เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เหมืองแร่ผุดทั่วไทย นักวิชาการติงรัฐยุทธศาสตร์แร่ สวนกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน
นักวิชาการเตือน ไทยกำลังเดินสวนทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่มีปัญหา เอื้อประโยชน์กลุ่มผู้ประกอบการเหมือง เปิดช่องผุดโครงการเหมืองแร่ทั่วประเทศ จนสร้างปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วทุกภูมิภาค
ในวันที่ 12 ธันวาคม วันเดียวกับที่สังคมไทยส่วนใหญ่มุ่งจับตาไปที่การอ่านคำพิพากษาศาลอุธรณ์คดีล่าเสือดำ ที่อีกมุมหนึ่งของประเทศ ณ ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรมจากพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินเท้าเป็นระยะเวลา 6 วัน จากชุมชนของตน เพื่อประกาศถึงความเดือดร้อนจากการทำกิจการเหมืองหินในพื้นที่โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชน และเรียกร้องให้มีการปิดเหมือง ถอนประทานบัตรที่ได้มาจากการประชาพิจารณ์ที่มิชอบ
จากคำแถลงของกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ระบุว่า ชุมชนดงมะไฟได้พยายามต่อสู้กับความพยายามเปิดเหมืองหินในพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้านมากว่า 25 ปี โดยระหว่างการต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชน มีชาวบ้านหลายชีวิตต้องถูกฟ้องร้อง คุมขัง หรือแม้กระทั่งถูกลอบสังหาร โดยไม่อาจหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จนถึงบัดนี้ อย่างไรก็ดี แม้เผชิญกับกระแสต้านอย่างแข็งขันจากชาวบ้านในพื้นที่ บริษัทเหมืองหินได้เริ่มเปิดดำเนินการในพื้นที่ และสร้างผลกระทบให้กับชุมชนแล้ว
“เราได้ต่อสู้มาแล้วทั้งในศาลและนอกศาลเพื่อยืนยันอุดมการณ์การอนุรักษ์ป่า แต่หน่วยงานอนุรักษ์ยังอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ป่าไม้ในการทำเหมืองมาจนปัจจุบัน เมื่อป่าถูกทำลายเราจึงเจ็บช้ำน้ำใจ ว่าตนไม่คึควรที่จะเก็บรักษาธงที่ล้ำค่านี้ต่อไป (ธงพิทักษ์ป่า รักษาชีวิต ที่ได้รับพระราชทานจากผลงานการอนุรักษ์ป่าไม้ของกลุ่มชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง)” คำแถลงของกลุ่มชาวบ้านระบุ
ความทุกข์ร้อนของชาวบ้านดงมะไฟ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น จากข้อมูลของนักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม สมลักษณ์ หุตานุวัตร ชี้ว่า อีกหลายๆชุมชนทั่วประเทศก็กำลังประสบกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง การสูญเสียฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชนให้กับเหมือง และการข่มขู่คุกคามเมี่อชุมชนลุกขึ้นคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากแนวนโยบายของภาครัฐตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ที่เอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดำเนินการสำรวจ ขอประทานบัตร และเปิดเหมืองได้อย่างเสรี โดยขาดการคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน
“ถึงแม้ว่ายุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่จะมีหลักการที่ดี โดยมุ่งเน้นให้มีการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างยั่งยืน แต่แท้จริงแล้วยุทธศาสตร์ฉบับนี้กลับมีปัญหามากในทางปฏิบัติ เพราะได้มีการให้อำนาจการวางนโยบายการบริหารจัดการแร่กับคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีสภาการเหมืองแร่เป็นหนึ่งในกรรมการ” สมลักษณ์ กล่าว
“ด้วยเหตุนี้ สภาการเหมืองแร่ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบกิจการเหมือง จึงเข้ามามีบทบาทในการวางนโยบายการจัดการแร่เสียเอง เราจึงพบว่านโยบายการจัดการแร่ในขณะนี้เอื้อประโยชน์อย่างมาก ให้ผู้ประกอบการเหมืองมุ่งทำกำไรโดยการกอบโกยทรัพยากรแร่ของชาติ เป็นเหตุให้ประชาฃนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเดือดร้อนอย่างมากจากการถูกแก่งแย่งฐานทรัพยากร ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเหมือง และการข่มขู่คุกคามจากผู้ประกอบการเหมือง เมื่อชุมชนลุกขึ้นต่อต้านโครงการเหมืองในพื้นที่”
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ตัวแทนสภาการเหมืองแร่ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายใน คณะกรรมการแร่แห่งชาติ และคณะกรรมการแร่จังหวัด ซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติอนุญาตการให้สำรวจและเปิดดำเนินกิจการเหมืองแร่ในแต่ละท้องที่
เธอให้ข้อมูลว่า จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 35 ล้านไร่ทั่วประเทศถูกกำหนดให้เป็นเขตที่มีก่ารสำรวจแร่ ออกประทานบัตร หรืออนุญาตให้เปิดเหมืองแล้ว ตามนโยบายการจัดการแร่ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เธอยังระบุว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่มากที่สุดอยู่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่างแถบ จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก และจ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นแนวสายแร่ทองคำ โดยใน 3 จังหวัดนี้มีพื้นที่ที่เปิดให้มีการสำรวจแร่มีค่าเพื่อเตรียมการเปิดเหมืองแร่ใหม่กว่า 1.3 ล้านไร่
เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ในหลายจังหวัดเป็นเขตที่มีศักยภาพในการทำเหมืองแร่โปแตช และแนวเทือกเขาหินปูนในทุกภูมิภาคทั่วไทยที่เปิดช่องให้กลุ่มทุนเข้าไปตักตวงทรัพยากรจากการทำเหมืองหินอุตสาหกรรม และการผลิตปูนซีเมนต์
“หลายๆเคสที่มีการสำรวจและเปิดเหมืองแร่ ชาวบ้านในพื้นที่แทบไม่รับรู้ข้อมูลใดๆเลย จนกระทั่งบริษัทผู้ประกอบการเหมืองแร่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่แล้ว ซึ่งชี้ว่าชาวบ้านในหลายๆพื้นที่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงกระบวนการประชาพิจารณ์โครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้โครงการเหมืองแร่เหล่านี้ริดรอนสิทธิ และก่อปัญหาอย่างมากให้กับประชาชนในพื้นที่” สมลักษณ์ กล่าว
แม้ว่าในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่จะระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรแร่ ที่โดยรวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านล้าน บาท หรือมากกว่า 1 หมื่นเท่าของตัวเลขรายได้ของประเทศ แต่เธอตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า คุ้มค่าหรือไม่ หากรัฐจะเร่งกอบโกยทรัพยากรเหล่านี้เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพราะการที่หากจะขุดเอาแร่เหล่านี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ประชาชนจำนวนมากสูญเสียที่ทำกิน ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากการทำเหมือง ซึ่งถือเป็นความเสียหายต่อวิถีชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่สูงเกินประเมินค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำแร่หายากอย่างเช่น ทองคำ ที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีอันตราย ทั้งยังทำให้สารพิษที่แฝงอยู่ในสายแร่ใต้ดินรั่วไหลปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ดังที่เห็นผลกระทบชัดเจนจากการทำเหมืองทองคำใน จ.พิจิตร