ขยะ (อุตสาหกรรม) ที่ (สังคม) แขยง (2 เม.ย. 57)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 2 เมษายน 2557
ขยะ (อุตสาหกรรม) ที่ (สังคม) แขยง
คอลัมน์ CSR Talk โดย วรณัฐ เพียรธรรม สถาบันไทยพัฒน์
จากกรณีเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันปกคลุมรัศมีกว่า 20 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ และพื้นที่กรุงเทพมหานครบางส่วน โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบบ่อขยะพบว่ามีการปนเปื้อนของสารพิษในอากาศปริมาณที่สูงมาก จนทำให้ต้องมีคำแนะนำให้อพยพออกจากพื้นที่ในรัศมี 1.5 กิโลเมตร
ทั้งที่บ่อขยะแห่งนี้ถูกสั่งปิดทำการมานานหลายปี แต่ยังคงมีการลักลอบนำขยะเข้าไปทิ้งอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะขยะในโรงงานย่านนิคมบางปู ที่น่าจะประกอบไปด้วยของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม
หากย้อนไปดูกรณีที่เป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาทั้งกรณีการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในดิน และตะกอนดินในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก ปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี
เหตุการณ์ลักลอบทิ้งกากของเสียที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารฟีนอลในแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินในต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และการปนเปื้อนของสารปรอทในคลองบริเวณสวนอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี ทำให้พบสารปรอทในร่างกายและในตัวอย่างปลาเกินค่ามาตรฐาน ล้วนแต่เกิดจากการทิ้งกากของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะด้วยการจงใจทำผิดกฎหมาย หรือการปล่อยปละละเลย หรือการลักลอบทิ้งจากผู้ให้บริการจัดเก็บ รวบรวม และขนส่งกากของเสียเพื่อนำไปบำบัดหรือกำจัดก็ตาม
ข้อมูลสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2556 จากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ของเสียอันตรายร้อยละ 77 มาจากภาคอุตสาหกรรม และเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออก รองลงไปเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคกลาง (แหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ) ซึ่งจะถูกควบคุมด้วยกฎหมายและข้อบังคับของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือมีการลักลอบทิ้งกากของเสียในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ เฉพาะในปี 2556 มีมากกว่า 10 ครั้ง จนนำไปสู่การเร่งรัด ทบทวน และเพิ่มเติมมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้ง และบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย
ส่วนของเสียอันตรายอีกร้อยละ 23 มาจากชุมชน แบ่งเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 65 (โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป) ที่เหลือร้อยละ 35 เป็นประเภทแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี ซึ่งระบบการจัดการที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ
โดยกลุ่มหลังจะถูกทิ้งปนไปกับขยะทั่วไปส่วนกลุ่มแรกส่วนใหญ่ถูกจัดการนอกระบบ โดยจะขายให้กับร้านหรือผู้รับซื้อของเก่า ซึ่งอาจมีการถอดแยกชิ้นส่วนอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
ในอนาคตอันใกล้ การจัดการกับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นปัญหาใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้คนทิ้งและซื้อของใหม่ ระบบการเก็บ หรือเรียกคืนผลิตภัณฑ์เดิมที่เป็นความรับผิดชอบของผู้ขายสินค้าเหล่านี้ยังไม่มี และกลายเป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่มีสถานที่กำจัดอย่างถูกต้อง
ส่วนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3Rs ที่ต้องการให้เกิดการคัดแยกและนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ (Recycle) ในปี 2556 มีทั้งหมด 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ซึ่งนับว่าน้อยมาก
นอกจากนี้ ปริมาณขยะมูลฝอยสะสมทั้งประเทศในปี 2556 พบว่ามีจำนวนสูงถึง 19.9 ล้านตัน ซึ่งจะเท่ากับการนำตึกใบหยก 2 จำนวน 103 ตึก มาเรียงต่อกัน วิกฤตปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข
สำหรับโจทย์ของภาคธุรกิจคงไม่ต้องศึกษากันมากแล้ว เพราะร้อยละ 77 ของปริมาณของเสียอันตรายมาจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก็เห็นกันอยู่ว่ามีการลักลอบทิ้งอย่างผิดกฎหมาย จนก่อให้เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเมื่อปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของโรงงานต่าง ๆ จึงต้องดำเนินการเรื่องขยะ (อุตสาหกรรม) ที่ (สังคม) แขยง ให้เป็นวาระหลักขององค์กร ก่อนที่สังคมจะหันมาแขยงหรือรังเกียจกิจการ เหมือนกับขยะหรือสิ่งสกปรกในสังคม