คณะกรรมการ SEA ไฟเขียว นิด้า เลื่อนส่งรายงานศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ อีก7เดือน (10 ก.ย. 62)
energynews 10 กันยายน 2562
คณะกรรมการ SEA ไฟเขียว นิด้า เลื่อนส่งรายงานศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ อีก7เดือน
คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ อนุมัติให้ “ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)” เลื่อนส่งรายงานสรุปผลการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ครอบคลุม 15จังหวัดออกไป จากเดิมที่จะต้องส่งรายงานเดือน ก.ย. 2562 นี้ ไปเป็นเม.ย.2563 หรือเลื่อนออกไปอีก7เดือน ทำให้ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากการศึกษาว่าควรจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพาหรือไม่
นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ที่ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการฯได้เห็นชอบตามข้อเสนอของทางนิด้าที่ขอเลื่อนกรอบระยะเวลาศึกษาออกไปจากเดิมที่จะต้องส่งรายงานครบทั้งหมดภายใน ก.ย. 2562 นี้ ออกไปเป็นเดือนเม.ย. 2563 หรือเลื่อนออกไป7เดือน ส่วนข้อสรุปที่ทางนิด้า จะตอบมาก่อนว่าพื้นที่ภาคใต้มีความเหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่และเทพา จ.สงขลา หรือไม่ นั้น คาดว่าจะรู้คำตอบภายในสิ้นปี 2562 นี้
อย่างไรก็ตามการที่คณะกรรมการSEA เห็นชอบให้เลื่อนกรอบระยะเวลาศึกษาดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าแต่อย่างใดเนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาไม่ได้ระบุชัดเจนไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2561-2580 (PDP2018)
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ลงนามสัญญาจ้างนิด้าเป็นที่ปรึกษาโครงการ SEA แล้วเมื่อเดือนม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งตามขั้นตอน นิด้าต้องได้คำตอบว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ภายใน 5 เดือน หลังการลงนาม หรือภายในเดือน พ.ค.2562 นี้ และกำหนดส่งรายงานผลทั้งหมดภายใน 9 เดือน คือในเดือน ก.ย. 2562 แต่เนื่องจากการจัดกระบวนการสานเสวนากับชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้เกิดความล่าช้า เพราะติดช่วงการเลือกตั้งและเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นทางคณะกรรมการฯ จึงอนุมัติให้มีการเลื่อนการส่งรายงานสรุปผลการศึกษาออกไปเป็นครั้งแรก