กฎหมาย PRTR เตรียมเข้าสภาฯ เปิดข้อมูลมลพิษ (29 ม.ค. 67)

ไทยโพสต์, 29 มกราคม 2567 (คลิกเพื่อไปยังข่าวต้นฉบับ)

กฎหมาย PRTR เตรียมเข้าสภาฯ เปิดข้อมูลมลพิษ

 

 

ร่าง พรบ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. … หรือ ที่เรียกว่า “กฎหมาย PRTR” จ่อคิวเข้าสภาผู้แทนราษฎรเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนหน้านี้ หลากหลายองค์กรทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาชนต่างพยายามขับเคลื่อนกฎหมาย PRTR ในแบบฉบับของแต่ละส่วนมาอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การเปิดเวทีเสวนา “สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องมีกฎหมาย PRTR” จัดโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อวันก่อน  เพื่อส่งเสียงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศต้องมีร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ กฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register)

 

กฎหมาย PRTR คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะทำให้ประชาชนรู้ทั้งชนิดและปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมา และยังทำให้รัฐกำกับและควบคุมการปล่อยมลพิษตั้งแต่แหล่งกำเนิด รวมถึงการกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล โดยให้ฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ทันต่อเหตุการณ์

 

ล่าสุด ร่างกฎหมาย PRTR  ภาคประชาชน มีประชาชนกว่า 10,461 รายชื่อ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย PRTR มีกำหนดยื่นร่างกม. ภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ 

 

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เหตุอุบัติสารเคมีเกิดขึ้นปีละหลายครั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้สารเคมีปริมาณมาก ล่าสุดโรงงานพลุระเบิดที่สุพรรณบุรี ซึ่งเกี่ยวพันกับกฎหมาย PRTR ซึ่งเป็นทั้งกลไกและกฎหมาย ความสำคัญของกฎหมาย PRTR สหประชาชาติชูการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิทธิของประชนในการอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะลดการปล่อยมลพิษและจัดการสารเคมีที่ดีขึ้น ซึ่ง PRTR เป็นกฎหมายนำไปสู่ทิศทางนั้นได้ เป็นกฎหมายชี้เฉพาะที่มุ่งเป้าสู่การจัดการมลพิษอุตสาหกรรมและการปล่อยมลพิษในแหล่งกำเนิดต่างๆ

 

ในประเทศไทยเมื่อครั้งรัฐบาลจะแก้ปัญหามลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นเขตมลพิษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พยายามนำร่องที่ระยองตั้งแต่ปี 42 แต่ไม่สำเร็จ 10 ปีต่อมา ริเริ่มอีกครั้งเมื่อภาคประชาชนฟ้องคดีขยายโรงงานปิโตรเคมี 76 โครงการ มีผลให้โครงการลงทุนชะงัก ญี่ปุ่นเสนอกฎหมาย PRTR เพื่อแก้ปัญหา ก็ไม่สำเร็จ  ซึ่งปัญหามลพิษ อุบัติภัยสารเคมี และฝุ่น PM2.5 สามารถแก้ได้ ถ้ามีกฎหมาย PRTR  จีนแก้ PM2.5 ที่ปักกิ่งและเมืองต่างๆ โดยใช้กลไก PRTR

 

เพ็ญโฉมระบุร่าง กม.  PRTR ยืนอยู่บนหลัก 3 ข้อใหญ่ ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาระบบ เปิดเผยข้อมูลการจัดเก็บ การปล่อยมลพิษสู่สาธารณะ เปิดเผยชื่อสารเคมี  ที่ตั้ง พิกัด  ชนิดกิจการรายโรง ไม่ต้องกังวลกระทบความลับทางการค้าทางธุรกิจ และกฎหมายนี้จะทำให้การจัดการและเฝ้าระวังโดยชุนชน ภาครัฐ  ผู้ประกอบการเอกชนก็ได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ภาครัฐมีแนวโน้มเห็นด้วยกับ PRTR แต่จะใช้วิธีออกเป็นประกาศกระทรวงแทน ซึ่งเป็นแค่เศษเดียวของ PRTR  และเลือกปฏิบัติกับอุตสาหกรรมบางประเภท แล้วใช้คำว่า “Eco Industry “

 

“ 2 ปีก่อนพรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมาย PRTR เข้าสภาฯ   แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขณะนั้นตีตกเพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายการเงิน วันที่ 13 ธ.ค. 2566 พรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมาย PRTR อีกครั้ง ส่วนร่างกฎหมาย PRTR ฉบับร่างภาคประชาชนจะปิดการลงชื่อสนับสนุนสิ้นเดือนมกราคมนี้ แล้วรวบรวมรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อสภาฯ เป็นครั้งที่ 2   กฎหมาย PRTR  เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมแย่คนอยู่ไม่ได้ เป็นความมั่นคงของประเทศรูปแบบหนึ่ง คนจะไม่ต่อต้านการลงทุน ไม่ต่อต้านโรงงาน และระยะยาวจะอยู่ร่วมกันโดยขัดแย้งน้อยลง ทุกพรรคการเมืองควรให้ความสำคัญหรือจะทำร่างกฎหมายขึ้นมาแข่งก็ได้ แล้วมาดูร่างไหนจะผสมผสานออกมาเป็นร่างที่ดีที่สุด เราอยากให้ร่างกฎหมายออกมาเร็วที่สุด แต่คิดว่าเป็นไปได้ช้าหากมองวิสัยทัศน์รัฐบาลชุดนี้ แต่เชื่อจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน หวังภายในปีนี้จะมีสัญญาณดี และมีกฎหมายใช้ภายใน 2 ปี   “ เพ็ญโฉม กล่าว

 

 

ด้าน สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน  กล่าวว่า ปัจจุบันในบ้านเรามีกฎหมายหลายฉบับได้รับรองเรื่องของสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี แต่สิทธิยังถูกละเมิดบ่อยๆ เพราะต้องมีกลไกคุ้มครอง หนึ่งในนั้น PRTR ที่ผ่านมา เราไม่เคยรู้กิจการที่ตั้งตามสถานที่ต่างๆ มีสารเคมีอันตรายใดบ้างและจะถูกปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างไร มีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพอย่างไร ที่ผ่านมา ประชาชนอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับมาโดยตลอด รวมถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ สาธารณสุข ก็ตั้งรับ เหตุการณ์แก๊สรั่วโรงงานระเบิด ประชาชนวิ่งมาโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลไม่ได้รับการแจ้งเหตุ ไม่รู้ว่าสารอะไรรั่ว หมอต้องสันนิษฐานเอง โรงงานอะไร และน่าจะมีสารเคมีอะไร แล้วให้ยาต้านสารพิษไปก่อน

 

“  ดังนั้น PRTR ไม่ใช่แค่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลแล้วตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยปลอดภัยจากความเสี่ยง แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ข้อมูลนี้วางแผนรับมือกับความเสี่ยงได้  มลพิษสิ่งแวดล้อมการรับมือความเสี่ยง ไม่สามารถทำได้โดยภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง ภาควิชาการ หน่วยงานรัฐ ชาวบ้านรู้ข้อมูล นำมาสู่การออกแบบดูแลและเฝ้าระวังตรวจสอบความเสี่ยงโดยชุมชนในพื้นที่ กฎหมาย PRTR ไม่ได้พูดถึงการขัดขวางการลงทุน แต่พูดถึงการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ที่ผ่านมา เราปล่อยให้มีการลงทุนประกอบการที่มีความเสี่ยง แต่กลับผลักภาระความเสี่ยงไปสู่สาธารณะ เกิดมลพิษทางอากาศ ปล่อยมลพิษลงดินลงน้ำ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร “ สมพร กล่าว

 

 

