มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมแถลงจุดยืน: ยกเลิกการใช้สารดีคลอเรนพลัสโดยไม่มีข้อยกเว้น
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 4 พฤษภาคม 2566
ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ – ในการเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญานานาชาติ 3 ฉบับ ได้แก่ “บาเซล-รอตเตอร์ดัม-สตอกโฮล์ม” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า BRS COPs ที่ย่อมาจาก Meetings of the conferences of the Parties to the Basel, Rotterdam and Stockholm conventions ซึ่งสหประชาชาติจัดขึ้นเป็นประจำ โดยปีนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ฐิติกร บุญทองใหม่ จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เป็นตัวแทนของเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ หรือ IPEN ซึ่งมีองค์กรภาคประชาสังคมในกว่า 120 ประเทศเป็นสมาชิก กล่าวแสดงจุดยืนต่อที่ประชุม เพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนสารดีคลอเรนพลัส (Dechlorane Plus) ให้เป็นรายการสาร POPs ในภาคผนวก A ของอนุสัญญาสตอกโฮล์ม โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) เป็นอนุสัญญาที่มีเป้าหมายมุ่งควบคุมกลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs (Persistent Organic Pollutants) ซึ่งเป็นกลุ่มมลสารที่มีความเป็นพิษร้ายแรง ทั้งยังมีศักยภาพตกค้างในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารเป็นเวลานาน โดยสาร POPs ที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มจะจำแนกเป็นสามภาคผนวก ได้แก่ ภาคผนวก A คือรายการสาร POPs ที่รัฐภาคีต้องกำจัดและเลิกใช้ ภาคผนวก B คือรายการสาร POPs ที่รัฐภาคีต้องควบคุมการผลิตและการใช้ และภาคผนวก C คือสาร POPs ที่ผลิตโดยไม่จงใจ ทั้งนี้ ทุกๆ สองปีโดยประมาณ รัฐภาคีของอนุสัญญาฯ จะร่วมกันพิจารณาว่าควรมีการเพิ่มสาร POPs ชนิดใหม่เข้าไปในอนุสัญญาฯ หรือไม่ และสารใดควรอยู่ในภาคผนวกใด
ในปีนี้ คณะกรรมการทบทวนสารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs Review Committee) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการเสนอสาร POPs ชนิดใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐภาคี ได้มีข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนดีคลอเรนพลัสในภาคผนวก A แต่มีข้อยกเว้นสำหรับการผลิตและใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท รวมไปถึงยกเว้นการใช้สารดังกล่าวในอะไหล่ยานยนต์ (replacement parts for motor vehicles) จนกว่าอะไหล่ชิ้นนั้นจะหมดอายุการใช้งาน แต่ไม่เกินปี 2587
ด้วยข้อยกเว้นนี้ เท่ากับว่าอะไหล่ที่ปนเปื้อนดีคลอเรนพลัสอาจจะถูกใช้งานได้อีกถึง 20 ปี และอาจยาวนานกว่านั้นในกรณีที่อะไหล่หรือสิ่งที่ถูกอ้างว่าเป็นอะไหล่กลายเป็นเศษซาก
อนึ่ง ดีคลอเรนพลัส เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติหน่วงการติดไฟ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยใช้แต่งเติมในส่วนประกอบด้านนอกของสายไฟ สายเคเบิล คอมพิวเตอร์ สายเชื่อมต่อโทรทัศน์ และชิ้นส่วนหลังคาที่เป็นพลาสติก ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมการคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษเครื่องจักร และชิ้นส่วนยานยนต์ จึงเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของสารประเภทนี้ โดยผู้ที่ประกอบกิจการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์เป็นกลุ่มประชากรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสารตัวนี้เป็นอันดับต้นๆ
“ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ประกอบการคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยและครอบครัวของพวกเขา เราขอเรียกร้องให้รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาสตอกโฮล์มยับยั้งภัยมลพิษที่พวกเขาประสบจากสารตัวนี้ การควบคุมที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการเลิกผลิต ขาย และใช้สารตัวนี้โดยสิ้นเชิง... ปัจจุบันหลายประเทศได้มีมาตรการควบคุมและห้ามผลิต/ใช้สารตัวนี้แล้ว บ่งชี้ว่ามีสารตัวอื่นที่ทดแทนมันได้... ด้วยเหตุนี้ เราสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนดีคลอเรนพลัสในภาคผนวก A ของอนุสัญญาสตอกโฮล์ม โดยไม่มีข้อยกเว้น” นี่คือเนื้อความตอนหนึ่งที่ฐิติกรแถลงต่อที่ประชุมรัฐภาคี
ชมคลิปวีดีโอถ้อยแถลงของฐิติกรได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=wpq1LnxyST8