ความจริงและความมืดบอด – ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย

รายงานพิเศษ มูลนิธิบูรณะนิเวศ

ความจริงและความมืดบอด – ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ปุณญธร จึงสมาน, ผู้เขียน 

สุกรานต์ โรจนไพรวงค์, บรรณาธิการ

6 ธันวาคม 2565 

 

ถังสารเคมีที่ถูกนำมาทิ้งในที่ดินแห่งหนึ่งที่ ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

ภาพถ่ายโดย กานต์ ทัศนภักดิ์ 

 

การลักลอบทิ้งของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตามพื้นที่ชนบทของประเทศไทย จนแทบจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสังคมชาชิน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นพื้นที่เขตพัฒนาอุตสาหกรรมหนักอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศนี้

ปัญหานี้ได้ลุกลามกว้างออกไปทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกและภูมิภาคอื่น จนทำให้พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนมลพิษ ที่คุกคามแหล่งเกษตรกรรม สร้างความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่น และเป็นภาระของธรรมชาติในการฟื้นฟูตัวเอง ที่ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่และระหว่างนี้จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างไรบ้าง

เมื่อเดือนกันยายน 2564 ปรากฏข่าวการลักลอบทิ้งถังบรรจุสารเคมีหรือของเสียขนาด 200 ลิตร กว่า 300 ใบ บนที่ดินขนาด 3 – 4  ไร่ ในตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี [1] ต่อมาในช่วงปลายปีเดียวกันนั้น พบการลักลอบทิ้งน้ำเสียปริมาณมาก ในบ่อดินกลางสวนปาล์มขนาด 384 ตารางวาในตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา [2] เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังมีข่าวการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายบนที่ดิน 15 ไร่ ใกล้บ้านเรือนของชุมชนในตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี [3] และล่าสุด ในเดือนกันยายน ปีนี้ พบว่ามีโรงงานผลิตปุ๋ยแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่เลิกกิจการแล้ว ได้ขนย้ายกากของเสียอันตรายลักษณะเป็นผงสีขาวกว่า 80,000 ตัน ไปลักลอบทิ้งในที่ดินเอกชน โดยที่ไม่ได้รายงานต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ [4] นี่เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่ตกเป็นข่าวใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาและอยู่ในสถิติการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานราชการ

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ กรมควบคุมมลพิษได้เปิดสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมที่มีการรวบรวมไว้ในรอบ 10 ปี (2555 – 2564) โดยระบุว่า มีเหตุเกิดขึ้นมากถึง 79 ครั้ง  พื้นที่ที่เกิดปัญหาบ่อยสุดในภาคตะวันออก คือ 45 ครั้ง ภาคกลาง 21 ครั้ง และภาคตะวันตก 8 ครั้ง กรมควบคุมมลพิษกล่าวว่าพื้นที่เสี่ยงต่อการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายทั้งหมดมี 12 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว นครราชสีมา ลพบุรี เพชรบุรี และราชบุรี [5]

"เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เราได้ติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปัญหาความหย่อนยานและความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) เราได้สำรวจรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ และพบว่า มีการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมรวม 280 ครั้ง โดยแบ่งเป็นการลอบทิ้งน้ำเสียโรงงาน 209 ครั้ง และการลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม 71 ครั้ง ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูง และมีหลายครั้งที่ไม่มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาก็พบว่าปัญหาการลอบทิ้งรุนแรงมากขึ้น และยังพบว่า แนวโน้มของปัญหานี้คือ มีการแพร่กระจายไปหลายภูมิภาคของประเทศไทย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าว

“จุดที่มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมบ่อย ๆ อยู่ในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น หรือว่ามีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางมายาวนาน โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นปริมณฑลของกรุงเทพฯ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC แล้วก็ลามไปในหลายจังหวัดของภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน...” (ดูแผนที่การลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย, มกราคม 2560 ถึงธันวาคม 2564)

 

แผนที่แสดงการลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย มกราคม 2560 - ธันวาคม 2564 โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

 

สำหรับปี 2565 (มกราคมถึงพฤศจิกายน) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งหมด 10 ครั้ง และมีการปล่อยน้ำเสียทั้งหมด 22 ครั้ง

แม้จะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและแพร่หลาย แต่การลักลอบทิ้งก็ยังเป็นเพียงมิติหนึ่งที่สะท้อนถึงความบกพร่องในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่และสร้างผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ  ในประเทศไทย

ตามหลักสากลแล้ว การจัดการกากอุตสาหกรรมควรทำเป็นระบบปิด (Closed System) หมายความว่า กากอุตสาหกรรมที่ถูกนำเข้าระบบต้องมีการติดตามตรวจสอบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ข้อมูลชนิด รหัสของเสีย และปริมาณของกาก ณ ต้นทางของแหล่งกำเนิดต้องสอดคล้องกับปริมาณกากที่ถูกขนส่งตลอดเส้นทาง และชนิดและปริมาณที่ถูกบำบัดหรือกำจัดที่ปลายทาง รวมถึงวิธีการบำบัดและกำจัดที่ปลายทางจัดการ ภายใต้ระบบดังกล่าวต้องมีการระบุข้อมูลว่าแหล่งกำเนิด ผู้ขนส่ง ผู้รับบำบัดและกำจัดคือใคร ทั้งนี้ก็เพื่อยืนยันว่า กากอุตสาหกรรมอันตรายไม่ได้รั่วไหลตามรายทางจนไปปนเปื้อนและทำร้ายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของประชาชน

ทว่าในประเทศไทย สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ความแพร่หลายของการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีการรั่วไหลออกนอกระบบในชั้นของการขนส่งอย่างขนานใหญ่ กล่าวคือ แทนที่ของเสียจะถูกนำไปบำบัดหรือกำจัดอย่างถูกวิธี กลับถูกนำมาลอบทิ้งระหว่างทาง เช่น พื้นที่รกร้าง ห่างไกลสายตาคน ตามบ่อยืมดิน เป็นต้น แต่นี่ไม่ใช่ขั้นตอนเดียวของระบบที่พบการรั่วไหล

โรงงานหลายแห่งในประเทศไทยมีการกักเก็บของเสียอุตสาหกรรมปริมาณมากไว้ในโรงงานโดยผิดกรรมวิธี เช่น เก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ปิดมิดชิด ทำให้ของเสียรั่วกระจายบนพื้นโรงงาน (ซึ่งบางครั้งไม่มีการปูพื้นคอนกรีตเพื่อกันการซึมลงดิน) หรือการกักเก็บของเสียโดยขาดซึ่งมาตรการความปลอดภัยที่รัดกุม ทำให้เกิดอุบัติภัย เช่น เพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี หรือสารเคมีรั่วไหล ฯลฯ นอกจากนั้น โรงงานบางแห่งยังมีการฝังหรือถมของเสียลงใต้พื้นดินของโรงงานเองด้วย ซึ่งกรณีที่พบลักษณะนี้มักเป็นโรงงานที่เช่าพื้นที่ในการประกอบการ

การรั่วไหลยังเกิดในชั้นของการบำบัดและกำจัดของเสีย ทุกวันนี้มีโรงงานคัดแยก ฝังกลบ กำจัด และรีไซเคิลของเสียหลายแห่งที่ประกอบกิจการโดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่รัดกุม อาทิ มีการฝังกลบของเสียอุตสาหกรรมโดยไม่ปรับเสถียร ไม่สามารถป้องการการรั่วซึมจากหลุมฝังกลบสู่ชั้นน้ำใต้ดิน การเผาของเสียอันตรายในที่โล่งแจ้ง เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์

 

การเผาของเสียในที่โล่งแจ้งที่บ่อขยะ ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์

ภาพถ่ายโดย กานต์ ทัศนภักดิ์

 

การรั่วไหลของกากอุตสาหกรรมที่กล่าวมานี้หมายถึงการรั่วไหลของสารพิษอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเคยตรวจพบสารโลหะหนัก เช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม ฯลฯ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เช่น ไวนิลคลอไรด์ และเบนซีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตามการจำแนกขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ IARC (International Agency for Research on Cancer) และสารมลพิษตกค้างยาวนาน เช่น Short-Chain Chlorinated Paraffins (SCCP) และ Polychlorinated Biphenyls (PCBs) รวมไปถึงสารในกลุ่ม PFAS ซึ่งถูกขนานนามว่า “สารเคมีอมตะ” ในพื้นที่ปนเปื้อนกากอุตสาหกรรมหลายแห่งในประเทศไทย

เพ็ญโฉมกล่าวเสริมว่า “เราเคยเก็บตัวอย่างไข่จากไก่ที่คุ้ยเขี่ยในพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียจากอุตสาหกรรมไปตรวจ เราก็พบสารมลพิษตกค้างยาวนาน ในอีกพื้นที่หนึ่ง เราเคยตรวจพบสารปรอทในปลาที่เป็นแหล่งต้นน้ำ นี่แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายไปได้ไกลของมลพิษบางอย่าง และการลุกลามของปัญหามลพิษที่เข้าไปสะสมในห่วงโซ่อาหารแล้ว”

“ความเสียหายทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่นี่คือผลกระทบที่ประชาชนต้องแบกรับ จากการรั่วไหลของระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม” เพ็ญโฉมกล่าว

ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามว่า การรั่วไหลเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะอุดรอยรั่วเหล่านี้ได้อย่างไร...

 

ภาพมุมสูงจุดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

ภาพถ่ายโดย กานต์ ทัศนภักดิ์ 

 

งานสัมมนา “การจัดการกากอุตสาหกรรม” – ค้นหารอยรั่ว สุมหัวแก้ปัญหา

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้จัดงานสัมมนา “การจัดการกากอุตสาหกรรม” เพื่อศึกษาทบทวนสถานการณ์และปริมาณกากอุตสาหกรรมและระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมจากหลายภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

งานสัมมนานี้กลายเป็นชุมทางที่ “ตัวละคร” สำคัญจากทุกภาคส่วน – รัฐ เอกชน ประชาชน – ได้มาบรรจบพบกัน ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานที่ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนจากกากอุตสาหกรรมในสิ่งแวดล้อมของประเทศ กรมศุลกากรซึ่งติดตามปัญหาการนำเข้าขยะโดยผิดกฏหมาย หน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการจังหวัด จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการจัดการกากอุตสาหกรรมโดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานที่ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม โรงงานฝังกลบขยะ โรงงานรีไซเซิล ฯลฯ รวมถึงตัวแทนจากประชาชนที่คอยติดตามผลกระทบจากมลพิษกากอุตสาหกรรม

มูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ไปรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานสัมมนานี้ จึงได้ถือโอกาสสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนที่มาร่วมงานดังกล่าว พร้อมทั้งนำข้อมูลที่รวบรวมจากการแลกเปลี่ยนและนำเสนอในงานดังกล่าว มานำเสนอไว้ ด้วยหวังว่าอาจพอช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ว่า “รูรั่ว” ของการจัดการเกิดขึ้นตรงไหนและอย่างไร ที่สำคัญคือ เราพอมีทาง “อุดหรือปิดรูรั่ว” ได้หรือไม่ อย่างไร เพื่อจะได้พิจารณาหา “ก้าวต่อไป” ในการแก้ไขปัญหามลพิษกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย

 

รูรั่วเบื้องต้น: ฐานข้อมูลไม่สะท้อนความจริง

 

ตลอดงานสัมมนา “ตัวละคร” ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอันดับต้น ๆ คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้นำของเสียออกจากโรงงานผู้ก่อกำเนิด การอนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ขนส่งกาก รวมไปถึงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการและการกำกับดูแลโรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดของเสีย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของหลุมฝังกลบขยะ โรงคัดแยกขยะ โรงงานรีไซเคิล เป็นต้น

หากงานสัมมนานี้ต้องการจะตอบคำถามว่าทำไมระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมมีการรั่วไหลมากถึงขนาดนี้ หน่วยงานที่ควรจะมีข้อมูลที่จะตอบคำถามดังกล่าวคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ในการนำเสนอของนุชนาถ สุพรรณศรี นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ระบุตัวอย่างของ “ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม” เช่น ผู้ก่อกำเนิดกากไม่ยอมรับว่ากากของตนมีการปนเปื้อน เอากากไปบำบัดไม่ครบ ผู้ขนส่งกากที่ขนกาก “ไปไม่ถึงที่” หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ขนตั้งแต่แรก รวมไปถึงผู้รับกำจัดที่ “บำบัดไม่ได้” หรือไม่ได้รับอนุญาตแต่ยังรับกากอุตสาหกรรมไว้อยู่ดี

นุชนาถกล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาเหล่านี้ เพียงแต่มีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรทางบุคลากรและงบประมาณ

การนำเสนอของนุชนาถยังกล่าวถึง “การดำเนินการ” ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ซึ่งรวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายเรื่องการจัดการของเสียให้รัดกุมและละเอียดยิ่งขึ้น และการปรับปรุงระบบการแจ้งขนส่งของเสีย

“การดำเนินการ” ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่น่าสนใจข้อหนึ่งคือการ “เร่งรัดการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยได้ดำเนินการเปรียบเทียบคดีการไม่จัดส่งรายงานประจำปี 2564 สก.3 และ สก.5 จำนวนกว่า 3,000 โรงงาน”

ใบ สก.3 และ สก.5 คือใบแจ้งเกี่ยวกับรายละเอียดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว สำหรับผู้ก่อกำเนิดกากฯ และผู้รับบำบัดกำจัดกากฯ ตามลำดับ การที่มีผู้ประกอบการไม่ส่งรายงานเป็นหลักพัน น่าจะส่งผลกระทบต่อฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่มากก็น้อย

ในการนำเสนอของกรมควบคุมมลพิษ ยังได้อ้างถึงสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2558 ที่ระบุว่า มีกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นปีละประมาณ 3.35 ล้านตัน แต่ในปี 2563 และปี 2564 พบว่ามีของเสียที่นำเข้าสู่ระบบการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1.28 ล้านตัน และ 1.50 ล้านตัน ตามลำดับ

หากข้อมูลสถิติในปี 2558 สอดคล้องกับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่มีอยู่จริงในปีนั้น สาเหตุที่ตัวเลขข้างต้นมีความแตกต่างกันถึงประมาณ 2 ล้านตัน ก็มีความเป็นไปได้สองประการคือ หนึ่ง ระหว่างปี 2558 – 2564 ปริมาณกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ลดลงกว่าครึ่ง หรือสอง ปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่ถูกนำเข้าสู่ระบบ “ควบคุมการกำจัดกากอุตสาหกรรม” ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีไม่ถึงครึ่ง

ถ้าความแตกต่างที่ว่าเกิดเพราะประการที่สอง กากอุตสาหกรรมที่หายไปจากระบบก็คงเป็นกากอุตสาหกรรมที่ถูกนำไปทิ้งในพื้นที่เช่นตำบลหาดนางแก้ว ตำบลท่ากระดาน และตำบลดีลัง

“ระบบของกรมโรงงานอุตสากรรมทำระบบไว้ดี คือการนำของออกจากต้นทางไปปลายทางจะต้องมีหลักฐานแสดง แต่ว่าในกรณีของที่ดีลัง ต้นทางปลายทางถูกต้อง แต่ของมันไปไม่ถึงปลายทาง มีการลักลอบเอาของเสียมาทิ้งที่อื่น เพื่อลดต้นทุนในการกำจัด” พิทยา ปราโมทย์วรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวในงานสัมมนา

 

ภาพการลักลอบทิ้งน้ำเสียที่ ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา

ภาพถ่ายโดย ปุณญธร จึงสมาน

 

รูรั่วที่ซ้ำซ้อน: ความหละหลวมในการกำกับดูแล

 

นอกจากฐานข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความจริงแล้ว ปัญหาอีกข้อที่นำไปสู่การรั่วไหลจากระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมคือความหละหลวมในการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ

ประเด็นนี้มีการแย้มพรายกล่าวถึงเป็นครั้งคราวในงานสัมมนา แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดมาก อย่างไรก็ตามเพ็ญโฉม ซึ่งกล่าวถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรมในงานสัมมนานี้ว่า เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สูงมาก แต่ที่ความรับผิดชอบยังไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่เรื่องการควบคุมการจัดการกากอุตสาหกรรมยังหละหลวม

นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังปรากฏเด่นชัดจากกรณีปัญหามลพิษกากอุตสาหกรรมหลายกรณีที่ถูกกล่าวถึงในงานสัมมนา  

ยกตัวอย่างเช่น กรณีหลุมฝังกลบขยะบริษัทเอกอุทัย จำกัด (บริษัทเอกอุทัยฯ) สาขาอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในกรณีนี้ ประชาชนบ้านม่วงชุม อำเภอศรีเทพ ร้องเรียนมาโดยตลอดกว่า 4 ปีว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของบริษัทดังกล่าว อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ตรวจพบสารอินทรีย์และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในน้ำบาดาลที่เก็บจากบ่อของประชาชนและแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคุณสมบัติทางเคมีของน้ำชะขยะในบริษัท [6]

ทว่า ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมกลับยังคงออกใบอนุญาตให้โรงงานเปิดหลุมฝังกลบที่สอง กระทั่งประชาชนในพื้นที่รู้สึกตีบตัน จนต้องร่วมกันฟ้องกรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และบริษัทเจ้าของโรงงานต่อศาลปกครอง

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังการพิจารณาคดีแบบเร่งด่วนที่ใช้เวลาเพียงสามเดือน ศาลปกครองนครสวรรค์พิพากษาว่า หน่วยงานทั้งสี่ รวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ละเลยหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร โดยได้กำหนดเวลา 30 วันให้หน่วยงานต่างๆ กำกับควบคุมการแก้ไขความเดือดร้อนจากหลุมฝังกลบขยะของบริษัทเอกอุทัยฯ ให้สิ้นสุดลง

กรณีศรีเทพไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกากอุตสาหกรรมต้องไปดิ้นรนหาทางออกในชั้นศาล หลังจากที่ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐให้แก้ไขปัญหามานาน แต่ไม่เป็นผล

 

ประชาชนบ้านม่วงชุมยื่นฟ้องศาลปกครองในปี 2565 หลังได้รับผลกระทบจากหลุมฝังกลบขยะมานานเกือบครึ่งทศวรรษ ต่อมาศาลปกครองพิพากษาว่าอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ , นายก อบต.คลองกระจัง และ อบต.ครองกระจัง ละเลย ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควร

ภาพถ่ายโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

 

อีกหนึ่งกรณีคือประชาชนตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ (แวกซ์ กาเบ็จฯ) เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถยับยั้งปัญหา จนพวกเขาตัดสินใจยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าว ในปี 2560 และได้รับชัยชนะในปี 2563

ต่อมาในปี 2564 ประชาชนชาวชุมชนบ้านหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ตัดสินใจยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากบริษัทวิน โพรเสส จำกัด หลังได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของบริษัทดังกล่าวมาเกือบสิบปี ซึ่งตลอดเวลาดังกล่าวจวบจนปัจจุบัน หน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถระงับผลกระทบหรือหยุดยั้งการละเมิดกฎหมายของโรงงาน

“ทุกวันนี้ ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องไปพึ่งพาอำนาจศาล เพราะหน่วยงานรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้ บางส่วนกำลังรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อต่อต้านการเข้ามาของอุตสาหกรรมรีไซเคิลของเสีย” เพ็ญโฉมกล่าว “นี่คือความบานปลายของปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และจะส่งผลกระทบต่อไปหากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่เริ่มกำกับดูแลผู้ประกอบการอย่างจริงจัง”

 

ประชาชนตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่ 17 ตุลาคม 2565 เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหามลพิษกากอุตสาหกรรมจากของเสียที่ตกค้างในโรงงาน    บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด 

ภาพถ่ายโดย ประกายกานต์ พันเพชร

 

อุปสรรคในการอุดรูรั่ว: เยียวยา-ฟื้นฟู... เป็นไปได้ยาก

 

ในขณะที่ปัญหามลพิษกากอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว จนฐานข้อมูลและการกำกับดูแลของรัฐดูจะตามไม่ทัน พื้นที่ที่ได้รับการปนเปื้อนไปแล้วส่วนใหญ่ยังเฝ้ารอการฟื้นฟูและเยียวยา

ในช่วงบ่ายของงานสัมมนา การพูดคุยดำเนินมาถึงประเด็นเรื่องการแก้ไขการปนเปื้อน การเยียวยาความเสียหาย และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ เป็นอีกครั้งที่มีการตั้งคำถามถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม” ตามความในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 [7]

นุชนาถกล่าวว่า ที่ผ่านมาในกรณีที่เกิดความเสียหายจากกากอุตสาหกรรม มักต้องใช้เวลานานในการดำเนินการตามกฎหมาย จึงใช้เวลานานในการกอบกู้สถานการณ์หรือเยียวยาประชาชนเช่นกัน

ความขาดแคลนงบประมาณเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมล่าช้า เห็นได้จากที่อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราเคยกล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ที่ยังไม่มีการขนย้ายน้ำเสียออกจากจุดลักลอบทิ้งท่ากระดาน เป็นเพราะยังไม่มีงบประมาณ [8]

นุชนาถยังได้ถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้งบประมาณ “กองทุนสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์และการเยียวยาความเสียหายเป็นไปได้เร็วขึ้น โดยกองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของเพ็ญโฉม กองทุนนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ครอบคลุมในเรื่องนี้ และแม้กองทุนนี้จะมีเงินอยู่มากมายจำนวนหนึ่ง แต่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนมลพิษต้องใช้เงินมหาศาล

ความยากลำบากในการดึงเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้รับการพิสูจน์ในที่ประชุมสัมมนา เมื่อผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรีสอบถามถึงการนำงบจากกองทุนดังกล่าวมาฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับการปนเปื้อนรอบโรงงานบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ คำตอบที่ได้รับคือ ยังไม่มีช่องในการอนุมัติงบประมาณนี้ ต้องรอให้พื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเสียก่อน ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาไม่น้อย

 

กากอุตสาหกรรมที่ยังตกค้างในโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ แม้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯ รับผิดชอบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและเยียวยาความเสียหายตั้งแต่ปี 2563

 

แนวทางการแก้ไขปัญหา

 

ตลอดงานสัมมนานี้ นอกจากจะมีการกล่าวถึงปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ด้าน ยังมีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นโดยผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน

ต่อปัญหาความบกพร่องในฐานข้อมูล ธีระพล ตีรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและนำไปสู่การส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเหมาะสม เช่นการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลชนิดและปริมาณกากในแต่ละขั้นตอนของระบบได้ทันเหตุการณ์ สอดรับกับข้อเสนอของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการดำเนินการปรับปรุงระบบการแจ้งขนส่งกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรให้เสถียรกว่าที่เป็นอยู่

ในส่วนของปัญหาการกำกับดูแล มีการกล่าวถึงการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี กรรมการบริษัท เวสต์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด ผู้ประกอบการบำบัดและกำจัดของเสียที่ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรในงานสัมมนานี้ ได้เสนอให้มีการย้ายอำนาจหน้าที่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับของเสีย ให้ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และควรมีหน่วยงานเฉพาะที่ครอบคลุมการจัดการของเสียทุกประเภท กล่าวคือ อำนาจนี้ควรแยกจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมตลอดมา

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช้ปัญหาที่จะแบ่งแยกพื้นที่ในการกำกับดูแล ถ้ามีการปนเปื้อนจากโรงงาน ไม่มีใครไปบอกได้ว่าจะจำกัดผลกระทบแค่รั้วโรงงาน ผลกระทบจะกระจายไปทุกที่” พูนศักดิ์กล่าว

พูนศักดิ์ยังได้ให้ข้อเสนอในการแก้ไขอุปสรรคในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากกากอุตสาหกรรมว่า ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

“ควรมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในรูปกองทุน เพื่อดำเนินการฟื้นฟูได้ในทันทีและสอดคล้องกับสถานการณ์ ผู้ประกอบการที่เป็น waste processor ควรต้องถูกบังคับให้จ่ายเงินค้ำประกันเข้ากองทุนนี้ มิฉะนั้นนี่จะเป็นธุรกิจต้นทุนต่ำ ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการด้วยต้นทุนถูก ๆ จากนั้นเมื่อเกิดมลพิษก็ปิดบริษัทหนี”

มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ติดต่อชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นทนายผู้ฟ้องคดีให้กับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษหลายแห่ง รวมทั้งตำบลน้ำพุและบ้านหนองพะวา เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้

ชำนัญกล่าวว่า กองทุนในลักษณะนี้เคยมีการหยิบยกขึ้นมาในชั้นการร่าง พ.ร.บ. โรงงานฉบับล่าสุด แต่ถูกยกออกในชั้นกฤษฎีกา แน่นอนว่า ภาคประชาชนสามารถผลักดันให้เกิดกองทุนในลักษณะนี้ได้ แต่สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างตำบลน้ำพุ คงต้องฟื้นฟูโดยภารกิจหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมไปก่อน ซึ่งก็อาจจะต้องไปไล่เบี้ยเอาเงินจากผู้ก่อมลพิษอีกที แต่ก็ต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะได้เงินมาก็คงยาก แล้วก็จะเป็นภาระของงบประมาณประเทศ

กล่าวได้ว่า การจัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้เป็นทางออกที่ต้องใช้เวลานาน ไม่ต่างกับการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทางออกต่าง ๆ ที่นำเสนอ แม้จะน่าสนใจ แต่ก็ยังดูห่างไกลปัจจุบัน และไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงก่อนที่ปัญหาจะบานปลายไปกว่านี้หรือไม่

 

ความเสียหายที่เกิดกับพื้นที่เกษตรในบ้านหนองพะวา หมู่ที่ 4 ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมของบริษัทวิน โพรเสส จำกัด 

ภาพถ่ายโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

 

ท่ามกลางความมืดบอด

 

“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมเคยทำสไลด์ที่พูดถึงปัญหานี้ วันนี้ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ที่ผมไม่ต้องเปลี่ยนเนื้อหาสไลด์เลย...” พูนศักดิ์กล่าวกลางวงเสวนา

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) [9] ในแผนดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายให้ได้ 100% ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกันกับที่ปรากฏในแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564

จากงานสัมมนาครั้งล่าสุดนี้ เห็นได้ชัดว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2559 ยังไม่บรรลุผล ในขณะที่ปัญหาก็ยังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆคำถามคือ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) จะซ้ำรอยนี้หรือไม่...

“หากประเทศไทยต้องการจะบรรลุเป้าหมายการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายให้ได้ 100% ย่อมต้องการเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ในเบื้องต้น ต้องทำความเข้าใจขนาดของปัญหาให้ได้ก่อน” เพ็ญโฉมกล่าว

“เราอยู่ท่ามกลางความมืดบอดทางข้อมูล แม้ในงานสัมมนาครั้งนี้ ยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า ทุกวันนี้ เรามีกากอุตสาหกรรมในประเทศเท่าไหร่ มีกี่พื้นที่ที่ได้รับการปนเปื้อนไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดกับประชาชนขยายวงกว้างไปเท่าไหร่” เพ็ญโฉมกล่าวต่อ

กล่าวคือ หากเราต้องการจะแก้ไขปัญหาให้ได้ 100% ก็ต้องรู้เสียก่อนว่า 100% คือเท่าไรกันแน่

อนึ่ง ที่ผ่านมา ฐานข้อมูลด้านกากอุตสาหกรรมของภาครัฐไม่เพียงแต่มีความบกพร่อง แต่ยังเข้าถึงได้ยาก หากประชาชนต้องการจะทราบว่า โรงงานแห่งหนึ่งผลิตกากอุตสาหกรรมเท่าไร ถูกส่งไปที่ไหน บำบัดและกำจัดที่ไหนอย่างไร ก็ต้องผ่านกระบวนการทางราชการที่ยืดยาว ทำให้ประชาชนไม่สามารถยื่นมือมาช่วยหน่วยงานรัฐในการเฝ้าระวังการรั่วไหลของกากอุตสาหกรรมได้

