งานวิจัยใหม่ชี้ PM2.5 มีผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้า-จบชีวิตตัวเอง (20 ธ.ค. 62).
Thai Publica 20 ธันวาคม 2562
งานวิจัยใหม่ชี้ PM2.5 มีผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้า-จบชีวิตตัวเอง
ผลการศึกษาชิ้นใหม่พบฝุ่นพิษทางอากาศ PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและการจบชีวิตตัวเองลง การลดมลพิษลงมาที่ระดับมาตรฐานของอียูจะมีผลอย่างมาก โดยสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าถึง 15% ข้อมูลจาก WHO พบว่ามีคนเป็นโรคนี้ถึง 264 ล้านคนทั่วโลก
รายงานผลการศึกษาล่าสุดพบว่า คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศที่มีเต็มไปด้วย PM2.5 มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น
อาการซึมเศร้าเป็นโรคที่พบกันทั่วไปทั้งโลก โดยองค์กรอนามัยโลกหรือ World Health Organization ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าราว 264 ล้านคน
อาการซึมเศร้านั้นแตกต่างจากความผันผวนทางอารมณ์ตามปกติ และการตอบสนองทางอารมณ์ในระยะสั้นต่อความท้าทายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเป็นระยะยาวและมีความรุนแรงปานกลางหรือรุนแรง ภาวะซึมเศร้าอาจกลายเป็นภาวะสุขภาพที่ร้ายแรง ทำให้ผู้ที่มีอาการทรมานอย่างมากและไม่สามารถทำงานได้ดี และในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด อาจจะนำไปสู่การปลิดชีวิตตัวเอง
แต่ละปีผู้ที่มีอาการซึมเศร้าฆ่าตัวตายราว 800,000 คน
สาเหตุของโรคซึมเศร้ามาจากแรงปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของปัจจัยทางสังคมจิตวิทยาและชีวภาพ บางคนอาจจะประสบกับเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต เช่น การว่างงาน การเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเครียดและความผิดปกติมากขึ้น
แต่รายงานผลการศึกษาข้อมูลทั่วโลกล่าสุดของ อิโซเบล เบรทเวต จาก University College London (UCL) หัวหน้าคณะวิจัยพบว่า คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น
“เราพบว่ามลพิษทางอากาศอาจจะมีผลอันตรายอย่างมากต่อสุขภาพจิตของคน ซึ่งการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวันสะอาดขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ” อิโซเบล เบรทเวต กล่าว
อนุภาคมลพิษที่รายงานวิเคราะห์ คือ มลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลของรถยนต์ จากที่อยู่อาศัยและภาคอุตสาหกรรม นักวิจัยระบุว่า ข้อมูลใหม่ที่พบยิ่งทำให้ต้องมีการเรียกร้องอย่างเข้มแข็งให้จัดการแก้ไขปัญหา ในสิ่งที่ WHO จัดว่า “อากาศพิษ” เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงด้านสาธารณสุขที่ต้องจัดการเร่งด่วน
รายงานเสนอแนะว่า การลดมลพิษทางอากาศทั่วโลกมาอยู่ ณ ระดับที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ตามกฎหมาย อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้คนหลายล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า จากสมมติฐานที่ว่าการสัมผัสหรืออยู่ภายใต้มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
- มาตรการแก้ไขมลพิษฝุ่น: (ตอน1) จีนทำแผนต่อเนื่องพร้อมมุ่งพลังงานสะอาด
- มาตรการแก้ไขมลพิษฝุ่น: (ตอน 2) สหภาพยุโรปเข้มใช้กฎหมายบังคับ – พึ่งอำนาจศาล
การลดมลพิษลงมาที่ระดับมาตรฐานของอียูจะมีผลอย่างมาก โดยสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าถึง 15% จากสมมติฐานที่ว่าเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกัน เพราะโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบกันมากและกำลังเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก WHO พบว่ามีคนเป็นโรคนี้ถึง 264 ล้านคนทั่วโลก
“เรารู้ว่าอนุภาคมลพิษทางอากาศที่เล็กที่สุด สามารถที่จะเข้าไปสู่สมองของคนได้จากกระแสเลือดและจากทางจมูก และมลพิษทางอากาศนั้นมีผลเกี่ยวข้องกับการอักเสบของสมอง ทำลายเยื่อประสาท และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน และมีผลต่อสุขภาพจิตที่ย่ำแย่”
โจเซฟ เฮส์ หนึ่งในคณะวิจัยจาก UCL กล่าวว่า จากข้อมูลที่พบบ่งชี้อย่างมากว่า มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิตอย่างรุนแรง
งานวิจัยนี้ซึ่งได้มีการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives นั้นได้มีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดในการเลือกและรวบรวมงานวิจัยจาก 16 ประเทศและได้มีการเผยแพร่จนถึงปี 2017 มาศึกษา ซึ่งพบสถิติที่ชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องของมลพิษทางอากาศกับโรคซึมเศร้าและการจบชีวิตตัวเอง อีกทั้งรายงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งรวมถึงการศึกษาที่เชื่อมโยงอากาศพิษกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงของคนซึ่งมีอาการผิดปกติทางจิตและเพิ่มความเสี่ยงของการซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นถึง 4 เท่า
รายงานวิจัยชิ้นอื่นบ่งชี้ว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้สติปัญญาของคนลดลงอย่างมาก และเกี่ยวพันกับวิกลจริต การศึกษาแบบครอบคลุมทั่วโลกในต้นปี 2019 ได้ข้อสรุปว่า มลพิษทางอากาศอาจจะทำลายอวัยวะและเซลล์ในร่างกายมนุษย์
ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ในการวิจัยใหม่นี้เชื่อมโยงการซึมเศร้ากับฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตรหรือเทียบเท่า 0.00025 มิลลิเมตร หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM2.5 คนที่ต้องหายใจ PM2.5 เข้าไปในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปีหรือมากกว่านี้ มีความเสี่ยงสูงขึ้น 10% ที่จะมีอาการซึมเศร้า ระดับ PM2.5 ในกรุงนิวเดลี อินเดีย สูงถึง 114 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ที่ออตตาวา แคนาดา มีเพียง 6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในอังกฤษค่าเฉลี่ย PM2.5 ในเมืองอยู่ที่ 13 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นักวิจัยประเมินว่า การลดฝุ่น PM2.5 ลงมาที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่ WHO แนะนำก็จะลดอาการซึมเศร้าของคนเมืองลงได้ราว 2.5% ขณะที่ฝุ่นพิษซึ่งมีผลต่อการฆ่าตัวตายมีค่ามากกว่าขึ้นไปจนถึง PM10 โดยนักวิจัยพบว่า ในระยะสั้น การเพิ่มขึ้นของ PM10 ในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน 3 วันจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย 2%
นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่มีผลมากต่อคนจำนวนมาก เพราะมากกว่า 90% ของประชากรในโลกอาศัยอยู่ในเมืองที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงกว่าที่ WHO กำหนด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าวิตก
ผลการศึกษายังพบความเชื่อมโยงระหว่างกันสูง แต่พิสูจน์ว่าการเชื่อมโยงเชิงสาเหตุนั้นยาก เพราะการทดลองทางจริยธรรมจะต้องไม่ทำให้ผู้คนได้รับอันตราย การศึกษาได้นำหลายปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อสุขภาพจิตเข้ามารวมในการวิเคราะห์ด้วย ทั้งที่ตั้งของที่พัก รายได้ การศึกษา การสูบบุหรี่ การจ้างงาน และการเป็นโรคเบาหวาน แต่ไม่สามารถแยกผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเสียงรบกวน ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับมลพิษและเป็นที่รู้ว่ามีผลกระทบทางจิต
“เราทุกคนต้องลงมือทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อลดการสร้างมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การใช้จักรยาน และเราต้องคำนึงการปรับเปลี่ยนระบบ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายที่จะลดระดับมลพิษโดยรวม แม้การเดิน การใช้จักรยานจะไม่ลดมลพิษลง แต่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น”
ไอออนนิส บาโคลิส แห่งคิงส์คอลเลจ ซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะวิจัยกล่าวว่า งานวิจัยนี้ครอบคลุมงานวิจัยที่ทำมาตลอด 40 ปี แม้งานวิจัยจะมาจากหลายแห่ง ทั้งจีน สหรัฐฯ เยอรมนี และมีความแตกต่างกันทั้งในแง่กลุ่มทดสอบ รูปแบบการศึกษา และวิธีวัดการซึมเศร้า แต่ให้ผลที่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ค้นพบยังอยู่ในวงจำกัดและต้องมีการศึกษาต่อไปอีก โดยเฉพาะความเข้าใจถึงผลกระทบของการลดมลพิษต่อสุขภาพจิต ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลมากขึ้นสำหรับผู้กำกับนโยบายที่จะต้องดำเนินการ