ความอันตรายของพลุอยู่ที่สารเคมี อันตรายที่สุดของสารเคมีอยู่ที่ความไม่รู้
เหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิดในเขต อ. เมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา นอกจากจะทำลายอาคารสถานที่จนแทบไม่เหลือซาก ยังคร่าชีวิตเจ้าของโรงงานและคนทำงานแบบฉับพลันทันทีไปถึง 23 คน บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในรัศมี 300 เมตรโดยรอบ พลอยได้รับความเสียหายไปด้วยเป็นจำนวนหลายหลัง
ยังดีที่ตัวโรงงานตั้งอยู่กลางทุ่งนา ไม่ใช่กลางย่านชุมชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะจำกัดวงไปตามสภาพ แต่ความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็นับว่าร้ายแรงมิใช่น้อย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเพราะอานุภาพของสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลุ นั่นเอง
พลุหรือดอกไม้ไฟนั้น เป็นสิ่งที่นิยมใช้เสริมสีสันในเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ อย่างแพร่หลายในแทบทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นวัสดุที่เมื่อถูกเผาไหม้จะก่อให้เกิดเสียง สี และแสงสวยงาม วัตถุระเบิดจึงเป็นส่วนประกอบหลักของพลุหรือดอกไม้ไฟ โดยเป็นทั้งตัวให้เสียงและทำให้จุดไฟติด นอกจากนั้นยังมีสารเคมีที่ให้แสงและสีต่างๆ
ส่วนประกอบสำคัญของพลุหรือดอกไม้ไฟอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือ
1. สารเคมีที่ให้ออกซิเจนหรือ Oxidizing agent สารเคมีประเภทนี้จะทำหน้าที่เพิ่มปริมาณออกซิเจนเพื่อเร่งปฏิกิริยาการจุดระเบิดของพลุหรือดอกไม้ไฟ จึงเป็นสารที่ต้องมีคุณสมบัติปลดปล่อยออกซิเจนเมื่อได้รับความร้อน เช่น โพแตสเซียมไนเตรทหรือดินประสิว (KNO3) โพแตสเซียมคลอเรต (KClO3) โพแตสเซียมเปอร์คลอเรต (KClO4) และแอมโมเนียมคลอเรต (NH4 ClO3) เป็นต้น
2. สารเคมีที่เป็นเชื้อเพลิง หรือช่วยให้เกิดการเผาไหม้ได้โดยง่าย ซึ่งต้องมีคุณสมบัติในการเผาไหม้โดยใช้ออกซิเจนต่ำ สามารถทำปฏิกิริยาได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับสารให้ออกซิเจน มีความเสถียรที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ไม่ทำปฏิกิริยากับกรด และไม่ดูดความชื้น เช่น ถ่าน, กำมะถันหรือซัลเฟอร์ (sulfur), สังกะสี, แป้ง, แมกนีเซียม, ผงคาร์บอเนต และ ผงอลูมิเนียม เป็นต้น
3. สารเคมีที่เป็นตัวกำเนิดสี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารประกอบเกลือของโลหะต่างๆ โดยเมื่อสารประกอบเหล่านี้ได้รับแรงระเบิดจนกลายเป็นไอ ก็จะเกิดเป็นแสงและสีที่แตกต่างกันไป เช่น สีแดงจากสตรอนเซียมไนเตรต (Sr(NO3)2), สีเขียวจากแบเรียมไนเตรต (Ba(NO3)2), สีน้ำเงินจากคอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4), สีเหลืองจากโซเดียมออกซาเลต (Na2C2O4) และสีส้มจากแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เป็นต้น
นอกจากสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบหลักทั้ง 3 ประเภท ยังมีสารที่ช่วยในการเกาะตัวของส่วนผสมสำหรับทำพลุหรือดอกไม้ไฟ เช่น แป้ง น้ำตาล หรือเซลแล็ก เป็นต้น
แน่นอนว่า สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตพลุและดอกไม้ไฟหลายชนิดจัดเป็นสารที่มีความอันตรายต่อมนุษย์ โดยเฉพาะสารโพแตสเซียมไนเตรทหรือดินประสิว (KNO3) และโพแตสเซียมคลอเรท ที่จัดเป็นวัตถุไวไฟหรืออาจทำให้เกิดการติดไฟได้โดยง่าย จึงมีข้อบ่งใช้สำคัญคือ ห้ามนำเข้าใกล้เปลวไฟ ความร้อน ห้ามมีการเสียดสี หรือการกระแทก
อย่างไรก็ตาม ด้วยอานุภาพหรือการแสดงออกหลักๆ ที่เป็นลักษณะของการระเบิดทำลายล้าง จึงทำให้อันตรายของสารเคมีประเภทนี้เป็นที่รับรู้ มองเห็น และสัมผัสได้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา กล่าวคือมีทั้งเสียงและภาพความรุนแรงให้เห็นชัด
แต่หากเป็นอานุภาพในเชิงอื่นๆ ก็จะสัมผัสรับรู้ได้ยากกว่า ทั้งๆ ที่อันตรายหรือพิษภัยมิได้ร้ายแรงน้อยกว่าเลย ยกตัวอย่าง แม้แต่ในกลุ่มของสารระเบิดก็ยังสามารถก่อผลร้ายต่อสุขภาพในลักษณะอื่นๆ เช่น หากใครสัมผัสกับฝุ่นของสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจ ก็จะเกิดอาการไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ชัก หมดสติ หากสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้มีผื่นแดง หากสัมผัสทางตาจะเกิดความเจ็บปวดที่ดวงตา และหากรับประทานเข้าไปจะทำให้อาเจียน อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตต่ำ
แท้ที่จริงแล้ว พิษภัยที่อันตรายที่สุดของสารเคมีจึงเป็นพิษภัยลักษณะซ่อนเร้น ซึ่งการจะรับรู้หรือเข้าใจได้ จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้หลายด้าน แต่เหนืออื่นใด เราจำเป็นต้องตั้งต้นด้วยการมีข้อมูลเกี่ยวกับบ่อเกิดของความอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ก่อน นั่นคือ ต้องมีข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ว่า สารเคมีอะไรถูกผลิตขึ้นหรือเก็บไว้ที่ไหน มีปริมาณเท่าไร หรือถ้ามีการขนส่ง เป็นการขนย้ายสารอะไร ปริมาณเท่าไร จากที่ใดไปยังที่ใด อย่างไร
ระบบฐานข้อมูลลักษณะดังกล่าวต้องได้รับการจัดทำขึ้นมา แล้วเปิดเผยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและสาธารณะเข้าถึงได้ จากนั้นระบบการตระหนักรู้และเท่าทันจึงจะมีโอกาสก่อรูปขึ้นมา ซึ่ง...สิ่งนี้จะเกิดขึ้นต้องเริ่มด้วยการมีกฎหมาย PRTR !
ขณะนี้ยังทันที่จะร่วมลงชื่อผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ >> https://thaiprtr.com