"ฅนรักษ์บ้านเกิด" จ.เลย ร้อง กมธ. รัฐสภา ขอมีส่วนร่วมฟื้นฟูหลังปิดเหมืองถาวร (5 ส.ค. 63)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 5 สิงหาคม 2563
"ฅนรักษ์บ้านเกิด" จ.เลย ร้อง กมธ. รัฐสภา ขอมีส่วนร่วมฟื้นฟูหลังปิดเหมืองถาวร


ภาพ:  ธนพร ศรีสุขใส, มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

ปชช. "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" จ.เลย เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ปธ.กมธ. ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองแร่ทองคำ

            (5  สิงหาคม  2563) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา ประชาชน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” จาก 6 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิชาติ สิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐสภา เพื่อขอให้มีการติดตามตรวจสอบให้เกิดการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด โดยมีนายอภิชาติ สิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการฯ ที่ดิน เป็นผู้ออกมารับหนังสือ พร้อมทั้งรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาดำเนินการติดตามและตรวจสอบต่อไป

โดยในหนังสือของประชาชน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน” ที่นำมายื่นในครั้งนี้ ได้ระบุถึงข้อเรียกร้อง 4 คือ

1.   ขอให้ตรวจสอบสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเสนอความเห็นให้ยกเลิกสัญญา พร้อมทั้งเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

2.   ขอให้แผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดขอบเขตการฟื้นฟู โดยเน้นแผนฟื้นฟูของภาคประชาชนเป็นหลัก ที่ครอบคลุมมิติสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

3.   ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอำนวยการเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

4.   ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ในระหว่างที่ยังรอการฟื้นฟู เช่น ปัญหาสันเขื่อนกักเก็บกากแร่ทรุดตัว ปัญหาการรั่วไหลสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่หรือบริเวณอื่น ๆ ของเหมืองที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถล่ม รวมถึงการสำรวจการกระจายตัวของสารไซยาไนด์และสารโลหะหนัก ในพื้นที่เกษตรกรรม และที่อาศัยของชุมชน โดยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับรู้และดำเนินการในทุกขั้นตอนการแก้ไขปัญหา

            ทั้งนี้ ตัวแทนประชาชน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ได้เปิดเผยว่า การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมาเกือบ 14 ปีของพวกตน เหมือนเดินมาถึงครึ่งทางเมื่อศาลจังหวัดเลยมีคำพิพากษา (คดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561) ว่าการปนเปื้อนมลพิษเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงพิพากษาให้บริษัททุ่งคำฯ ซึ่งเป็นจำเลย ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำและดิน ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย โดยให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นโจทก์มีส่วนร่วมในการผลักดันแผนและการดำเนินการฟื้นฟูดังกล่าว   โดยภายหลังคำพิพากษา หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงกรมป่าไม้ สำนักงานปฏิรูปที่ดิน กรมอนามัย ได้พยายามเสนอแผนฟื้นฟูภายใต้แนวคิดและแนวทางที่แตกต่างกัน อีกทั้งพวกตนยังเห็นว่าการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูนั้นดูจะละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน พวกตนจึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นและจัดทำแผนฟื้นฟูภาคประชาชนออกมา โดยให้ความสำคัญกับมิติทางสังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน ไปพร้อมๆ กับมิติทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ภายใต้เป้าหมาย “คนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีความหลากหลายของอยู่ของกิน หนี้สินลด หมดความขัดแย้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูชุมชน”  และสำหรับการเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ พวกตนจึงมุ่งหวังถึงการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