ภาคประชาชนลุยฟ้อง ก.อุตฯ – บริษัทสารเคมีเกษตร เหตุเบี้ยวมติแบน 3 สารเคมี (3 ธ.ค. 62)
Greennews 3 ธันวาคม 2562
ภาคประชาชนลุยฟ้อง ก.อุตฯ – บริษัทสารเคมีเกษตร เหตุเบี้ยวมติแบน 3 สารเคมี
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเดินหน้าฟ้อง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีเลื่อนแบน 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช – พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต – โดยมิชอบ ย้ำเหตุผลเลื่อนการแบน 3 สารเคมีไปอีก 6 เดือน ฟังไม่ขึ้น เผยเตรียมฟ้องคดีแบบกลุ่มให้ผู้เสียหายจาก 3 สารเคมีด้วย ด้านรัฐมนตรี สุริยะ เตรียมฟ้องกลับกลุ่มเครือข่ายฯ ยืนยันมติเลื่อนแบนทำถูกต้อง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมี รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งประธาน ได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ขยายกรอบเวลาการแบนสาร พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่กำหนดให้ยกเลิกการนำเข้า จำหน่าย และใช้ 3 สารเคมีเกษตรในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่า มติเดิมมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ขัดกับข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก (WTO) และส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ ถั่วเหลืองและข้าวสาลี
นอกจากนี้ มติใหม่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังให้ยกเลิกมติการแบนสารไกรโฟเซต โดยอนุญาตให้มีการใช้ต่อไป แต่จะมีการจำกัดการใช้แทน โดยอ้างเหตุผลว่า สารไกลโฟเซตไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งยังมีความจำเป็นที่ยังต้องใช้ เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้
จากกรณีดังกล่าว ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มเครือข่ายฯในเวทีแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ว่า กลุ่มเครือข่ายฯมีจุดยืนไม่ยอมรับการลงมติใหม่ชองคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะการลงมติไม่เป็นไปตามกระบวนการ เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงมติฟังไม่ขึ้น และถือว่ามติดังกล่าว เป็นการล้มมติเดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วิฑูรย์ กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายฯ ยังคงยืนยันให้มีการคงมติเดิม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ให้มีการแบน 3 สารเคมีเกษตร และเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งออกประกาศการแบน พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ วิฑูรย์ เปิดเผยว่า กลุ่มเครือข่ายฯ จะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย จากการดำเนินการประชุม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยมิชอบ เพื่อล้มการแบน 3 สารพิษ
“การตัดสินใจ ซึ่งมาจากการผลักดันและสนับสนุนโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช โดยผลักภาระความเสี่ยงแก่ประชาชนทั้งประเทศทั้งเกษตรและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ใช้สารไกลโฟเซตซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติระบุว่าเป็นสารน่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A และศาลสหรัฐตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องเยียวยาและชดใช้แก่เกษตรกรที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และค่าปรับต่อรัฐเป็นจำนวนเงินมหาศาล” แถลงการณ์ของกลุ่มเครือข่ายฯ ระบุ
พร้อมกันนี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กลุ่มเครือข่ายฯ กำลังรวบรวมผู้ที่ได้รับอันตรายจาก 3 สารเคมีเกษตรจากทั่วประเทศ เพื่อที่จะเตรียมฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้เสียหายจากพิษสารเคมีเหล่านี้ ในการเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัทสารเคมีเกษตร ภายในเดือนนี้
”ขณะนี้มีกลุ่มผู้ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษ ที่จะร่วมฟ้องร้องในการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้วกว่า 110 ราย อย่างไรก็ดี ยังมีผู้เสียหายจากการใช้สารเคมีเกษตรเหล่านี้อีกมาก ดังนั้นเราจึงอยากเชิญชวนให้ เกษตรกร หรือผู้บริโภค ที่สงสัยว่าอาจเจ็บป่วยจากพิษสารเคมีเกษตรเหล่านี้ และต้องการที่จะร่วมฟ้องร้องในการดำเนินคดีแบบกลุ่มกับเรา ให้ติดต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายได้ทันที เพื่อที่เราจะได้ให้ความช่วยเหลือต่อไป” สารี กล่าว
เธอยังระบุว่า ในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้เสียหายจากพิษสารเคมีเกษตรครั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายฯ ได้รับความร่วมมือกับทีมทนายความที่ต่อสู้คดีให้กับนายดเวนย์ ลี จอห์นสัน ที่ชนะคดีไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา มาช่วยเหลือให้คำแนะนำในการต่อสู้คดีอีกด้วย
เธอยังเปิดเผยว่า ในขณะที่ยังไม่มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต อย่างเป็นทางการ กลุ่มเครือข่ายฯจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบการตกค้างของ 3 สารพิษในสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ปราศจากสารเคมีตกค้าง เป็นแนวทางให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องตนเองจากการปนเปื้อนสารพิษในอาหาร
อุบล อยู่หว้า ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามมติและข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม และเร่งออกมาตรการาช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรกรรมไทย จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว พึ่งพิงสารเคมี ไปสู่วิถีการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ปลอดสารเคมี ซึ่งนอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ยังสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาของกลุ่มเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง โดยยืนยันว่าการลงมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เป็นการลงมติอย่างถูกต้องตามกระบวนการ โดยมีการเปิดโอกาสให้กรรมการอภิปรายมติอย่างกว้างขวาง จนได้มติร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน ให้เลื่อนการแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ไปอีก 6 เดือน และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตแทน นอกจากนี้ ตนยังได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรไปหามาตรการทดแทนโดยเร็วที่สุด ภายในกำหนดระยะเวลา 4 เดือน อีกด้วย
สำหรับประเด็นที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงประกาศว่าจะฟ้องร้องตนนั้น สุริยะ กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้ตนได้รับความเสียหาย ซึ่งตนได้ให้ฝ่ายกฎหมายเตรียมการแล้ว และถ้าหากมีการฟ้องร้องจริงตนจะฟ้องกลับแน่นอน
อนึ่ง จากข้อมูลผู้ป่วยโรคจากพิษสารเคมีกําจัดศัตรูพืช ในรายงานสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ.2561 โดยกรมควบคุมโรค พบว่า แม้จำนวนผู้ป่วยจากโรคจากพิษสารเคมีกําจัดศัตรูพืชในปีที่ผ่านมา จะลดลงเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560 แต่ก็พบผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกําจัดศัตรูพืชรวมถึง 6,075 ราย (คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 10.04 ต่อประชากรแสนราย)
รายงานฉบับนี้ยังค้นพบว่าผู้ป่วยจากพิษสารเคมีเกษตรเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรมากที่สุด จํานวน 2,622 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 43.16 โดยผู้ป่วยจากสารเคมีเกษตรส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากสารเคมีกลุ่มสารกําจัดแมลง มากที่สุดจํานวน2,950 ราย คิดเป็นร้อยละ 48.56 รองลงมา ได้แก่กลุ่มสารกําจัดศัตรูพืชอื่นๆ จํานวน 1,783 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.35 และกลุฃ่มสารกําจัดวัชพืช จํานวน1,342 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.09