ทส.ลงนาม MOU 11 หน่วยงานแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้านหาดใหญ่ยังอ่วมควันไฟป่า (10 ก.ย. 62)

Green News TV 10 กันยายน 2562
ทส.ลงนาม MOU 11 หน่วยงานแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้านหาดใหญ่ยังอ่วมควันไฟป่า


หมอกควันไฟป่าปกคลุมพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา //ขอบคุณภาพจาก: สถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยืนยัน พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11 หน่วยงานในการป้องกันและรับมือกับปัญหามลพิษ PM2.5 อย่างครบวงจร เชื่อมั่นทุกหน่วยงานมีประสบการณ์และทรัพยากรเพียบพร้อมในการรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศ

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธานในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายวิจารณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความแห้งแล้งผิดปกติ ทำให้หลายภูมิภาคของประเทศไทยประสบกับปัญหามลพิษหมอกควัน PM2.5 คั้งแต่ต้นปี ทั้งที่กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในภาคเหนือ และในช่วงเดือนกันยายนนี้ หลายจังหวัดทางภาคใต้ก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าเช่นกัน

โดยจากการตรวจสอบแหล่งกำเนิดหมอกควัน PM2.5 พบว่า ฝุ่นละอองมลพิษเหล่านี้มาจากหลายแหล่งกำเนิด อาทิ การเผาเศษวัสดุการเกษตร ไฟป่า การคมนาคมและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงหมอกควันข้ามพรมแดนจากภายนอกประเทศ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน

“ดังนั้นการจะทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้สำเร็จจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมไปถึงสถาบันการศึกษาที่สามารถจะใช้งานวิจัยนำมาต่อยอดการแก้ไขปัญหา นี่จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือวันนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนทำงานประสานกันในการควบคุมและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างครบวงจร” นายวิจารณ์แถลง

ด้านการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน นายวิจารณ์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานงานหลัก (single command) โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานควบคุมการก่อมลพิษที่ต้นทาง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จะมีบทบาทในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายต่อสุขภาพจากฝุ่นควัน PM2.5 ส่วนสถาบันการศึกษาจะมีส่วนช่วยสนับสนุนองค์ความรู้วิชาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

ขณะเดียวกัน สถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รายงานผ่านทางแฟนเพจ รายงานสถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ ว่า หมอกควันไฟป่าได้พัดเข้าปกคลุมพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 9 กันยายน โดยสามารถวัดค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 รายชั่วโมง ได้สูงถึง 79 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เมื่อเวลา 9.00 น. อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นสถานวิจัยฯจึงแนะนำให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และควรสวมใส่หน้ากากป้องกันเมื่อออกนอกอาคาร

ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ อ.เมือง จ.ยะลา ของกรมควบคุมมลพิษ ตรวจพบว่าค่า PM 2.5 ในพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน โดยเมื่อเวลา 14.00 น. พบว่าค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 รายชั่วโมง อยู่ที่ 56 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าทั้งค่ามาตรฐาน PM2.5 ของประเทศไทยที่ 50 มคก./ลบ.ม. และ ค่ามาตรฐาน PM2.5 ของข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก(WHO Guideline) ที่ 25 มคก./ลบ.ม.

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายประลอง ดำรงค์ไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคใต้เป็นผลมาจากทั้งแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งในและนอกประเทศ แต่คาดว่าควันไฟจากการระอุของไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช น่าจะเป็นสาเหตุหลัก เสริมกับหมอกควันข้ามพรมแดนจากจุดความร้อนบนเกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย

นายประลอง กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มีทรัพยากรและความพร้อมเต็มที่ในการรับมือกับสถานการณ์หมอกควันไฟป่า หลังจากมีประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาหมอกควันในปีก่อนๆ โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ประสบภัย ให้เตรียมสร้างห้องปลอดฝุ่น เพื่อเป็นจุดปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษยังได้ส่งหนังสือไปถึงเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอความร่วมมือประเทศต้นทางแก้ไขปัญหาหมอกควันช้ามพรมแดนอีกด้วย

อนึ่ง จากข้อมูลของสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นเวลานานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ


ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่หาดใหญ่ เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 9 กันยายน