ตะลึง! ปลาทูหาดเจ้าไหม 1 ตัว เจอไมโครพลาสติก 78 ชิ้น (10 ก.ย. 62)
Thai PBS 10 กันยายน 2562
ตะลึง! ปลาทูหาดเจ้าไหม 1 ตัว เจอไมโครพลาสติก 78 ชิ้น
ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง เก็บตัวอย่างปลาทู บริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตรวจพบไมโครพลาสติกในกระเพาเฉลี่ย 78 ชิ้นต่อตัว "ธรณ์" ชี้ กินเสี่ยง หลายโรค
วันนี้ (9 ก.ย.2562) ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง เปิดผลการศึกษาปลาทูที่อยู่บริเวณท่าเรือหาดเจ้าไหม จ.ตรัง สุ่มตัวอย่างพบว่าในกระเพาะของปลาทู มีไมโครพลาสติกสะสมในกระเพาะมากถึง 78 ชิ้นต่อตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) ชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ร้อยละ 33.96 และขณะนี้เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฯ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ถึงผลกระทบต่อมนุษย์หากนำสัตว์น้ำที่มีไมโครพลาสติกมารับประทาน
ขณะที่ ตามจุดต่างๆ บริเวณชายหาดเจ้าไหม จากการร่วมเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง และนักศึกษาสหกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ยังพบขยะเป็นจำนวนมากกว่า 200 ชิ้น น้ำหนักกว่า 12 กก. ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก
- แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic Cups) 42 ชิ้น 1.00 ก.ก.
- ขวดน้ำพลาสติก เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดนม ขวดนมเปรี้ยว 17 ชิ้น 1.00 ก.ก.
- หลอดพลาสติก 119 ชิ้น 0.10 ก.ก.
- ไฟแชค 11 ชิ้น 0.20 ก.ก.
- หลอดน้ำแข็งหวานเย็น (Dessert Plastic Tube)16 ชิ้น 0.20 ก.ก.
- ฝาขวด ฝาบรรจุภัณฑ์พลาสติก 56 ชิ้น 0.30 ก.ก.
- ช้อน ส้อม พลาสติก 15 ชิ้น 0.10 ก.ก.
- แปรงสีฟัน 1 ชิ้น 0.01 ก.ก.
- ขวด บรรจุภัณฑ์ พลาสติก 0.15 ก.ก.
- ถุงพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ 1.50 ก.ก.
- พลาสติกอื่นๆ เช่น ตะกร้า ของเล่น ฯลฯ 4.50 ก.ก.
- โฟม (Styro Foam) 0.70 ก.ก.
- เครื่องมือประมงอื่นๆ 0.20 ก.ก.
- เชือก 2.00 ก.ก.
- แก้ว ขวดแก้ว 0.60 ก.ก.
- รองเท้า 1 ชิ้น 0.10 ก.ก.
รวม 278 ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 12.66 กก.
ไมโครพลาสติก เฉลี่ย 78 ชิ้น ปลาทู 1 ตัว
ขณะที่ นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายาก และใกล้สูญพันธุ์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า เรื่องไมโครพลาสติกกำลังดัง เมื่อศูนย์วิจัยอุทยานพบไมโครพลาสติกในปลาทูเฉลี่ย 78 ชิ้น/ตัว ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงมาก
#พลาสติกในท้องปลาทูมาจากไหน ลองดูภาพถุงพลาสติกที่เราเพิ่งเก็บมาจากใต้ทะเลสิครับ ถุงกร่อนแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ลอยขึ้นไปอยู่ในน้ำ ตราบใดที่ถุงยังอยู่ เศษพลาสติกก็หลุดออกมาเรื่อยๆ การเก็บขยะทะเล จึงเป็นส่วนช่วยลดไมโครพลาสติกโดยตรง ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกัน
การแบนถุงก๊อบแก๊บในเดือน มกราคม ปีหน้า จะช่วยลดต้นตอไมโครพลาสติกไปได้อีกเยอะเลย #เมื่อแตกออกมาแล้วในน้ำมีเยอะไหม
นายธรณ์ กล่าวว่า นำเครื่องมือเก็บไมโครพลาสติกลากในทะเล จากนั้นก็นำมากรองใส่ขวดที่อยู่ในมือผม จะเห็นเม็ดเล็กๆ ที่ก้นขวด นั่นแหละครับคือไมโครพลาสติก (บางส่วน) เมื่อนำไปส่องดูในกล้อง เราจะเห็นไมโครพลาสติก หรือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร มีอยู่หลายแบบ
ปลาทูกินแพลงก์ตอนในน้ำ ก็กินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ในท้อง บางส่วนสลายตัวกลายเป็นนาโนพลาสติก เข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อปลาได้ เรากินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป ก็อาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อหลายโรค ตามที่องค์การอนามัยโลกเคยเตือนไว้
อาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติก
ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจ ReReef ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัญหาไมโครพลาสติกไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว เพราะดูเหมือนจะพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกไปแทบจะทุกสภาพแวดล้อมตั้งแต่บนยอดเขาลงไปถึงก้นมหาสมุทร หรือแม้แต่ฝนที่ตกลงมา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการพบไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในเบียร์ ในน้ำดื่มบรรจุขวด เกลือ และแน่นอนที่สุดในอาหารทะเล
ติดตามข่าวงานศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหารทะเลของต่างประเทศไม่ว่าจะปลา หอยแมลงภู่ หอยนางรม กุ้ง ปู กุ้งมังกร ก็ยังรู้สึกว่าไกลตัว แต่งานศึกษาเบื้องต้นไมโครพลาสติกในปลาทูของศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่จังหวัดตรัง ก็ทำให้พบความจริงว่า เราคงจะหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนไมโครพลาสติกได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
การศึกษาไมโครพลาสติกในปลาทูบริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม สิ่งที่น่าสังเกตคือปริมาณไมโครพลาสติกที่พบจัดว่าค่อนข้างสูงมาก เพราะโดยเฉลี่ยโดยรวมจากงานศึกษาการปนเปื้อนในสัตว์น้ำของหลายๆประเทศพบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0-7.2 ชิ้นต่อตัว หรือการศึกษาปลาทู ที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2015 ก็พบโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ชิ้นต่อตัว แต่ของบ้านเราสูงถึง 78 ชิ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายเราจะสามารถขับถ่ายไมโครพลาสติกเหล่านี้ออกจากร่างกายได้ถึง 90% และยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่ามนุษย์ต้องได้รับปริมาณพลาสติกมากเท่าไหร่จึงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือการทำงานของอวัยวะต่างๆ แต่การศึกษาในสิ่งมีชีวิตหลายกลุ่มก็พบผลกระทบตั้งแต่การทำให้เกิดโรคในปะการัง หรือการรบกวนทำงานของฮอร์โมนในปลา ข้อเท็จจริงที่ว่าไมโครพลาสติกเป็นตัวดูดซับสารพิษต่างๆ ในสภาพแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ ที่ตอนนี้พบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในอาหารหลายอย่างที่เราบริโภค
จากที่เคยมีคำกล่าวที่ว่า "You are what you eat" หรือสุขภาพของเราจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ว่าเรากินอะไร อาจจะต้องเปลี่ยนเป็น You eat what you throw away หรือ อะไรที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล สุดท้ายก็กลับมาเรา คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลย
ถุงพลาสติกแตกตัวปล่อยไมโครพลาสติกออกมา ภาพ : Thon Thamrongnawasawat
การเก็บไมโครพลาสติกจากน้ำทะเล ภาพ : Thon Thamrongnawasawat
ภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง