ด่วน! กรอ. สั่งปิดชั่วคราว “โรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช” จนกว่าจะแก้ปัญหากลิ่นเหม็นได้
ด่วน! กรอ. สั่งปิดชั่วคราว “โรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช” จนกว่าจะแก้ปัญหากลิ่นเหม็นได้
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
17 กุมภาพันธ์ 2566
เมื่อวานนี้ (16 ก.พ. 66) กรอ. มีหนังสือด่วนที่สุด สั่งปิดกิจการของ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัดหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดโดยทันที หลังผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า การประกอบกิจการของทางบริษัทฯ ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงแข็ง (RDF) กระบวนการขนถ่าย และการกองเก็บวัสดุ และยังพบว่า บ. กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต โดยเฉพาะในส่วนของการบำบัดน้ำเสีย จนอาจส่งผลให้เกิดอันตราย ความเสียหาย หรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงต่อชุมชน พนักงาน และสิ่งแวดล้อม
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ออกคำสั่งปิดกิจการของ บ. กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นการชั่วคราว หลังจากที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ได้เข้าตรวจสอบโรงงานของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตเชื้อเพลิงขยะจากชุมชน เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 66 และพบว่าการประกอบกิจการของโรงงาน ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงแข็ง กระบวนการขนถ่าย และการกองเก็บวัสดุ
สาเหตุหลักของปัญหากลิ่นเหม็นรุนแรง จนเป็นเหตุให้ชุมชนร้องเรียนหลายครั้งและนำมาสู่การตรวจสอบและสั่งปิดกิจการชั่วคราว เกิดจากการที่ทางโรงงานไม่ได้ส่งน้ำชะขยะไปบำบัดยังโรงงานลำดับที่ 89 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งถือเป็นระบบบำบัดน้ำเสียขั้นต้น เมื่อผ่านการผลิตก๊าซชีวภาพแล้วน้ำเสียจะถูกส่งบำบัดยังบ่อบำบัดน้ำเสียระบบ Activated Sludge เพื่อหมุนเวียนใช้ในโรงงาน ซึ่งเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 ซึ่งเป็นกิจการผลิต RDF จากขยะ
ปัญหาจากโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชเป็นปัญหาขัดแย้งบานปลายระหว่างชุมชนและทางบริษัทมานานพอสมควร จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.66) ศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมาย ได้ลงนาม ในหนังสือด่วนที่สุด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้หยุดประกอบกิจการ ทั้งหมดทันที นับตั้งแต่ได้รับคำสั่งดังกล่าว และให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวงดังกล่าว ตามความใน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของโรงงาน และเกี่ยวกับการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินการ เพื่อป้องกันหรือระงับหรือบรรเทาอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ให้หยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตเกี่ยวกับการส่งน้ำเสียไปบำบัดกำจัด ยังโรงงานหมักก๊าซชีวภาพ (โรงงานลำดับที่ 89) ให้ถูกต้อง ตามคำสั่งดังกล่าว บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน โดยจะต้องดำเนินการดังนี้
1. จัดให้มีวิธีการและใช้วิธีการดังกล่าวป้องกันกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการของโรงงานส่วนพื้นที่ขนถ่ายขยะเข้าอาคารรับวัตถุดิบ และพื้นที่บริเวณขนถ่ายผลิตภัณฑ์ RDF ก่อนออกจากอาคารโรงงาน รวมถึงการบำบัดน้ำเสียโรงงานให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนการบำบัดน้ำเสียที่ได้รับอนุญาตตามเงื่อนไขการอนุญาต ข้อ 1.8
2. แสดงรายงานสมดุลมวลน้ำเสียและการผลิตก๊าซชีวภาพของโรงงาน พร้อมจัดให้มีวิธีป้องกันมิให้มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน
3. ต้องจัดการการน้ำเสียทั้งหมด รวมถึงน้ำเสียที่ตกค้างในรางระบายน้ำฝนของโรงงานต้องมีการบำบัดน้ำเสียสอดคล้องกับเงื่อนไขอนุญาตข้อ 1.8
4. จัดให้มีการเฝ้าระวังผลกระทบเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงงาน ด้วยการทดสอบตัวอย่างกลิ่นซึ่งให้ใช้วิธีการตรวจวัดตามที่กรมอนามัยกำหนด เพื่อเปรียบเทียบความเข้มข้นกลิ่นที่เกิดขึ้นใน 3 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ก่อนปรับปรุง หลังปรับปรุง และช่วงเวลาที่ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ
ทั้งนี้ตามคำสั่งนี้ ยังระบุว่าเมื่อมีการปรับปรุงการประกอบกิจการแล้ว ให้โรงงานมีระยะเวลาการประกอบกิจการตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. และต้องไม่ให้มีวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์คงค้างในโรงงานในแต่ละวัน เพื่อลดผลกระทบเรื่องกลิ่นที่อาจเกิดกับชุมชนใกล้เคียง หากได้ดำเนินการปรับปรุงตามที่ได้สั่งการแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้มีคำสั่งต่อไป โดยทางโรงงานจะต้องมีแผนและวิธีการป้องกันกลิ่นไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ทาง บ. กรุงเทพธนาคม จำกัด สามารถอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนี้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 30 วัน นับจากวันที่ทราบคำสั่งและการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งนี้