จับตาการประชุมสามอนุสัญญานานาชาติ "บาเซล-รอตเตอร์ดัม-สตอกโฮล์ม" สู่การแก้ไขปัญหาสารมลพิาตกค้างยาวนานในกากของเสีย
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 1 พฤษภาคม 2566
ภาพถ่ายโดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ – วันนี้ (1 พฤษภาคม) การประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญานานาชาติ 3 ฉบับ ได้แก่ “บาเซล-รอตเตอร์ดัม-สตอกโฮล์ม” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า BRS COPs ประจำปี 2566 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะประชุมกันยาวนานจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมติดตามการประชุมครั้งนี้ด้วย
การประชุม BRS COPs ย่อมาจาก Meetings of the conferences of the Parties to the Basel, Rotterdam and Stockholm conventions ประเด็นสำคัญที่จะมีการพูดคุยกันในครั้งนี้และทางมูลนิธิบูรณะนิเวศให้ความสนใจ คือเรื่องการควบคุมสารมลพิษตกค้างยาวนานในกากของเสีย ซึ่งสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs (Persistent Organic Pollutants) เป็นกลุ่มมลสารที่มีคุณสมบัติเป็นพิษ ย่อยสลายได้ยาก คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน สะสมได้ในสิ่งมีชีวิตและห่วงโซ่อาหาร โดยสะสมได้ดีในไขมัน สามารถเคลื่อนย้ายและพัดพาได้ไกลจากแหล่งที่ถูกปล่อยออกมา ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มสารที่มีความเป็นพิษร้ายแรงต่อสุขภาพหลากหลายลักษณะ การติดตามควบคุม POPs จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากด้วย
เหตุที่สาร POPs มาเกี่ยวข้องกับเรื่องกากของเสียหรือขยะ เนื่องจากสารกลุ่มนี้มีการใช้งานเชิงเทคนิคและเป็นสารผสมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเป็นสารเติมแต่งสำหรับการผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกทั้งด้วยคุณสมบัติที่สามารถช่วยกันน้ำและชะลอการติดและการลามของไฟ ดังนั้นจึงพบได้ทั้งในเฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า สิ่งทอ อุปกรณ์ทางการแพทย์ น้ำยาดับเพลิง ฯลฯ เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลายเป็นของเสียจึงเป็นของเสียที่แฝงสาร POPs อยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีสาร POPs ชนิดที่ถูกปลดปล่อยโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือที่เรียกว่า UPOPs (Unintentional Persistent Organic Pollutants) ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของวัสดุที่มีองค์ประกอบของสารคลอรีนหรือโบรมีน หรือเป็นสารพลอยได้จากการผลิตสารเคมีอื่นๆ ดังนั้น ในการประกอบอุตสาหกรรมที่มีการเผาเชื้อเพลิง เช่น เตาเผาขยะ โรงไฟฟ้าขยะ โรงงานรีไซเคิลและหล่อหลอมโลหะ/อโลหะ จึงเป็นอีกแหล่งที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยสาร POPs ออกสู่สิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน การปนเปื้อนของสาร POPs ในพื้นที่ที่มีการรีไซเคิลกากของเสียไม่ถูกหลักวิชาการพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงหลายๆ พื้นที่อุตสาหกรรมและการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ที่ประสบปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมด้วย
ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ก็มีการพบสาร POPs ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทิ้งจากโรงงานเยื่อกระดาษแห่งหนึ่งในพื้นที่แม่น้ำพอง จ. ขอนแก่น ส่วนในปี พ.ศ. 2565 มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับสมาคมอาร์นิก้า (Arnika Association) จากสาธารณรัฐเช็ก ได้ตรวจพบสาร POPs โดยเฉพาะอย่างยิ่งไดออกซิน/ฟิวแรน และ SCCPs ในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและไข่เป็ดจากหมู่บ้านหนองกก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่หมู่ 9 ต. เขาหินซ้อน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการตรวจพบสารในกลุ่ม PFAS ในพื้นที่ลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทั้งใน ต. หนองแหน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา และ ต. มาบไผ่ อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี
ในระดับนานาชาติ มิติของการพยายามจัดการและควบคุมสาร POPs จะเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ส่วนในเรื่องขยะและกากของเสียจะเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาบาเซล ประเด็นการควบคุมสาร POPs ในของเสียจึงเป็นสาระสำคัญของการประชุม BRS COPs ในปีนี้ ซึ่งมีประเด็นที่ควรต้องจับตามองเป็นพิเศษ ดังนี้
ประเด็นแรกคือ การเจรจาเพื่อกำหนดระดับการปนเปื้อนที่ยอมรับได้ของสาร POPs ในของเสีย หรือ LPCLs (Low POPs Content Level) ภายใต้อนุสัญญาบาเซล ระดับการปนเปื้อนที่ว่านี้คือค่ามาตรฐานการปนเปื้อนของสาร POPs แต่ละชนิดในของเสียประเภทต่างๆ โดยมีการกำหนดว่า หากของเสียใดมีการปนเปื้อน POPs เกินค่ามาตรฐานดังกล่าว ก็จะต้องถูกส่งไปกำจัดด้วยวิธีที่จะทำให้ POPs ถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพจนกลับคืนสู่สภาพเดิมไม่ได้
ในประเด็นนี้ องค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศเห็นว่า ระดับการปนเปื้อนที่ยอมรับได้ของ POPs ต้องเป็นค่าที่ต่ำมาก เพื่อที่ของเสียที่มี POPs ปนเปื้อนจะได้ถูกกำหนดว่าต้องส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธี หากค่ามาตรฐานดังกล่าวสูงเกินไป การควบคุมการกำจัดขยะที่ปนเปื้อน POPs ก็จะหย่อนยาน ความเป็นไปได้ที่ของเสียดังกล่าวจะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐาน ถูกลักลอบทิ้ง หรือถูกเผากำจัดในที่โล่งแจ้ง ก็จะสูงยิ่งขึ้น
ประเด็นที่สองที่น่าจับตาคือ ความพยายามในการเพิ่มสารดีคลอเรนพลัส (Dechlorane Plus) ให้เป็นรายการสาร POPs ในภาคผนวก A ของอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ซึ่งจะเป็นรายการสารที่ต้องมีมาตรการควบคุมและจัดการเข้มงวด ทั้งนี้ ดีคลอเรนพลัสเป็นสารหน่วงการติดไฟชนิดหนึ่งที่ถูกใช้เป็นสารแต่งเติมในส่วนประกอบด้านนอกของสายไฟ สายเคเบิล คอมพิวเตอร์ สายเชื่อมต่อโทรทัศน์ และชิ้นส่วนหลังคาที่เป็นพลาสติก ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมการคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีระบบการควบคุมที่ดีจึงเป็นแหล่งที่อาจก่อให้เกิดการปลดปล่อยสารดีคลอเรนพลัสออกสู่สิ่งแวดล้อม
เนื่องจากปัจจุบันมีงานศึกษาทางระบาดวิทยาที่พบความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณของสารดีคลอเรนพลัสกับผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อต่อมไทรอยด์และฮอร์โมนเพศ การยับยั้งการผลิตและกำหนดให้มีการกำจัดสารดังกล่าวอย่างถูกต้องจึงจะช่วยคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและผู้ประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์จากสารมลพิษอันตรายนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเรื่องการเพิ่มดีคลอเรนพลัสเข้าไปในภาคผนวก A ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มปีนี้ยังปรากฏข้อยกเว้นสำหรับอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมแซมในอุตสาหกรรมหลายประเภท รวมไปถึงอะไหล่รถยนต์ (replacement parts for motor vehicles) โดยข้อยกเว้นนี้จะคงอยู่ตลอดอายุการใช้งานของอะไหล่นั้น ๆ แต่ต้องไม่เกินปี พ.ศ. 2587 (อีก 24 ปี) แน่นอนว่า ด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวนี้ก็อาจทำให้เศษซากเครื่องยนต์บางชนิดถูกนำไปรีไซเคิลต่อได้ หากถูกจำกัดความว่าเป็น “อะไหล่” ข้อยกเว้นนี้จึงถูกคัดค้านโดยองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม
ผลการประชุม BRS COPs ในปีนี้จะเป็นอย่างไร จะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาสาร POPs ในของเสียได้มากน้อยเพียงใด ทางเพจจะนำมารายงานต่อไป รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย