มันอยู่ในปลาทู!! นักวิจัยพบไมโครพลาสติกในปลาทูไทย (10 ก.ย. 62)

Green News TV 10 กันยายน 2562
 มันอยู่ในปลาทู!! นักวิจัยพบไมโครพลาสติกในปลาทูไทย


ตัวอย่างปลาทูที่นักวิจัยเก็บมาตรวจสอบ //ขอบคุณภาพจาก: ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง

ยืนยันแล้ว อาหารทะเลไทยเปื้อนไมโครพลาสติก หลังจากนักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง พบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูไทย เฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น

ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง รายงานผ่านทางแฟนเพจของศูนย์ เมื่อวันที่ 9 กันยายนว่า จากการเก็บตัวอย่างปลาทูจากบริเวณท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู พบว่าปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 ± 1.136 กรัม มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ± 6.503 ชิ้น/ตัว

โดยลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบ ประกอบไปด้วยเส้นใยพลาสติก (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) เศษพลาสติกชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) เศษพลาสติกแท่งสีดำ และกลิตเตอร์ โดยพบเศษไมโครพลาสติกสีดำมากที่สุด

จากข้อมูลดังกล่าว เพจ ReReef แสดงความเห็นว่า ปริมาณไมโครพลาสติกที่พบในปลาทูไทยถึงเฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น นับว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำจากงานศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกจากของหลายๆประเทศที่พบอยู่ที่ประมาณ 1 ชิ้นต่อตัวเท่านั้น

ด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า การพบการปนเปื้อนไมโครพล่าสติกในปลาทูไทยนับว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกยิ่ง เพราะเป็นสิ่งยืนยันว่าไมโครพลาสติกได้ปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของคนไทยเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพบในปลาทูที่จับได้จากทะเลอันดามัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีกว่าทะเลอ่าวไทย

“สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือต้องหยุดการปนเปื้อนไมโครพลาสติกเพิ่มเติมลงสู่ทะเลให้ได้มากที่สุด โดยสิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนทำได้คือการงดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ (microbeads) ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนไมโครพลาสติกจำนวนมหาศาลในทะเล รวมถึงการลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ให้ได้มากที่สุด” นายธารากล่าว

อนึ่ง กรีนพีชให้คำอธิบายไมโครบีดส์ หรือ เม็ดบีดส์ ว่าคือชิ้นส่วนเล็กๆ ของพลาสติกในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด ส่วนใหญ่จะทำจากโพลีเอทิลีน มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร จึงสามารถหลุดรอดจากระบบกรองน้ำและปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย โดยเมื่อไมโครบีดส์ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ สัตว์น้ำก็จะกินมันเข้าไป และสุดท้ายไมโครบีดส์ก็จะย้อนกลับมาที่ผู้บริโภคในที่สุด


เส้นใยไมโครพลาสติกที่พบในกระเพาะปลาทู //ขอบคุณภาพจาก: ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง