ทำความรู้จักสามอนุสัญญานานาชาติ "บาเซล-รอตเตอร์ดัม-สตอกโฮล์ม" กับความหวังสู่อนาคตที่ปลอดภัยจากสารมลพิษ
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 10 พฤษภาคม 2566
ในช่วงยามแห่งการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญา 3 ฉบับ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะนี้ (ระหว่างวันที่ 1 – 12 พฤษภาคม) หรือที่เรียกว่า การประชุม BRS COPs (Basel-Rotterdam-Stockholm Conference of Parties) โดยที่ตัวอักษรสามตัวแรกย่อมาจากชื่ออนุสัญญา “บาเซล-รอตเตอร์ดัม-สตอกโฮล์ม”
วันนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ขอนำเสนอเกี่ยวกับอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้งสามฉบับดังกล่าว โดยจะไล่เรียงไปตามลำดับ
อนุสัญญาแรกได้แก่อนุสัญญาบาเซล หรือชื่อเต็มคือ อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movement of Hazardous Waste and Their Disposal)
อนุสัญญาฉบับนี้มุ่งเป้าควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายด้วยระบบการแจ้งล่วงหน้าและการได้รับการยินยอมโดยสมัครใจ หรือที่เรียกกันว่า PIC (Prior Informed Consent) ระบบดังกล่าวกำหนดว่า หากประเทศต้นทางต้องการจะส่งออกของเสียอันตรายไปยังประเทศปลายทาง ก็จะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับของเสียดังกล่าวให้รับทราบล่วงหน้า และประเทศปลายทางจะต้องให้ความยินยอมก่อน การส่งออกจึงจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับรองว่า ประเทศต้นทางสามารถเลือกที่จะไม่รับของเสียที่ตนไม่มีเทคโนโลยีในการกำจัด
อนุสัญญาบาเซลเปิดให้ลงนามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 มีผลบังคับใช้ในปี 2535 และในส่วนของประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อปี 2540
ต่อมาในปี 2562 ได้มีการบังคับใช้ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับการควบคุมของเสียอันตรายของอนุสัญญาฯ ด้วยการกำหนดห้ามไม่ให้ประเทศในกลุ่ม OECD สหภาพยุโรป และลิกเตนสไตน์ ส่งออกของเสียอันตรายมายังประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขนี้ กล่าวคือ เป็นการห้ามไม่ให้มีการส่งออกของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเพิ่งให้สัตยาบันต่อภาคแก้ไขของอนุสัญญานี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ดังนั้น ตลอดเวลาก่อนหน้านี้จนถึงวันที่ดังกล่าว การส่งออกของเสียอันตรายมายังประเทศไทยจึงทำได้ภายใต้ระบบ PIC
อนุสัญญารอตเตอร์ดัม หรือชื่อเต็มว่า อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (Rotterdam Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade) ก็ใช้แนวทางควบคุมการค้าขายสารเคมีอันตรายด้วยระบบ PIC เป็นมาตรการหลักเช่นเดียวกัน เนื้อหาของอนุสัญญาฉบับนี้คือการกำหนดชนิดสารเคมีที่ต้องผ่านกระบวนการ PIC ในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน แต่แตกต่างจากอนุสัญญาบาเซลตรงที่ยังไม่มีมาตรการในการห้ามส่งออกและนำเข้า
อนุสัญญารอตเตอร์ดัมเปิดให้ลงนามในปี 2541 มีผลบังคับใช้ในปี 2547 ส่วนประเทศไทยได้ให้การยอมรับอนุสัญญานี้ตั้งแต่ปี 2545
สำหรับอนุสัญญาสตอกโฮล์ม หรือชื่อเต็มคืออนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) เป้าหมายของอนุสัญญานี้เป็นไปตามชื่อ นั่นคือ มุ่งควบคุมกลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนานหรือ POPs (Persistent Organic Pollutants) ซึ่งเป็นกลุ่มมลสารที่มีความเป็นพิษร้ายแรง ทั้งยังมีศักยภาพตกค้างในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารเป็นเวลานาน โดยสาร POPs ที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มจะจำแนกเป็นสามภาคผนวก ได้แก่ ภาคผนวก A คือรายการสาร POPs ที่รัฐภาคีต้องกำจัดและเลิกใช้ ภาคผนวก B คือรายการสาร POPs ที่รัฐภาคีต้องควบคุมการผลิตและใช้ และภาคผนวก C คือสาร POPs ที่ผลิตโดยไม่จงใจ ทั้งนี้ ทุกๆ สองปีโดยประมาณ รัฐภาคีของอนุสัญญาฯ จะร่วมกันพิจารณาว่าควรมีการเพิ่มสาร POPs ชนิดใหม่เข้าไปในอนุสัญญาฯ หรือไม่ และควรจะกำหนดให้สารใดยกระดับขึ้นเป็นสารที่ต้องกำจัดหรือควบคุม
อนุสัญญาสตอกโฮล์มจัดตั้งขึ้นในปี 2544 บังคับใช้ปี 2547 และประเทศไทยให้สัตยาบันในปี 2548
ด้วยเหตุที่อนุสัญญาทั้งสามมีความข้องเกี่ยวกันอย่างมาก และต่างก็เป็นเครื่องมือของความพยายามในการควบคุม จำกัด เลิกใช้ และกำจัดสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ การประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาทั้งสามที่เรียกว่า BRS COPs จึงจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และสำหรับปี 2566 นี้ การประชุมกำลังดำเนินอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 12 นี้
อ่านเพิ่มเติม
รู้จัก “POPs” – สารมลพิษตกค้างยาวนาน กับความพยายามแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ https://www.facebook.com/108056682577538/posts/pfbid02FSLwP5af3AfPRNZSN4amAJoyeQRn52aUVE7NiPiF7cLUB4pHGNgupVAXp7qS6MUHl/?mibextid=Nif5oz
มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมแถลงจุดยืน: ยกเลิก การใช้สารดีคลอเรนพลัส โดยไม่มีข้อยกเว้น
แบนสารแต่งเติมพลาสติก ดีคลอเรนพลัส และ UV-328 แบบมีข้อยกเว้น