โคบอลต์ 60 แผ่รังสี

โคบอลต์ 60 แผ่รังสี 

   
มกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2543 สังคมไทยได้สัมผัสความน่ากลัวของสารกัมมันตภาพรังสีเป็นครั้งแรก เมื่อแท่งโคบอลต์ 60 หลุดรอดออกจากสถานที่จัดเก็บของบริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด และเกิดการรั่วไหลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและพิการจำนวนมาก
    
ความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการและควบคุมสารกัมมันตภาพรังสีของหน่วยงานรัฐ จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยตระหนักและเข้าใจถึงอันตรายจากสารกัมมันตภาพรังสีมากยิ่งขึ้น

กรณี:  โคบอลต์ 60 แผ่รังสี 

สถานที่: ร้านรับซื้อของเก่าสมจิตร ซ.วัดมหาวงศ์ จ.สมุทรปราการ

ความเสียหาย: มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 10 ราย (บางรายพิการ ขณะที่หญิงมีครรภ์บางรายต้องทำแท้ง เพราะตรวจเลือดพบความผิดปกติ) และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน

ช่วงเวลา: มกราคม - กุมภาพันธ์ 2543

เหตุการณ์: ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2543 กลุ่มผู้รับซื้อของเก่าหรือซาเล้ง ได้นำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ 60 ซึ่งมีสเตนเลสและตะกั่วห่อหุ้ม ออกจากลานจอดรถรกร้างของบริษัท กมลสุโกศลฯ ซึ่งตั้งอยู่ในซอยอ่อนนุช เขตประเวศ และนำไปขายให้แก่ร้านรับซื้อของเก่าชื่อสมจิตร ในซอยวัดมหาวงศ์ จ.สมุทรปราการ 
    
ต่อมาทางร้านได้แยกชิ้นส่วนสเตนเลสและตะกั่วออกมาได้ เหลือเพียงสารโคบอลต์ 60 ในแท่งโลหะทรงกระบอกเล็กๆ ถูกทิ้งไว้ในโกดังของร้าน โดยไม่ทราบว่ามีการแผ่กัมมันตภาพรังสีออกมาตลอดเวลา
    
จนกระทั่งวันที่ 16 - 17 กุมภาพันธ์ คนงานในร้านสมจิตร 2 คน ที่ร่วมกันแยกชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสีดังกล่าว มีอาการผิวคล้ำ ปากเปื่อย ผมร่วง มือบวมพอง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย จนต้องนำส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ และตรวจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ 
    
แพทย์สงสัยว่าได้รับสารกัมมันตภาพรังสี จึงได้รายงานกระทรวงสาธารณสุขและแจ้งต่อสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) เพื่อเก็บกู้สารโคบอลต์ 60 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์
    
ผลจากการตรวจสอบทำให้ทราบว่า เครื่องฉายรังสีดังกล่าวเดิมเป็นของโรงพยาบาลรามาธิบดี และเมื่อใช้งานจนเสื่อมสภาพก็ได้ซื้อเครื่องใหม่จากบริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด พร้อมกับขายเครื่องเก่าคืนให้ด้วย ก่อนขนย้ายมาเก็บไว้ในโรงจอดรถร้างของบริษัทซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และไม่ได้แจ้งให้กับ พป. ทราบ
    
เมื่อแน่ชัดว่ามีผู้ป่วยจากสารกัมมันตภาพรังสี กระทรวงสาธารณสุขจึงแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการรักษาผู้ได้รับผลกระทบ และพบว่ามีผู้ป่วยหนัก 10 ราย ซึ่งเป็นซาเล้งและคนงานในร้านสมจิตร ต่อมาคนกลุ่มนี้เสียชีวิต 3 ราย ที่เหลือก็พิการ ถูกตัดแขนและนิ้ว ขณะที่กลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียงกับร้านสมจิตรถูกตรวจเลือดและพบว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำผิดปกติ จนทำให้หญิงมีครรภ์ 1 รายต้องทำแท้ง
    
เมื่อพบว่าการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากแท่งโคบอลต์ 60 ร้ายแรงกว่าที่คาดคิด แรงกดดันจึงพุ่งไปยังหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะความรับผิดชอบของ พป. ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก และมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุกัมมันตรังสี รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้สารรังสี ทั้งการใช้ จัดเก็บ และสถานที่เก็บ
  
 ทำให้ พป. แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท กมลสุโกศลฯ ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 มาตรา 12 และ 13 ระบุความผิดรวม 3 ข้อหาคือ 

    1.ไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่เก็บต้นกำเนิดรังสี
    2. ไม่ได้จัดเก็บต้นกำเนิดรังสีให้ถูกต้องปลอดภัย โดยจัดเก็บในลักษณะประมาทเลินเล่อ ทำให้เสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
    3. เมื่อต้นกำเนิดรังสีสูญหายแล้ว ไม่แจ้งให้ พป. ทราบเพื่อดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉินทางรังสี และเพื่อป้องกันอันตรายกับประชาชนโดยทั่วไป
    
อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับเพียงข้อหาที่ 1 และไม่ยอมรับว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ทั้งยังแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์กับกลุ่มซาเล้งที่ไปขโมยเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ 60 ของบริษัทออกมาจากสถานที่จัดเก็บ
    
ส่วนการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัทแบ่งเกณฑ์การช่วยเหลือออกเป็น 2 กลุ่มคือ ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ละแวกที่เกิดเหตุ บริษัทยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งหมดโดยไม่มีข้อแม้ ส่วนกลุ่มซาเล้งและคนงานร้านสมจิตรได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง แต่ต่อมาบริษัทก็ได้มอบเงินให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแก่กลุ่มซาเล้งและคนงานร้านสมจิตรรวม 10 รายๆ ละ 10,000 บาท และช่วยจัดงานศพให้แก่ผู้เสียชีวิต โดยระบุว่าเพื่อมนุษยธรรม พร้อมอ้างว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย เพราะเป็นผู้ไม่สุจริต
    
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้เข้าขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในการต่อสู้คดีฟ้องร้องบริษัทกมลสุโกศลฯ และ พป. เพื่อให้จ่ายค่าชดเชยความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และให้รับผิดชอบด้านสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะ พป. นั้น กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบยืนยันให้จ่ายค่าชดเชย 36,669,450 ล้านบาท ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐซึ่งต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
    
27 กันยายน 2545 ศาลปกครองก็มีคำพิพากษาว่า พป.มีความผิดจริง และให้จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย 12 คน รวมเป็นเงิน 5,222,301 บาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ พป.จ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นเงินรวม 12,676,942 บาทพร้อมดอกเบี้ย 
    
ปัจจุบัน ทั้งการเจ็บป่วยและการฟ้องร้องจากเหตุการณ์สารกัมมันตภาพรังสีโคบอลต์ 60 รั่วไหล ยังคงไม่จบสิ้น และกลายเป็นเหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานของรัฐยังคงไร้ประสิทธิภาพที่จะควบคุมหรือรับมือกับอุบัติภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากสารกัมมันตภาพรังสีได้เลย และกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงทุกครั้งที่มีความพยายามผลักดันโครงการใดก็ตามที่มีสารกัมมันตภาพรังสีเข้ามาเกี่ยวข้อง

เอกสาร : สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2542-43 มูลนิธิโลกสีเขียว หัวข้อโคบอลต์-60 แผ่รังสี หน้า 386-389
             : สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2544-45 มูลนิธิโลกสีเขียว หัวข้อผลการเรียกร้องกรณีโคบอลต์-60 หน้า 375-376
             : สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2548 มูลนิธิโลกสีเขียว หัวข้อความคืบหน้าคดีโคบอลต์ หน้า 352
             : อุบัติภัยทางรังสี กรณีโคบอลต์-60 กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต (AEPS) โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)