หนึ่งทางออกของปัญหาการเข้าถึงข้อมูลมลพิษคือ “พ.ร.บ. การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” (Pollutant Release and Transfer Register – PRTR) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลสารมลพิษที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และครอบคลุมถึงการปล่อยมลพิษจากกากของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมไปบำบัดหรือกำจัดนอกเขตพื้นที่สถานประกอบการ หรือการนำกากของเสียเหล่านี้กลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ ด้วยการแปรรูปหรือการรีไซเคิล

“ปัจจุบัน กฎหมาย PRTR ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว หลังจากนี้จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชื่อสนับสนุน เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลมลพิษอย่างโปร่งใสในที่สุด” เพ็ญโฉมกล่าว “นอกจากกฎหมาย PRTR แล้ว ก้าวต่อไปในการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมคือการรวบรวม ศึกษา และตีแผ่ข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนทั้งหมด เพื่อเป็นฐานข้อมูลมลพิษที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนสามารถร่วมกันใช้ทำความเข้าใจ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกทางอย่างจริงจัง”

“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องก้าวออกจากความมืดบอด สู่การสร้างฐานข้อมูลกากอุตสาหกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ในการแก้ไขปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมต่อไปได้” เพ็ญโฉมกล่าวทิ้งท้าย

 

[1] กรมควบคุมมลพิษ, “คพ. นำตรวจสอบการลักลอบทิ้งของเสียเคมีในพื้นที่เอกชน จังหวัดลพบุรี เอาผิดทุกกฎหมายทั้งแพ่งและอาญา”, เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ, 17 กันยายน 2564. https://www.pcd.go.th/pcd_news/14519

[2] กองบรรณาธิการมููลนิธิบููรณะนิเวศ, “ลักลอบทิ้ง “ของเสีย” ในสวนปาล์ม #ฉะเชิงเทรา - ทองแดง สังกะสี ปรอท

เกินมาตรฐาน หวั่นปนเปื้อนน้ำใต้ดิน”, เฟซบุ๊คมููลนิธิบููรณะนิเวศ (EARTH), 2 ธันวาคม 2564. https://www.facebook.com/108056682577538/posts/pfbid02g9UHdLxhk6UssYAEANKTHygmPfWR1Su1d6nt6cuicZ3uVhnwp3XmsRvuTitdErTPl/?d=n

[3] Thai PBS News, “ตรวจสอบลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี”, ช่องยูทูบ Thai PBS News, 24 มกราคม 2565. https://www.youtube.com/watch?v=9Y6LMJwC_aA

[4] นราวิชญ์ เชาวน์ดี, “ลักลอบทิ้งกากล็อตใหญ่จากระยอง EARTH จี้กรมโรงงานฯ เปิดข้อมูล”, เว็บไซต์ Green News Agency, 9 กันยายน 2565. https://greennews.agency/?p=30337#:~:text=กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยตรวจ,การทางกฏหมาย”

[5] สำนักข่าวไทย, “เปิดรายชื่อ 12 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย”, เว็บไซต์สำนักข่าวไทย, 30 มีนาคม 2565. https://tna.mcot.net/environment-912957

[6] หนังสือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล, ที่ ทส 0707/94, ถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบการปนเปื้อนในน้ำบาดาล พื้นที่โดยรอบบริษัทเอกอุทัย จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์, ลงวันที่ 11 มกราคม 2565.

[7] กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560, ลงวันที่ 13 กันยายน 2560.

[8] สำนักข่าวช่อง 7HD, “Green Report : จ่อยื่นรายชื่อถึงผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา เร่งรัดแก้ไขลักลอบทิ้งสารเคมี”, เว็บไซต์ช่อง 7HD, 11 กรกฎาคม 2565. https://news.ch7.com/detail/581832

[9] The Active, “คพ. กางแผน 5 ปี จัดการขยะชุมชน เน้นรีไซเคิล ผลิตพลังงาน ลดเทกอง ฝังกลบ”, เว็บไซต์ The Active Thai PBS, 7 สิงหาคม 2065. https://theactive.net/news/pollution-20220807/?fbclid=IwAR212MfCxUf6r_qJGc75bN04r4_8mOM8bR4_kEd9751SXUm-0wTN5iozZeY