การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การเจรจาที่ยาวนานที่สุดได้ข้อตกลงร่วมกันในการจำกัดการปล่อยคาร์บอน
BBC 16 ธันวาคม 2562
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การเจรจาที่ยาวนานที่สุดได้ข้อตกลงร่วมกันในการจำกัดการปล่อยคาร์บอน
การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ครั้งที่ 25 ซึ่งเป็นการประชุมที่ใช้เวลายาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา ยุติลงแล้วในกรุงมาดริดของสเปน โดยที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงสำคัญในเรื่องการจำกัดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก
แม้ที่ประชุมจะตกลงกันได้เรื่องการจำกัดการปล่อยคาร์บอน แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นสำคัญ ๆ อีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องตลาดคาร์บอน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ถูกเลื่อนไปหารือกันในการประชุมครั้งต่อไปในปีหน้า ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ซึ่งทุกประเทศจะต้องเสนอคำสัญญาด้านสภาพอากาศใหม่ด้วย
สิ่งที่เห็นชอบร่วมกันมีอะไรบ้าง
หลังขยายเวลาการหารือกันเพิ่มอีก 2 วัน 2 คืน ในที่สุดช่วงเที่ยงวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น (15 ธ.ค. 2562) บรรดาผู้แทนจากฝ่ายต่าง ๆ ก็ได้บรรลุข้อตกลงที่จะทำให้ได้แผนการลดการปล่อยคาร์บอนที่สมบูรณ์ขึ้นในการประชุมปีหน้าที่เมืองกลาสโกว์
ทุกฝ่ายจะต้องทำทุกวิถีทางที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าจำเป็นต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากยังปล่อยให้เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ คาดว่าทั่วโลกจะต้องเผชิญวิกฤตนั้นในช่วงทศวรรษ 2030
สหภาพยุโรปและชาติที่เป็นเกาะขนาดเล็กได้สนับสนุนข้อตกลงนี้ ขณะที่หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ บราซิล อินเดีย และจีน ได้คัดค้านการผลักดันเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาคีสมาชิกในที่ประชุมได้มีการประนีประนอมกัน โดยชาติที่ร่ำรวยจะต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาได้ทำตามคำสัญญาเกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในช่วงก่อนถึงปี 2020
ปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้
นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังต่อผลของการประชุม
"ประชาคมโลกสูญเสียโอกาสสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหา ปรับตัว และสนับสนุนด้านการเงินในการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศ" เอเอฟพีรายงานคำพูดของนายกูแตร์เรส
ขณะที่โลรองซ์ ทูบิอานา จากมูลนิธิสภาพภูมิอากาศแห่งยุโรป (European Climate Foundation) และเป็นผู้สร้างความตกลงปารีส เรียกผลการประชุมนี้ว่า "ปนเปคละเคล้ากันไปหมด แล้วก็ยังห่างไกลจากสิ่งที่วิทยาศาสตร์บอกว่าเราจำเป็นต้องทำ"
"ผู้เล่นรายสำคัญที่จำเป็นต้องร่วมประชุมในกรุงมาดริด ไม่ได้ทำตามที่คาดหวังไว้ แต่ก็ต้องขอบคุณความร่วมมือกันที่เหนียวแน่นมากขึ้นของรัฐที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ยุโรป ประเทศในแอฟริกาและลาตินอเมริกา ที่ทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ที่ดีที่สุด ซึ่งไม่เป็นไปตามความต้องการของบรรดาผู้ที่ปล่อยมลพิษรายใหญ่"
การตัดสินใจในประเด็นอื่น ๆ รวมถึงเรื่องตลาดคาร์บอน ถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการประชุมกันในเมืองกลาสโกว์
ข้อตกลงในส่วนนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากบรรดานักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม
"ยังดีที่แนวทางแก้ปัญหาแบบใช้กลไกตลาดที่เสนอโดยบราซิลและออสเตรเลีย ซึ่งไม่น่าจะได้ผลและยังเป็นการขัดขวางความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนได้ถูกพักไว้แล้ว การต่อสู้ในเรื่องนี้จะเริ่มต่อในการประชุม COP26 ปีหน้าในเมืองกลาสโกว์" โมฮาเหม็ด อาโดว์ จากกลุ่มพาวเวอร์ชิฟต์แอฟริกา (Power Shift Africa) กล่าว
ผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่ไม่พอใจกับผลการประชุมครั้งนี้รู้สึกว่า มันไม่ได้สะท้อนถึงความเร่งด่วนในทางวิทยาศาสตร์ แต่เทเรซา ริเรรา รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของสเปนยืนยันว่าข้อตกลงมีความชัดเจน
"ประเทศต่าง ๆ ต้องเสนอแผนการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก (nationally determined contributions หรือ NCD) ในปี 2020 ที่ท้าทายมากกว่าสิ่งที่เราพอใจอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำตามหลักวิทยาศาสตร์และตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน รวมถึงการรักษาคำมั่นว่าจะทำมากขึ้นและเร็วขึ้น"
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เจรจาพอใจที่ยังคงรักษากระบวนการนี้ไว้ได้ หลังจากที่มีการหารือกันอย่างซับซ้อนและยุ่งยากในกรุงมาดริด
อะไรคือหลักฐานที่บอกว่าโลกร้อน
ข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization--WMO) ระบุว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นแล้วเกือบ 1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
สถิตบอกว่า ปีที่ร้อนที่สุด 20 อันดับแรกล้วนอยู่ในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 2015-2018 เป็นปีที่ร้อนที่สุด 4 อันดับแรก
WMO ระบุว่า ถ้าสถานการณ์โลกร้อนยังดำเนินต่อไปแบบนี้ อุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้น 3-5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้
ข้อเสนอเดิมที่ให้จำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสถูกมองว่าไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป และจะนำไปสู่ภาวะโลกร้อนในระดับที่เป็นอันตราย เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายเห็นตรงกันว่า การรักษาอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เป็นเป้าหมายที่ปลอดภัยกว่า
แต่รายงานของ IPCC ในปี 2018 ระบุว่า การรักษาเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสจะเป็นจริงได้นั้นต้องอาศัย "การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กว้างขวางและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทุกมิติของสังคม"
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความแตกต่างกันไปในหลายระดับ แต่กล่าวโดยรวมแล้วปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ การขาดแคลนน้ำจืด การเปลี่ยนแปลงด้านความสามารถในการผลิตอาหาร และมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อน และภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมากในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ผลกระทบจะยังคงเกิดขึ้น เพราะส่วนประกอบของระบบภูมิอากาศ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นน้ำและน้ำแข็ง อาจจะต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอุณหภูมิ ขณะที่การกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกไปจากชั้นบรรยากาศอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี