วันนี้ในอดีต: 1 พฤษภาคม วันที่ค้นพบโรคมินามาตะอย่างเป็นทางการ

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 1 พฤษภาคม 2566
 


 


 


 

1 พฤษภาคม... วันที่ค้นพบโรคมินามาตะอย่างเป็นทางการ
 


 

เมื่อ 67 ปีที่แล้ว ในวันที่ 1 พฤษภาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้จัดทำรายงานถึงสำนักงานสาธารณสุขของเมืองมินามาตะ เมืองเล็กๆ ริมทะเลบนเกาะคิวชูที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ว่า “พบการแพร่กระจายของโรคที่ไม่เคยรู้จักชนิดหนึ่งที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง”


 

การค้นพบโรคดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีเด็กหญิงสองพี่น้องจากหมู่บ้านชาวประมง เกิดความผิดปกติทางกายหลายประการ ทั้งการมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างพร่าเลือน เดินและพูดได้ลำบาก ร่างกายชักกระตุก ตลอดจนพบอาการอักเสบหรือบวมบริเวณสมอง เนื่องจากเกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงที่ระบบประสาทส่วนกลาง ทว่าแท้จริงแล้ว ชาวเมืองมินามาตะได้สังเกตเห็นความผิดปกติของทะเลและสิ่งมีชีวิตมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2493 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการมีปลาทะเลลอยตายจำนวนมาก นกกินปลาชนิดต่างๆ เริ่มร่วงจากฟ้า จนถึงการมีแมวจำนวนมากตายด้วยการกระโดดลงทะเล แล้วในที่สุดก็ลามมาถึงมนุษย์


 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีนั้น ความผิดปกติหรือโรคที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นปริศนา กลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตจึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อค้นหาสาเหตุของโรค หลังจากใช้เวลาอีกหลายปี จึงได้ข้อสรุปและเรียกโรคนี้ว่า “โรคมินามาตะ” ตามชื่อเมืองที่เด็กหญิงทั้งสองอาศัยอยู่ คำอธิบายคือเป็นโรคที่เกิดจากเมทิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) อันเป็นสารประกอบอินทรีย์ของปรอทซึ่งปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานของ “บริษัทชิสโสะ” ระบายทิ้งลงสู่อ่าวมินามาตะ จนกระทั่งทำให้พบปรอทปริมาณสูงตลอดชายทะเลชิรานุยที่มีอ่าวมินามาตะเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งที่โรงงานของบริษัทชิสโสะผลิตคือสารอะซิทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) ซึ่งมีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สารพิษชนิดนี้จึงได้เข้าไปสะสมอยู่ในตัวปลาและหอยที่ชาวประมงจับขึ้นมาขายและรับประทาน


 

เมื่อถูกชี้ว่าเป็นต้นเหตุ บรรดาผู้บริหารของบริษัทชิสโสะ ทั้งประธานบริษัทและผู้จัดการโรงงาน ต่างก็ออกมาปฏิเสธ โดยยืนยันว่า โรงงานของชิสโสะไม่ได้ทำให้เกิดโรค พร้อมทั้งอ้างว่าสารพิษที่เจือปนออกมาย่อมละลายไปหมด ทางบริษัทยังได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเคมีแห่งญี่ปุ่นทุ่มเงินจ้างนักวิทยาศาสตร์หลายคนมาคิดค้นทฤษฎีอื่นๆ ที่น่าจะเป็นสาเหตุของโรคนี้


 

แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักวิชาการจำนวนไม่น้อยออกมาสนับสนุนทฤษฎีของคณะแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยคุมาโมโต และชี้ว่าชิสโสะเป็นสาเหตุของโรคมินามาตะ พร้อมกันนั้นยังมีการตรวจพบการสะสมของสารปรอทในเส้มผมของผู้ป่วย รวมทั้งตรวจพบสารปรอทสะสมในปลาและหอยจากอ่าวมินามาตะเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหลายเท่า


 

ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นจึงยอมรับออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2511 ว่า โรคมินามาตะเป็นโรคที่เกิดจากมลพิษ พร้อมทั้งมีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของโรคว่า “โรคมินามาตะในจังหวัดคุมาโมโตเกิดจาก methyl mercury ซึ่งเกิดขึ้นจากโรงงานผลิต acetaldehyde acetic acid ของบริษัทชิสโสะในมินามาตะ” การยอมรับนี้เกิดขึ้น 12 ปี หลังจากที่มีการรายงานการเกิดโรคอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2499


 

โรคมินามาตะที่ได้คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นหลายพันคนทั้งในเมืองมินามาตะและเมืองใกล้เคียง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทางด้านชีวิตและสุขภาพที่ดีของผู้คน แต่ยังสร้างความเสียหายทางจิตใจและทางสังคมแก่ผู้ป่วยและญาติมิตร รวมถึงก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ยากจะลืมเลือน นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลและการขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาลผู้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยละเลยความสำคัญของชุมชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของธรรมชาติ


 

หากอดีตสามารถช่วยสอนบทเรียนเพื่อทำให้เกิดอนาคตที่ดียิ่งขึ้น ก็หวังว่าอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะได้เก็บรับบทเรียนจากโศกนาฏกรรมมินามาตะนี้ จนเกิดความตระหนักและตั้งใจจริงจังที่จะไม่ประกอบกิจการโดยก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้ขึ้นอีก


 

อ่านเรื่องราวของโรคมินามาตะเพิ่มเติมได้ที่ : “มินามาตะ : โศกนาฏกรรมและการต่อสู้ สู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม”, กันยายน 2559 https://www.earththailand.org/th/document/108