เอกสารแถลงข่าว: สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องมีกฎหมาย PRTR (23 ม.ค. 67)
สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องมีกฎหมาย PRTR
กรุงเทพฯ , 23 มกราคม 2567 - มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดงานเสวนาในหัวข้อ “สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องมีกฎหมาย PRTR” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อสื่อสารให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ประเทศต้องมีกฎหมาย PRTR (กฎหมายเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ) เพราะการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน ตามที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ได้ลงมติเห็นชอบและประกาศไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ว่าสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี คือสิทธิมนุษยชน งานเสวนาในวันนี้มีคุณ Georgina LOYD ผู้ประสานงานระดับภูมิภาค ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแล ซึ่งเป็นตัวแทนจาก UNEP Asia Pacific ร่วมพูดคุยในประเด็นเรื่องสิทธิของประชนในการอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย
กฎหมาย PRTR คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) จะทำให้ประชาชนรู้ทั้งชนิดและปริมาณสารเคมีที่ปล่อยออกมา และยังทำให้รัฐกำกับและควบคุมการปล่อยมลพิษตั้งแต่แหล่งกำเนิด ซึ่งรวมถึงการกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลโดยให้ฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้
ปัจจุบันประชาชนกว่า 10,461 รายชื่อ ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย PRTR นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เดินทางไปที่สัปปายะสภาสถาน เพื่อยื่นริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ต่อประธานสภา-ผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการรวบรายชื่อ ในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า
“หลายครั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ จากภาคการจราจร เรามักมีคำถามเสมอว่าแล้วฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีจริง ๆ เท่าไหร่ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ ด้วยความสงสัยว่าฝุ่นมันมาจากภาคการจราจรเยอะจริงหรือ เราได้ทำการวิจัยแหล่งที่มาของฝุ่นในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และพบข้อมูลที่น่าตกใจว่ากว่าร้อยละ 98 ของฝุ่นในจังหวัดสมุทรสาครมาจากการที่อุตสาหกรรมที่ขาดฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษ ทำให้เห็นว่ารัฐกำลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด”
สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน กล่าวว่า
“กฎหมาย PRTR จะทำให้ประชาชน ชุมชน รู้เท่าทันมลพิษสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังความเสี่ยงและตัดสินใจรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที”
เปรมิกา บูลกุล ผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัย “หมิงตี้เคมีคอล” กล่าวว่า
“ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุบัติภัย หมิงตี้เคมีคอล เพราะเพิ่งย้ายเข้าบ้านที่ซื้อใหม่ซึ่งอยู่ในรัศมีของโรงงานหมิงตี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ดิฉันทราบเลยว่ากฎหมาย PRTR เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที หรืออาจทำให้ดิฉันคัดค้านการตัดสินใจของแฟน โดยไม่เลือกซื้อบ้านหลังดังกล่าวเสียตั้งแต่ทีแรกเลยก็เป็นได้ แต่ในสถานการณ์จริง ดิฉันไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ว่าบริเวณไหนเป็นสถานที่ตั้งโรงงานใดบ้าง และแต่ละโรงงานอยู่ห่างจากสถานที่พักอาศัยมากน้อยเพียงไร ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่ดิฉันพร้อมทั้งแฟนและเพื่อนบ้าน ได้ย้ายกลับเข้ามาซ่อมแซมบ้านด้วยงบประมาณส่วนหนึ่งจากประกันบ้านและงบประมาณส่วนตัว หลังเหตุการณ์หมิงตี้ผ่านไปครบ 1 สัปดาห์ พวกเราต่างพบว่าตัวเองมีอาการผื่นขึ้น แสบคอ แสบตาและจมูกเป็นอย่างมาก โดยที่ไม่รู้เลยว่าอาการป่วยดังกล่าวจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวจากผลกระทบของอุบัติภัยหมิงตี้หรือไม่”
ประชาชนทั่วไปยังสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ได้ที่ www.thaiprtr.com จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 โดยหลังจากนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคม ขอเชิญชวนประชาชนที่ร่วมแสดงพลังการสนับสนุนกฎหมาย PRTR โดยร่วมกันนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อรัฐสภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
สามารถดู ร่างกฎหมาย PRTR ฉบับเต็ม (คลิกเพื่อดาวน์โหลด) ได้ที่
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย
โทร: 081 929 5747 อีเมล: spanasud@greenpeace.org