วันนี้ในอดีต: โศกนาฏกรรมไฟไหม้ "โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์" 10 พฤษภาคม 2536

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 10 พฤษภาคม 2566

 

วันนี้ในอดีต – เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในวันที่ 10 พฤษภาคม เวลาประมาณ 16.00 น. ได้เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม “โรงงานเคเดอร์” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาขนาดใหญ่เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ เครือข่ายการผลิตของบริษัทนี้มีทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน ไทย รวมถึงอีกหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

 

สำหรับในประเทศไทย โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

 

ขณะเกิดเหตุ คนงานกว่า 2,000 คน กำลังทำงานอยู่ภายในอาคาร โดยที่ไม่รู้เลยว่าด้านล่างกำลังเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น กระทั่งเวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง พนักงานจึงได้ทราบถึงเหตุที่เกิดขึ้นและได้พยายามวิ่งหนีเอาชีวิตรอด แต่เนื่องด้วยอาคารไม่มีระบบหนีภัยที่ได้มาตรฐาน จึงทำให้เกิดความวุ่นวายจากการเบียดเสียด มีคนงานจำนวนมากต้องเหยียบกันตายในระหว่างทาง ขณะที่บางส่วนพยายามกระโดดออกจากอาคารจนตกลงมาเสียชีวิต

 

เหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้ได้คร่าชีวิตของคนงานไปกว่า 188 ราย แบ่งเป็นคนงานชาย 14 ราย ที่เหลือ 174 รายเป็นหญิงทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 469 ราย

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุสาเหตุของไฟไหม้ว่าเกิดจากก้นบุหรี่ที่ยังไม่มอดสนิทซึ่งคนงานทิ้งไว้ อีกทั้งบริเวณนั้นยังเต็มไปด้วยใยสังเคราะห์ ผ้า รวมถึงสารและวัสดุไวไฟชนิดอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีจนทำให้ไฟไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็ว เพียงประมาณ 15 นาที อาคารโรงงานก็ได้ยุบตัวและพังทลายลงมา

 

แม้ผลการสืบสวนบ่งชี้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความประมาทของพนักงาน แต่มีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากมายขนาดนี้ นั่นคือ โรงงานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นอย่างไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารโรงงานที่ไม่ได้ออกแบบให้มีวัสดุหุ้มป้องกันไฟ โครงสร้างของโรงงานจึงพังทลายลงอย่างรวดเร็วหลังไฟไหม้เพียงไม่นาน อีกทั้งภายในโรงงานยังไม่มีระบบเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน ประกอบกับเสียงเย็บจักรทำให้คนงานไม่ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ประตูทางเข้าออกมีจำนวนน้อย รวมถึงบันไดหนีไฟยังมีขนาดแคบกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถรองรับการหนีไฟของคนงานจำนวน 2,000 คน ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้น ทางโรงงานยังขาดการซักซ้อมการรับมืออัคคีภัยให้แก่พนักงาน และที่น่าเศร้าใจไปมากกว่านั้นคือ ในระหว่างที่เกิดไฟไหม้ ทางโรงงานได้มีการปิดประตู เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคารออกมา

 

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นและทำให้คนงานต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากนี้ จึงเป็นเรื่องของการละเมิดกฎหมายและเป็นความหละหลวมเชิงระบบอย่างชัดเจน

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น บริษัทเคเดอร์ฯ เคยเกิดเหตุไฟไหม้มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งหลังเหตุการณ์ครั้งที่ 2 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้ไปออกตรวจโรงงานแห่งนี้ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2536 และได้มีหนังสือแนะนำแก่นายจ้างให้ปฏิบัติตาม ในส่วนเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่นี้ก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทในข้อหา ร่วมกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้คนบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย และจัดให้มีการก่อสร้างอาคารอุตสาหกรรมผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมไทย และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเรียกร้องความปลอดภัยในที่ทำงาน เกิดการรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวติดตามการช่วยเหลือคนงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ตลอดจนผลักดันข้อเสนอระยะยาวแก่รัฐบาลในขณะนั้น โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 คณะทำงานและกลุ่มคนงานเคเดอร์ประมาณ 50 คน ได้ร่วมกันเดินขบวนไปยังบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์บริเวณสีลม เพื่อประท้วงบริษัทซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัทเคเดอร์ ผลการเจรจาในครั้งนั้นทำให้เกิดบันทึกข้อตกลงเรื่องการทดแทนและเยียวยาขึ้น โดยมีสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับสำนักงานประชาสงเคราะห์ จังหวัดนครปฐม เป็นผู้กำกับดูแลความถูกต้องในการปฏิบัติให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงนี้

 

จากการเคลื่อนไหวของเหล่าแรงงาน ในที่สุดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 คณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียและเป็นเครื่องเตือนใจให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายและการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงาน จนเกิด พ.ร.บ. แรงงาน ฉบับปี 2541 อีกด้วย

 

 

ที่มาของภาพ: “เคเดอร์ ไฟนรก ขัง....ตาย” https://www.thairath.co.th/scoop/1845268