Georgina LOYD ผู้ประสานงานระดับภูมิภาค ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแล จาก UNEP Asia Pacific  กล่าวว่า กฎหมาย PRTR มีการบังคับใช้แล้วใน 30 ประเทศ 2 ปีที่ผ่านมา มีมติสหประชาชาติให้เห็นความสำคัญสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมสะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน สาระสำคัญอากาศสะอาด สภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัย ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีต่อสุขภาพ น้ำสะอาด อาหารปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลและความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม  การมี PRTR คือ การมีฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับดิน น้ำ อากาศ จะเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลให้ประชาชน

3 เหตุผลที่ต้องมี กม. PRTR นั้น  Georgina LOYD กล่าวว่า  1. มลพิษจากอากาศ น้ำ และดิน ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 9 ล้านคนทั่วโลก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณล้านล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศไทยมีรายงานถ้ามีนโยบายแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ดีจะทำให้เราไม่เกิดการสูญเสียหรือว่าการตายก่อนวัยอันควร 17,000 ราย แต่ถ้ายังไม่ทำอะไรภายในปี 2030 จะเกิดมูลค่าความเสียหายกว่า 2% ของ GDP ของประเทศ และความเสียหายประมาณ 12,500 ดอลลาร์ใน 7 ปีข้างหน้า  2. ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นกับคนที่มีฐานะทางเศรฐกิจที่ด้อยกว่า เป็นความไม่เท่าเทียม ซึ่งคนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ถ้าไม่มีกฎหมาย PRTR  3.  การมี PRTR จะทำให้คนตัวเล็กๆ เข้าถึงข้อมูล และรู้ว่าจะมีส่วนร่วมอย่างไร จะทำให้ระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทำงานได้สมบูรณ์ขึ้น

“ กฎหมาย PRTR ไม่ได้ช่วยเพียงให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถตัดสินใจได้รอบคอบมากขึ้น และช่วยให้เกิดการพูดคุยด้านนี้มากขึ้น ประเทศไทยจะสามารถก้าวไปสู่จุดหมายที่ทั่วโลกมุ่งหวัง เช่น มีข้อตกลงระดับโลกด้านเคมี ถ้ามีกฎหมาย PRTR จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย” Georgina LOYD กล่าว

 

 

เสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัย “หมิงตี้เคมีคอล” เปรมิกา บูลกุล กล่าวว่า เดิมอยู่กรุงเทพฯ เพิ่งย้ายไปอยู่หมู่บ้านใหม่ที่ จ.สมุทรปราการ ต้องการสร้างครอบครัว เราหาข้อมูลราคา ทำเล อาหารการกิน โดยไม่นึกถึงโรงงาน ระหว่างตกแต่งต่อเติมบ้านเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นมา คืนนั้นเสียงระเบิดดังลั่น กระจกแตก ประตูบ้านหายไปหมด บ้านทุกหลังกระจกแตกหมด แต่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มาเช็คในแอปของหมู่บ้านและเช็คข่าว จึงรู้ว่าโรงงานระเบิดอย่างรุนแรง เช้ารุ่งขึ้นโยกย้ายไปอยู่บ้านชั่วคราวในตัวเมือง จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ย้ายกลับเข้ามา เพราะห่วงทรัพย์สิน เมื่อกลับเข้ามาดูมีอาการผื่นขึ้น แสบจมูกต้องใส่แมสตลอดเวลา มีปัญหาในการใช้ชีวิต บ้านอยู่ห่างจากโรงงาน 1.1 กิโลเมตร มีการซ่อมแซมบ้าน มีค่าใช้จ่ายที่ประกันไม่ครอบคลุม ก็เยียวยาจิตใจกันไป 3 เดือนถัดมามีไฟไหม้โรงงานโรงเท้า รู้สึกกังวล ไม่ปลอดภัย อยากย้าย ขายบ้านก็ยาก ยังขยับขยายไม่ได้ ยังเป็นเพื่อนบ้านกับซากหมิงตี้ ประชาชนควรมีสิทธิที่จะรับทราบว่า ข้อมูลมลพิษจากกฎหมาย PRTR

 

 

ภาพถ่ายโดย TSEJ