น้ำเสีย-ปลาตาย ระลอกใหม่ที่ "หนองพะวา" ระหว่างกระบวนการบำบัดพื้นที่โรงงาน "วินโพรเสส"
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 17 เมษายน 2566
ภาพถ่ายโดย: ประชาชนในพื้นที่
ชาวบ้านหนองพะวา พบเหตุปลาในบ่อน้ำธรรมชาติตายผิดปกติ ในขณะที่การบำบัดน้ำปนเปื้อนมลพิษของบริษัท วิน โพรเสส อยู่ระหว่างดำเนินการ จึงเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบตรวจสอบว่า กระบวนการบำบัดของเสียจากโรงงานเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่
วันนี้ (17 เม.ย. 66) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง ว่าได้พบเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นกับบ่อน้ำธรรมชาติในที่ดินของประชาชนที่อยู่ติดกับโรงงานจัดเก็บและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของบริษัทวิน โพรเสส จำกัด โดยน้ำในบ่อได้เปลี่ยนเป็นสีส้มและมีปลาลอยตายจำนวนหนึ่ง ทำให้เกิดข้อสงสัยและกังวลใจตามมาว่า มีการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่บ่อน้ำดังกล่าวหรือไม่
เนื่องจากในขณะนี้ โรงงานของบริษัทวิน โพรเสส ได้หยุดประกอบกิจการและอยู่ในระหว่างการดำเนินการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายจำนวนมากไปกำจัดให้ถูกต้อง รวมทั้งมีการบำบัดน้ำเสียภายในพื้นที่ด้วย การสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารอันตราย อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในโรงงานและพื้นที่ของประชาชนที่เสียหายจากการประกอบกิจการของบริษัทตามคำสั่งของศาลที่พิพากษาออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จึงได้ว่าจ้างให้บริษัท เอส เค อินเตอร์เคมิคอล จำกัด เป็นผู้รับเหมาดำเนินการเรื่องการบำบัดฟื้นฟูดังกล่าว
ในส่วนการบำบัดน้ำเสีย ตามแผนเบื้องต้นที่บริษัท เอส เค อินเตอร์เคมิคอล จำกัด นำเสนอ จะมีการขุดบ่อบำบัดจำนวน 2 บ่อ พร้อมปูแผ่นยางป้องกันการรั่วซึมของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำที่ปนเปื้อน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ต่อมา ประชาชนในพื้นที่พบว่า ทางบริษัทได้ขุดบ่อดินเพิ่มอีก 1 แห่งโดยไม่มีการปูแผ่นยางป้องกันการรั่วซึมเหมือนสองบ่อแรก และในช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมามีการสูบน้ำปนเปื้อนมาเก็บกักไว้ในบ่อใหม่แห่งที่ 3 นี้
ประชาชนในพื้นที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่อ้างว่า น้ำที่สูบเข้าสู่บ่อดังกล่าวเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดจนได้เกณฑ์มาตรฐานแล้ว และจะไม่มีอันตรายอะไร อย่างไรก็ตาม ผ่านมาเพียงสองสามวัน ประชาชนเจ้าของพื้นที่ที่อยู่ติดกับบ่อดินที่ขุดใหม่ ซึ่งเป็นเกษตรกร ก็พบว่าบ่อน้ำธรรมชาติในที่ดินของตนเริ่มเปลี่ยนสี ส่งกลิ่นเหม็นฉุน ทั้งยังมีปลาลอยตายขึ้นมาจำนวนไม่น้อย จึงเกิดความสงสัยว่า มีน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารเคมีรั่วซึมจากบ่อดินที่ขุดใหม่เข้าสู่บ่อน้ำใช้และบ่อปลาในพื้นที่ของตนหรือไม่ ทั้งยังกังวลว่าจะเกิดผลกระทบอื่นๆ ติดตามมา เนื่องจากตามปกติแล้วบ่อน้ำดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์ด้านการอาบน้ำและการรดน้ำต้นไม้ด้วย
ในวันเดียวกันนี้ หลังจากที่ทางมูลนิธิฯ แจ้งเรื่องต่อไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น และรับที่จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป