เตาเผาขยะเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

เตาเผาขยะเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี


ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างปัญหาให้กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ถูกเสนอให้ใช้กระบวนการกำจัดด้วยเตาเผาขยะ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องของเทศบาล 1 ใน 2 แห่งของประเทศไทย
    
ห้วงเวลาดังกล่าว โครงการเตาเผาขยะพร้อมๆ กับนำความร้อนที่ได้มาผลิตกระแสไฟฟ้าอีกต่อหนึ่ง ถูกกล่าวอ้างถึงประโยชน์ 2 ต่อจนทำให้เสียงคัดค้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ โดยเฉพาะกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็น “ผู้ขัดขวางความเจริญ” เต็มรูปแบบ
    
ข้อห่วงใยในประเด็นมลพิษจากเตาเผาขยะ โดยเฉพาะ “สารไดออกซิน” ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ พร้อมกับเรียกร้องให้หันมาใช้แนวทางกำจัดขยะโดยคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดขยะที่ชุมชนเป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง แทนที่จะโยนให้รัฐบาลเป็นผู้แบกรับแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงถูกมองข้าม
    
17 พฤษภาคม 2542 เตาเผาขยะเกาะสมุยซึ่งสามารถเผาขยะได้ 140 ตัน/วัน จึงเปิดดำเนินการ โดยใช้งบประมาณก่อสร้างผ่านกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 501 ล้านบาท 
    
ช่วงแรกของการเปิดใช้เตาเผาขยะกลับพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นบนเกาะสมุยน้อยกว่ากำลังการผลิต จึงทำให้ปี 2542 โรงเผาขยะแห่งนี้เดินเครื่องเพียงแค่ 140 วันเท่านั้น โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้สำหรับการบริหารจัดการปีละ 50 ล้านบาท โดยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
    
4 ปีต่อมา ผลการตรวจสอบพบว่า เตาเผาขยะที่เกาะสมุยแห่งนี้ ปล่อยสารไดออกซินสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน 6-200 เท่า ซึ่งบริษัท CUB ในฐานะผู้ดำเนินการเตาเผาขยะเกาะสมุยเสนอวิธีการเพื่อลดสารไดออกซิน โดยต้องใช้งบประมาณราว 11-12 ล้านบาทในช่วงปีแรก (คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนพฤษภาคม 2549)
    
แม้จะชี้ชัดว่าเตาเผาขยะเกาะสมุยปล่อยสารไดออกซิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพอย่างชัดเจน แต่การดำเนินการของเตาเผาขยะก็ยังคงเดินหน้าต่อไป
    
1 กรกฎาคม 2552 นายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ออกมายอมรับว่า เตาเผาขยะที่ใช้งานมานาน 10 ปี ชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ ทำให้มีขยะตกค้างมากกว่า 140 ตัน/วัน พร้อมกับเตรียมการเปิดประมูลซ่อมแซมเตาเผาขยะโดยใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท และจะใช้วิธีการฝังกลบทดแทนระหว่างการซ่อมแซมเตาเผาขยะ
    
แต่กระบวนการซ่อมแซมเตาเผาขยะเกาะสมุยก็ค้างคาจนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เตาเผาขยะทนกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าไม่ไหว พากันประท้วงปิดทางเข้า-ออก ไม่ให้รถเก็บขยะของเทศบาลเมืองเกาะสมุยแล่นผ่านอีกต่อไป
    
รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเกาะสมุยยอมรับว่า การใช้เตาเผาขยะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเกาะสมุยอีกต่อไป เพราะการหาทางออกด้วยการสร้างเตาเผาขยะ ทำให้จิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของคนเกาะสมุยขาดหายไป ขยะทุกชนิดจึงถูกนำเข้าเตาเผาโดยไม่มีการคัดแยก ทำให้เตาเผาขยะมีอายุการใช้งานสั้นลง ดังนั้นจึงต้องหาทางออก โดยต้องระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง และการแปรรูปขยะ เพื่อลดภาระของเตาเผาขยะให้สามารถใช้งานได้ต่อไป


กรณี: เตาเผาขยะเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

สถานที่: ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ความเสียหาย: กลิ่นเหม็นจากขยะตกค้างสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวบ้านใน ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จนต้องรวมตัวกันปิดทางเข้า-ออก ไม่ให้รถขยะของเทศบาลเมืองเกาะสมุยแล่นผ่าน
    
ส่วนผลกระทบจากสารไดออกซินที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาขยะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เดินเครื่องเตาเผาขยะนั้น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ 

ช่วงเวลา: ปี 2542-ปัจจุบัน

เหตุการณ์ : ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการ จัดสรรงบประมาณ 501 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นที่ ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
    
ทันทีที่รัฐบาลตัดสินใจก่อสร้างโครงการเตาเผาขยะเกาะสมุย มีเพียงเสียงคัดค้านดังขึ้นจากกลุ่มเอ็นจีโอที่นำโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเด็นห่วงใยเรื่องสารพิษที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาขยะ โดยเฉพาะไดออกซิน ซึ่งถือเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพ เพราะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และเรียกร้องให้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อหาทางออกในการกำจัดขยะที่ชุมชนเป็นผู้ก่อ เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 
    
แต่ดูเหมือนว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มเอ็นจีโอ จะถูกโดดเดี่ยว ไร้เสียงขานรับอย่างเป็นรูปธรรมจากชาวบ้านเกาะสมุย
    
17 พฤษภาคม 2542 เตาเผาขยะเกาะสมุย ซึ่งมีกำลังการผลิต 140 ตัน/วัน ก็เปิดเดินเครื่อง โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการให้ปีละ 50 ล้านบาท ทว่าในช่วงแรกของการเปิดใช้งาน กลับมีปริมาณขยะเพียงแค่ 37-70 ตัน/วัน ไม่เพียงพอต่อการเดินเครื่องทุกวัน
    
หลังจากดำเนินการเตาเผาขยะได้ 4 ปี ผลการตรวจสอบปริมาณสารต่างๆ ที่ออกมาจากปล่องโรงเผาขยะระหว่างวันที่ 5 กันยายน 2546 - 7 มิถุนายน 2547 พบว่า มีปริมาณสารไดออกซินสูงกว่าค่ามาตรฐาน 6-200 เท่า ซึ่งบริษัท CUB ในฐานะผู้ดำเนินการเตาเผาขยะเสนอให้ใช้วิธีการ Carbon Injection เพื่อลดปริมาณไดออกซินให้ต่ำลง โดยต้องใช้งบประมาณราว 11-12 ล้านบาทในช่วงปีแรก (การดำเนินการจะเริ่มเดือนพฤษภาคม 2549)
    
ผลการตรวจวัดสารพิษไดออกซินที่เกินค่ามาตรฐาน ทำให้กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกมาตอกย้ำอีกครั้งถึงอันตรายของสารพิษชนิดนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ปลดระวางเตาเผาขยะเกาะสมุย โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนเกาะสมุยทำงานร่วมกันในโครงการลดประมาณขยะ การจัดทำศูนย์วัสดุเหลือใช้ เพื่อนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และเรียกร้องให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสถานภาพของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยเอาไว้
    
แต่ปฏิกิริยาจากภาครัฐ แม้กระทั่งชุมชนผู้อยู่อาศัยบนเกาะสมุย ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
    
โครงการเตาเผาขยะเกาะสมุย กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งในปี 2552 เมื่อเตาเผาขยะเกาะสมุยมีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่คาดคิด และปัญหาขยะก็คุกคามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียงเตาเผาขยะ เนื่องจากขยะตกค้างมากจนเน่าเหม็น โดยเฉพาะชาวบ้านใน ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมตัวกันปิดทางเข้า-ออก ไม่ให้รถเก็บขยะของเทศบาลนำขยะเข้ามากองทิ้งไว้ที่เตาเผาขยะ 
    
นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ยอมรับว่าเตาเผาขยะที่ใช้งานมานาน 10 ปี ชำรุดเสียหายใช้งานไม่ได้ ทำให้มีขยะตกค้างจำนวนมาก จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการทยอยฝังกลบ ส่วนการซ่อมแซมเตาเผาขยะอยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณ 60 ล้านบาทเพื่อเปิดประมูลต่อไป
    
ขณะเดียวกัน นายสุรพงษ์ วิริยานนท์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ก็ระบุถึงปริมาณขยะตกค้างว่ามีมากถึง 15,000 ตัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เตาเผาขยะเกาะสมุยมีอายุการใช้งานสั้นลงคือ การขาดจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ และนำขยะเปียกเข้าสู่เตาเผาขยะ พร้อมกับยอมรับว่า การใช้เตาเผาขยะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเกาะสมุยอีกต่อไปแล้ว ซึ่งการสร้างเตาเผาขยะเพื่อกำจัดขยะบนเกาะสมุยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นสิ่งที่ทำลายจิตสำนึกการดูแลสิ่งแวดล้อมของคนเกาะสมุย เพราะทำให้ขยะทุกส่วนถูกโยนเข้าเตาเผา ซึ่งทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่การหารือร่วมกันจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งแปรรูปขยะเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ต้องนำเข้าเตาเผาทั้งหมด
   
เอกสาร : เอกสารเผยแพร่ GREENPEACE “ปกป้องสมุยจากมหันตภัยไดออกซิน”
             : “ชาวสมุยปิดถนนทางเข้า-ออกเตาเผาขยะ หลังทนกลิ่นน้ำเน่าจากเตาเผาขยะมากว่า 2 ปี” ผู้จัดการออนไลน์, 18 กันยายน 2553