ชาวน้ำพุรวมพลัง ปลูกพืชทดลองเพื่อดูดซับสารพิษ หวังฟื้นฟูห้วยน้ำพุ
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 12 พฤษภาคม 2566
ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
ชาวน้ำพุรวมพลัง ปลูกพืชทดลองเพื่อดูดซับสารพิษ หวังฟื้นฟูห้วยน้ำพุ
วานนี้ (11 พ.ค. 66) กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ จังหวัดราชบุรี และประชาชนในตำบลน้ำพุ ผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการรีไซเคิลของเสียอันตรายของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมทำกิจกรรมพึ่งตนเอง ด้วยการทำแปลงทดลองปลูกพืชดูดซับสารพิษเพื่อฟื้นฟูลำห้วยน้ำพุ หลังจากรอมานานเกือบ 3 ปี แต่ยังไม่มีการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วย แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อม ตามที่ศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพที่ปลอดภัย และดำเนินการกับบริษัทผู้ก่อมลพิษให้เป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ จังหวัดราชบุรี ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ และสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดกิจกรรมการทำแปลงทดลองพืชดูดซับสารพิษเพื่อฟื้นฟูลำห้วยน้ำพุ ที่หมู่ 1 ต. น้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำแปลงทดลองการใช้พืชอายุสั้นที่สามารถดูดซับสารพิษเพื่อลดการสะสมของสารพิษในลำห้วยน้ำพุ เช่น สารกลุ่มโลหะหนัก เป็นต้น โดยมี อุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานเปิดงานและนำประชาชนร่วมกันปลูกพืชท้องถิ่น เช่น เตยหอม และบัว บริเวณสองฝั่งของลำห้วยและในลำห้วยน้ำพุ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญเพื่อการเกษตรที่ปัจจุบันยังใช้ประโยชน์ไม่ได้
ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
ชาวบ้านตำบลน้ำพุได้ต่อสู้เพื่อปกป้องลำห้วยแห่งนี้และสิ่งแวดล้อมของบ้านเกิดจากการประกอบกิจการที่ไร้ความรับผิดชอบของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ มาตั้งแต่ปี 2544 จนได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่มเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ต่อมาศาลแพ่งได้ตัดสินคดีเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ให้ประชาชนหมู่ 1 ของ ต. น้ำพุ เป็นผู้ชนะคดี โดยมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองคือ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ และนายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล เจ้าของบริษัท เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแก้ไขดูแลฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่ดินของโจทก์และสมาชิกกลุ่มและคลองสาธารณประโยชน์รอบพื้นที่โรงงาน ให้กลับสู่สภาพเดิม ปราศจากกลิ่นเหม็นและสารพิษ จนกว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาและเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนแต่อย่างใด
ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ริเริ่มโดยภาคประชาชน และเป็นการสนับสนุนให้ชาวตำบลน้ำพุที่เริ่มเกิดความท้อแท้กับการรอคอยการแก้ปัญหา ได้มีกำลังใจต่อสู้ต่อไป จนกว่าพื้นที่นี้จะได้รับการแก้ไขและฟื้นฟูตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว
ธนู งามยิ่งยวด หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบและโจทก์ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่มีกิจกรรมในวันนี้ ชาวบ้านต่างก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไร แต่พอเกิดผลกระทบรุนแรงขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มมีความคิดที่อยากจะทำให้มีการแก้ไข กำจัดปัญหา และบำบัดสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม พวกเราก็จะต้องสู้กันต่อไป”
ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
อ่านเพิ่มเติม
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, "รายงานพิเศษ: "ชะตากรรม 19 ปี" ของชาว "น้ำพุ" ภายใต้กิจการ "รีไซเคิล" ของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ (12 ก.ค. 63)", เว็บไซต์มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH). 12 กรกฎาคม 2563. https://www.earththailand.org/th/new/document/170