ชาวบ้านร้องแม่น้ำพองกลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ วอนหน่วยงานเร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 22 เมษายน 2566
 

ชาวบ้านร้องแม่น้ำพองกลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ วอนหน่วยงานเร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

 

(22 เมษายน) ชาวบ้านในพื้นที่ อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น ได้ถ่ายภาพและคลิปวิดีโอแม่น้ำพองบริเวณโรงสูบน้ำประปาภูมิภาค ที่บ้านคำบอน ต. โคกสูง อ. อุบลรัตน์ จ. ขอนแก่น โดยในคลิปวิดีโอที่ถ่ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ระบุว่า ขณะนี้น้ำในลำน้ำพองดำมาก และมีปลาโผล่ขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ในขณะที่น้ำส่งกลิ่นเหม็นคาว สภาพปัญหานี้ยังพบได้ในบึงโจด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่เชื่อมกับแม่น้ำพองเช่นกัน จากการสอบถามเพิ่มเติมพบว่า น้ำในแม่น้ำพองเริ่มมีสีดำตั้งแต่ช่วงวันหยุดสงกรานต์เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ยังไม่ดีขึ้น

 

สมจิตร ศรีลาโพธิ์ สมาชิกเครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำพอง และหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์พลเมืองในพื้นที่ อ. น้ำพอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่น้ำพองมีสีดำจะพบว่าชาวบ้านจับปลาเนื้ออ่อนและกุ้งตัวใหญ่ได้มากขึ้น ปกติสัตว์สองชนิดนี้จะไม่ค่อยโผล่มาใกล้ผิวน้ำ โดยเฉพาะปลาเนื้ออ่อนจะอยู่บริเวณก้นบึ้งของลำน้ำ ชาวบ้านบางส่วนจึงตั้งข้อสงสัยว่า ปลาต้องขึ้นมาใกล้ผิวน้ำเพราะปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงหรือไม่ ความผิดปกติในการปรากฏตัวของปลาซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่แม่น้ำพองมีสีดำเป็นประเด็นที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบตรวจสอบเพื่อความสบายใจของชาวบ้าน ทั้งนี้ในเบื้องต้น ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษภาคที่ 10 ได้ลงพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจแล้ว
 

ด้าน มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ซึ่งได้ติดตามปัญหามลพิษในแม่น้ำพองมานานระบุว่า ปัญหามลพิษในแม่น้ำพองเริ่มเกิดมาตั้งแต่ช่วงปี 2529 และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเพราะในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานเหล้า โรงไฟฟ้า ฯลฯ ทั้งนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศเคยร่วมกับสมาคมอาร์นิก้า องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจากสาธารณรัฐเช็ก ในการตรวจสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และพบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักหลายชนิด รวมไปถึงสารมลพิษตกค้างยาวนาน ในส่วนของปัญหาน้ำในแม่น้ำพองกลายเป็นสีดำก็เคยเกิดมาแล้ว เช่นในปี 2563 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหามลพิษในพื้นที่ยังเรื้อรัง

 

“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่มีหน้าที่การรักษาคุณภาพของน้ำในแม่น้ำพองเร่งตรวจสอบปัญหานี้ ลงพื้นที่มาดูสถานการณ์ เร่งแก้ไขปัญหาและสื่อสารกับประชาชน” สมจิตรกล่าวทิ้งท้าย
 

อ่านงานศึกษาของ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และสมาคมอาร์นิก้า (Arnika Association) ได้ในลิงค์ด้านล่าง:
 

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และสมาคมอาร์นิก้า, “ผลกระทบของโลหะหนัก ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมฯ รายงานผลการศึกษาโลหะหนักในตะกอนดินในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 8 จังหวัดของประเทศไทย”, เมษายน 2561. https://www.earththailand.org/th/document/145

 

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และสมาคมอาร์นิก้า, “ไข่ไก่ ตัวชี้วัดการปนเปื้อนสารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) ในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Chicken eggs as an indicator of POPs pollution in Thailand)”, พฤศจิกายน 2560. https://www.earththailand.org/th/document/146


 

 

ภาพ: เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำพอง