ชาว "น้ำพุ" ร้องตรวจสอบโครงการกรมน้ำบาดาล หวั่นไม่โปร่งใส-เอื้อโรงงานผู้ก่อมลพิษ (13 ก.ค. 63)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 13 กรกฎาคม 2563
ชาว "น้ำพุ" ร้องตรวจสอบโครงการกรมน้ำบาดาล หวั่นไม่โปร่งใส-เอื้อโรงงานผู้ก่อมลพิษ


ภาพ: ธนพร ศรีสุขใส/มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

ประชาชนชาว ต.น้ำพุ ราชบุรี ร้อง ก.ทรัพย์ - กรอ. ตรวจสอบโครงการประเมินขอบเขตและแหล่งกำเนิดมลพิษในโรงงานรีไซเคิลขยะคู่คดี ชี้ปิดกั้นการมีส่วนร่วม – เปลี่ยนพิกัดขุดเจาะตามใจโรงงาน

          (13 ก.ค. 63) เมื่อเวลาประมาณ 10.00  น. ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนประชาชนชาว ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการฝังกลบและรีไซเคิลของเสียอันตรายของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ (อบต. น้ำพุ) ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำ "โครงการประเมินขอบเขตและแนวทางการฟื้นฟูสารอันตรายในแหล่งน้ำบาดาลบริเวณตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี และตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี" เพื่อศึกษารายละเอียดของปัญหา ขอบเขต และต้นตอของการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนแนวทางการก้ไขปัญหาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่ต่อมาประชาชนในพื้นที่กลับพบความไม่โปร่งใสจนเกิดข้อกังขาและความไม่ไว้วางใจ จึงได้เดินทางมาร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมให้มีการทบทวนและตรวจสอบโครงการดังกล่าว โดยมีนางหทัยรัตน์ ไอยรากาญจนกุล ผู้อำนวยการส่วนประสานการเมือง สำนักรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นผู้แทนออกมารับหนังสือ

         ทั้งนี้ ตัวแทนประชาชนและ อบต.น้ำพุ เปิดเผยว่า จากเดิมโครงการดังกล่าวซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะทำการเข้าสำรวจและขุดเจาะสำรวจหาแหล่งกำเนิดและขอบเขตการปนเปื้อนมลพิษภายในพื้นที่ตั้งโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ตามแผนและพิกัดจุดเจาะสำรวจด้วยเครื่อง MIP ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้นำเสนอต่อคณะทำงานและผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมแล้ว และยินดีให้คณะทำงานฯ และผู้แทนขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมสังเกตการณ์

          แต่ต่อมากลับแจ้งว่าให้เข้าได้เฉพาะเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบข้อมูลด้วยว่า ทางบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ได้ขอให้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล "เปลี่ยนจุดเจาะสำรวจ" ต่างไปจากพิกัดที่ได้กำหนดเอาไว้ในแผนเดิมและผ่านการเห็นชอบแล้วจากที่ประชุม  ทำให้ประชาชนกังขาถึงความโปร่งใสของการดำเนินโครงการและความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงได้เดินทางมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมในครั้งนี้

         โดยข้อเรียกร้องของประชาชนชาว ต.น้ำพุ ในการมาครั้งนี้ คือ ขอให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าวเพื่อให้มีดำเนินการไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส โดยในเบื้องต้นนี้ควรยุติการปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการเข้าสังเกตการณ์ของประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และควรเปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่น ศรัทธา และไว้วางใจต่อหน่วยงานภาครัฐของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสาธารณชนที่ติดตามการแก้ไขปัญหา

         ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มตัวแทนประชาชนและ อบต.น้ำพุ ได้เดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีนายทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมโรงงาน และนายกัมปนาท รุ่งเรืองชัยศรี ผอ.กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนออกมารับหนังสือร้องเรียน


บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)

          อนึ่ง บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 54/1 ม.8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี บริเวณรอยต่อระหว่างตำบลรางบัวอำเภอ จอมบึง และตำบลน้ำพุอำเภอ เมือง จังหวัดราชบุรี  เดิมชื่อบริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ จำกัด (ก่อตั้งเมื่อปี 2543) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ทะเบียนโรงงานเลขที่ จังหวัด3-45(1)-1/43 รบ[1] ประกอบกิจการผลิตสีทาบ้าน น้ำมันทาแบบ  อัดเศษกระดาษ  อัดเม็ดพลาสติก ซ่อมถังน้ำมัน และถังอื่นๆ  มีขนาดกำลังเครื่องจักร 487.97 แรงม้า จำนวนคนงาน 38 คน โดยหลังจากนั้นได้ขออนุญาตขยายโรงงานอีกหลายครั้ง ก่อนจะได้ยื่นขอรับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน “...นำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานกลับมาใช้ใหม่ และฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น กากอุตสาหกรรม และขยะชุมชน”[2]  เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2545  และเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์” ในปีถัดมา (พ.ศ. 2546) และได้ระบุลักษณะธุรกิจอย่างชัดเจนว่า “...ให้บริการ ดำเนินการเกี่ยวกับการบำบัด และกำจัดวัสดุเหลือใช้ กากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแบบครบวงจรรวมถึงการให้บริการฝังกลบกากของเสียประเภทไม่อันตราย”[3] 

          ปัจจุบัน บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรวมทั้งสิ้น 9 ใบ โดยมีโรงงานจำนวน 9 โรง และมีร้านรับซื้อของเก่า1 ร้าน ชื่อร้าน "พงษ์เจริญ" ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งมีเนื้อที่กว่า 300 ไร่   ลักษณะภูมิประเทศของที่ตั้งโรงงานเป็นที่ราบเชิงเขาของ "เขาทะลุ" ระดับความสูงระหว่าง 80-100 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนซึ่งเพาะปลูกพืชผลต่างๆ เช่น พุทรา ลำไย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ผักสวนครัว มะม่วง อ้อย มะพร้าว ฯลฯ  บริเวณด้านทิศตะวันออกของที่ตั้งโรงงานอยู่ชิดกับ "ห้วยน้ำพุ" ลำน้ำสาธารณะซึ่งมีทิศทางการไหลในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นลำน้ำสายหลักที่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงใช้อุปโภคบริโภคและประกอบอาชีพเกษตรกรรม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาว ต.น้ำพุ ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน ประชาชนและเกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องใช้น้ำจากห้วยน้ำพุ และบ่อขุด หรือแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการอุปโภคบริโภคและรดพืชผลทางการเกษตร นอกจากนั้นลำห้วยสายนี้ยังเชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำของ "อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง"[4] ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำดิบขนาดใหญ่สำหรับผลิตน้ำประปาและชลประทานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อ.จอมบึง และ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี อีกด้วย  

          ในด้านการร้องเรียนของประชาชนถึงปัญหาความเดือดร้อนและมลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ (หรือบริษัทนิ้วเจริญฯ ในช่วงเริ่มแรก) นั้น เริ่มต้นขึ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2544 ภายหลังจากที่โรงงานของบริษัทได้เริ่มดำเนินกิจการมาได้เพียงประมาณ 1 ปี  โดยตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้ง ต.น้ำพุ อ.เมือง และ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ได้ร้องเรียนไปยังส่วนราชการต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแล ทั้งในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และอีกหลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างนำไปตรวจสอบหลายครั้ง รวมทั้งเคยถูกตรวจพบว่ามีสารมลพิษปนเปื้อนในลำห้วยสาธารณะจนนำไปสู่การประกาศเตือนให้ “ระงับการใช้น้ำ” ในลำห้วยดังกล่าว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงไม่ได้รับการแก้ไขให้ยุติลง

          ต่อมาในปี 2560 ประชาชนชาว ต.น้ำพุ จึงได้ตัดสินใจรวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) และศาลปกครอง ปัจจุบันทั้งสองคดีอยู่ในชั้นศาล  

          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฟ้องคดีแล้ว แต่ปมปัญหาใหญ่หรือคำถามถึงที่มาของการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นเกิดจากจุดใดบ้างในพื้นที่โรงงาน ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบหรือการชี้ชัดจากหน่วยงานภาครัฐ จนนำมาสู่การดำเนินโครงการดังกล่าว.

 

 

 

[1] กระทรวงอุตสาหกรรม, ที่ ป41/2543, ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน, ร.ง.4 ลำดับที่ 1, ทะเบียนโรงงานเลขที่ จ.3-4-45(1)-1/43 รบ, ประเภทหรือชนิดของโรงงานลำดับที่ 45(1), 40(1), 53(5), 97, อนุญาตให้ บริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพนท์ จำกัด, ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2543.

[2] สำนักอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี, ที่ 030331 ร.ง.3, คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน, บริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพนท์ จำกัด, 25 มีนาคม 2545.

[3] “ลักษณะธุรกิจ”, เว็บไซต์บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด. http://www.waxga.co.th/information.html

[4] เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และกานต์ ทัศนภักดิ์ บรรณาธิการ, “ห้วยน้ำพุ”, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, เมษายน 2561, หน้า 33.