยอีกเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเตาเผาขยะภูเก็ต เช่นเดียวกับที่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้จากการเผาขยะ “ต่ำกว่า” การคาดการณ์ในเบื้องต้น
ขณะที่ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกินกว่าเตาเผาขยะที่มีอยู่เดิมจะรองรับได้ เทศบาลนครภูเก็ตจึงต้องสร้างเตาเผาขยะเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2555 ซึ่งจะทำให้จังหวัดภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
กรณี: เตาเผาขยะเกาะภูเก็ต จ.ภูเก็ต
สถานที่: เตาเผาขยะตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ถ.รัตนโกสินทร์ 200 ปี ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ส่วนบ่อฝังกลบขยะตั้งอยู่ใกล้เคียงกันคือ บริเวณคลองเกาะผี ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ความเสียหาย: กลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียจากขยะตกค้าง สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง และเมื่อฝนตกหนักก็ไหลลงคลองเกาะผี ทำให้น้ำเป็นสีดำและมีกลิ่นเหม็น สัตว์น้ำในกระชังของชาวบ้านได้รับความเสียหายรวม 6.4 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่ไปออกกำลังกายบริเวณสวนสาธารณะสะพานหิน รวมทั้งผู้อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ก็เดือดร้อนจากกลิ่นและควันจากโรงเผาขยะ
ส่วนผลกระทบจากสารไดออกซิน และโลหะหนักจำพวกตะกั่ว ทองแดง และแคดเมียมที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาขยะนั้น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้
ช่วงเวลา: ปี 2542-ปัจจุบัน
เหตุการณ์: เสียงทักท้วงจากนักสิ่งแวดล้อมหลายองค์กรที่ระบุชัดเจนว่า การกำจัดขยะด้วยวิธีการเผา เป็นทางเลือกที่ไม่เหมาะสมและไม่ยั่งยืน เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวมากกว่า โดยระบุว่าเทคโนโลยีกำจัดขยะด้วยเตาเผาจะปล่อยสารอันตรายคือ ไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งยังมีสารโลหะหนักอื่นๆ อาทิ ตะกั่ว ทองแดง และแคดเมียม
แต่เสียงทักท้วงดังกล่าวไม่อาจสู้แรงผลักดันให้เกาะภูเก็ตเลือกใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยการสร้างโครงการเตาเผาขยะที่สามารถนำความร้อนจากกระบวนการเผาขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ในเวลาเดียวกัน
การชูผลประโยชน์ที่ได้โดยเปรียบเปรยว่าเสมือนได้รับผลกำไร 2 ต่อคือ ทั้งกำจัดขยะและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 2.5 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน ทำให้เส้นทางแจ้งเกิดของเตาเผาขยะภูเก็ตราบรื่นตามคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษา Pal Consultants ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
เดือนมิถุนายน 2542 เทศบาลนครภูเก็ต เปิดใช้เตาเผาขยะขนาด 250 ตัน/วัน มูลค่า 788 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ถ.รัตนโกสินทร์ 200 ปี ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีพื้นที่ประมาณ 43,000 ตารางเมตร โดยให้บริการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 แห่งในจังหวัดภูเก็ต นับเป็นเตาเผาขยะที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเวลาเดียวกันเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และยังถือเป็นโครงการก่อสร้างที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตตามกฎหมายของกรมโรงงาน อีกทั้งยังไม่ต้องยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
แต่หลังจากเดินเครื่องเตาเผาขยะได้เพียง 1 ปี ก็พบว่าปริมาณขยะจากชุมชนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 18 แห่งที่นำมาเผารวมกันมีมากเกินขีดความสามารถของเตาเผาแล้ว ทำให้เทศบาลนครภูเก็ตต้องเปิดพื้นที่ฝังกลบขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียงกับเตาเผาขยะคือที่คลองเกาะผี ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยแบ่งพื้นที่ฝังกลบออกเป็น 5 บ่อ ในพื้นที่ประมาณ 120 ไร่
ขณะที่ผลการตรวจสอบมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาขยะภูเก็ตก็สอดคล้องกันทั้งการวิเคราะห์ของบริษัท SGS (Thailand) และนักสิ่งแวดล้อมจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่พบว่า มีสารไดออกซินเกินกว่าค่ามาตรฐาน 2-20 เท่า เช่นเดียวกับศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้คือ 1.6 เมกะวัตต์ แทนที่จะได้ 2.5 เมกะวัตต์ เนื่องจากขยะที่นำมาเผามีความชื้นสูงเกินไป
กระนั้นก็ตาม เทศบาลนครภูเก็ตก็เลือกที่จะเดินไปข้างหน้า และปล่อยให้เตาเผาขยะเดินเครื่องต่อไป
แม้จะเร่งกำจัดขยะควบคู่กันทั้งการเผา และฝังกลบ แต่ปริมาณขยะจากชุมชนก็ไม่ได้ลดจำนวนลง โดยในเดือนธันวาคม 2550 มีปริมาณขยะที่รอเข้าเตาเผาสูงถึงวันละ 600 ตัน
ขยะที่เหลือจากการเผาแต่ละวันจึงถูกกองสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล้นทะลักออกจากพื้นที่ฝังกลบ สร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงปลาในกระชังคิดเป็นมูลค่า 6.4 ล้านบาท
เมื่อขยะยังคงสร้าง “ปัญหา” เช่นเดิม เทศบาลนครภูเก็ตจึงให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมระบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนภูเก็ต ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า ต้องดำเนินการ 2 ส่วน นั่นคือ ปรับปรุงเตาเผาขยะชุดเดิมให้สามารถกำจัดขยะได้เพิ่มมากขึ้น และผลิตไฟฟ้าได้สูงขึ้น พร้อมกับปรับปรุงระบบควบคุมมลพิษให้เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมกันนั้นก็ให้ก่อสร้างเตาเผาขยะเพิ่มเติมขึ้นอีก 1 ชุดที่สามารถกำจัดขยะได้ไม่น้อยกว่า 300 ตัน/วัน และผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 5 เมกะวัตต์
ในที่สุด บริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด ก็ได้รับการคัดเลือกจากเทศบาลนครภูเก็ตให้เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารเตาเผาขยะภูเก็ตเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งบริษัท พีเจทีฯ ก็ได้เสนอโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะภูเก็ตแห่งใหม่ที่สามารถกำจัดขยะได้วันละ 600 ตัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 14 เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท รองรับประมาณขยะจากชุมชนได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2555
เตาเผาขยะที่เกาะภูเก็ต จ.ภูเก็ต ยังคงคว้าตำแหน่งแหล่งผลิตไฟฟ้าจากขยะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยปราศจากการเฝ้าติดตามผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยสารก่อมะเร็ง ไดออกซิน และโลหะหนักชนิดอื่นๆ เกินกว่าค่าปกติ
เอกสาร:
- “ขยะล้นภูเก็ต...ปัญหานี้มีทางออก” http://www.phuketjournal.com/phuket-garbage-3198.html
- “ทน.ภูเก็ตงดรับขยะเข้าเตาเหลังระบบเผามีปัญหา” http://www.phuketpost.com/index.phpoption=com_content&view=article&id=2772:2012-05-08-15-14-40&catid=35:2010-01-21-08-52-03&Itemid=
- “หนึ่งทศวรรษของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชน” กรณีเตาเผาขยะชุมชน จังหวัดภูเก็ต, พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ www.kpi.ac.th/.../52-01%2006
- Dioxin Hotspot Report - Case Study of Municipal Waste Incinerators in Phuket and
Samui, Campaign for Alternative Industry Network (CAIN), Greenpeace Southeast Asia(GPSEA), Alternative Agriculture Network (AAN), Thailand, March 2006