หน่วยงานรัฐ-ท้องถิ่น-ประชาชน ร่วมประชุมแก้ปัญหามลพิษปนเปื้อนบ้านหนองพะวา จ. ระยอง
หน่วยงานรัฐ-ท้องถิ่น-ประชาชน ร่วมประชุมแก้ปัญหามลพิษปนเปื้อนบ้านหนองพะวา จ. ระยอง
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
19 มกราคม 2566
ภาพโดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
วันนี้ (19 ม.ค. 66) ณ ห้องประชุม อบต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง ได้มีการประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินการบำบัดกำจัดของเสียของบริษัทวิน โพรเสสฯ โดยมีอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประธานการประชุม รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ตัวแทนบริษัทวิน โพรเสสฯ กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา
พื้นที่หมู่ 4 บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง ประสบปัญหามลพิษจากกากของเสียอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ร้องเรียนว่าเกิดจากการประกอบกิจการของโรงงานรีไซเคิลบริษัทวิน โพรเสส จำกัด ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นข้อคัดง้างและโต้แย้งระหว่างประชาชน หน่วยงานรัฐ และบริษัทฯ นานหลายปี จนในปี 2564 ศาลระยองได้มีคำพิพากษาว่า โรงงานมีความผิดทางอาญาฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และช่วงปลายปี 2565 ศาลระยองยังได้มีคำพิพากษาคดีแพ่งที่ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นฟ้องโรงงาน โดยให้จำเลยคือ บริษัทวิน โพรเสสฯ กรรมการ และอดีตกรรมการ ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดแก่ประชาชนในพื้นที่และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
คำพิพากษาทั้งสองจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการแก้ไขปัญหามลพิษ ณ หนองพะวาซึ่งคาราคาซังมานับ 10 ปี
ประเด็นหลักในการประชุมวันนี้คือ การส่งของเสียในพื้นที่โรงงานไปกำจัด อันเป็นกระบวนการซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยรอบจะเริ่มขึ้นได้
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวในช่วงต้นของการประชุมว่า เดิมทีคำพิพากษาคดีอาญาในปี 2564 กำหนดให้บริษัทวิน โพรเสสฯ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขนย้ายของเสียในโรงงานไปกำจัด รวมไปถึง กรดเสื่อมสภาพ ผงเหล็ก กากตะกอน ของเหลวเคมีวัตถุ และภาชนะปนเปื้อน แต่ต่อมาอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แถลงต่อศาลเพื่อขอให้ขยายขอบเขตของเสียที่ต้องถูกนำไปกำจัด ให้รวมถึงน้ำเสียและกากตะกอนดินในบ่อน้ำ 5 บ่อของโรงงาน รวมไปถึงบ่อน้ำในสวนยางพาราที่อยู่ติดกับโรงงานด้วย
กระบวนการบำบัดและกำจัดของเสียจะดำเนินการโดยบริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด ผู้จัดการโครงการจากบริษัทฯ ระบุต่อที่ประชุมว่า กรดเสื่อมสภาพจะถูกส่งไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต Ferric Chloride และกรดดินประสิวเสื่อมสภาพจะถูกนำไปทำเป็นแคลเซียมไนเตรด/ปุ๋ยไนเตรด สำหรับกากตะกอนรวมถึงตะกอนดินจากบ่อของโรงงานจะถูกปรับเสถียร และส่งไปกำจัดที่โรงงานของบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) จ. สระบุรี ปัจจุบันได้มีการติดต่อบริษัทดังกล่าวให้รับกากตะกอนไปกำจัด 4,000 ตัน อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามในที่ประชุมว่า กากตะกอนทั้งหมดมีปริมาณมากกว่านั้นหรือไม่
ปริมาณของเสียที่หลงเหลือในโรงงานของบริษัทวิน โพรเสส จำกัด (ซ้าย)
ขั้นตอนในการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (ขวา)
ภาพจากเอกสารนำเสนอของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการประชุมวันที่ 19 ม.ค. 66
ทั้งนี้ กระบวนการบำบัดน้ำเสียและปรับเสถียรจะดำเนินการในพื้นที่ของโรงงานบริษัทวิน โพรเสสฯ หมายความว่าจะต้องจัดให้บ่อใดบ่อหนึ่งในโรงงานเป็นบ่อสำหรับพักน้ำที่บำบัดแล้วจากบ่ออื่น ๆ จึงนำไปสู่การโต้แย้งแลกเปลี่ยนในประเด็นการจัดลำดับบ่อที่ต้องบำบัดก่อนและหลัง เพราะบ่อที่บำบัดก่อนจะถูกใช้เป็นบ่อพักน้ำ จึงต้องเลือกบ่อที่เหมาะสมที่สุด นั่นคือต้องเป็นบ่อที่ไม่มีการรั่วไหล เพื่อจะได้ไม่เพิ่มความเสี่ยงของการปนเปื้อนให้ขยายตัวไปกระทบที่ดินของประชาชนที่อยู่ข้างเคียง
ต่อประเด็นนี้ ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันว่าให้เลือกบ่อที่อยู่ทางใต้สุดของโรงงาน และยังมีการขีดเส้นตายว่าควรต้องบำบัดบ่อน้ำทั้งหมดให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูฝนปีนี้ นั่นคือก่อนที่ปริมาณของน้ำจะเพิ่มขึ้น
เทียบ สมานมิตร เจ้าของสวนยางพาราข้างโรงงานได้ถามที่ประชุมว่า บ่อน้ำของตนจะได้รับการบำบัดในขั้นตอนนี้หรือไม่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนตั้งคำถามว่าโรงงานจะยอมให้ใช้เงินที่วางไว้กับศาลในคดีอาญาบำบัดบ่อของเทียบหรือไม่ เนื่องจากบ่อของเทียบไม่ได้อยู่ในที่ดินของโรงงาน ต่อประเด็นนี้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมตอบยืนยันว่า วงเงินที่บริษัทและกรมโรงงานอุตสาหกรรมตกลงไว้ว่าจะใช้ในการบำบัดและกำจัดของเสียภายใต้คำพิพากษาคดีอาญา ให้ใช้ในการบำบัดบ่อน้ำในสวนของเทียบด้วย และเป็นสิ่งที่ตนได้แถลงกับศาลไว้แล้ว และบริษัทฯ ตกลงแล้ว
สนิท มณีศรี ประชาชนบ้านหนองพะวาอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ตนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนในสระน้ำหนองพะวา ซึ่งเป็นสระสาธารณะกลางชุมชน และยังมีการปนเปื้อน คำถามนี้ได้รับคำตอบจากที่ประชุมว่า การฟื้นฟูสระน้ำดังกล่าวจะอยู่ภายใต้คำพิพากษาในคดีแพ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่า ตนจะร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้ โดยกรมควบคุมมลพิษจะมีบทบาทในการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่บำบัดแล้ว ว่ามีคุณภาพดีเพียงพอหรือไม่ เคียงคู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ด้านกรมควบคุมมลพิษกล่าวแสดงความยินดีที่จะร่วมงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และได้ให้ความเห็นว่า กระบวนการบำบัดน้ำเสียจะต้องคำนึงถึงสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ด้วย เพราะเป็นสารมลพิษชนิดที่เคยมีการตรวจพบในแหล่งน้ำผิวดินข้างโรงงานมาแล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการกล่าวถึงการปนเปื้อนใต้ผิวดิน เพราะในปี 2556 โรงงานได้ลักลอบฝังกลบของเสียในพื้นที่ด้วย อีกทั้งปัจจุบันยังมีข้อกังขาว่า ของเสียดังกล่าวถูกขุดออกไปกำจัดจนหมดสิ้นแล้วหรือยัง
เวลาประมาณ 11.30 น. การประชุมสิ้นสุดลง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและตัวแทนบริษัทฯ ได้เดินทางต่อไปยังศาลจังหวัดระยอง เพื่อรายงานความคืบหน้าในการกำจัดของเสียภายใต้คดีอาญาต่อไป
สภาพสวนยางพาราของประชาชนในพื้นที่บ้านหนองพะวา