กรมทรัพยากรธรณี เปิดข้อมูล "ธรณี" ที่ประชาชนต้องรู้ (16 ก.ย. 62)
Thai PBS 16 กันยายน 2562
กรมทรัพยากรธรณี เปิดข้อมูล "ธรณี" ที่ประชาชนต้องรู้
รองปลัด ทส. เปิดงาน "ธรณีวิทยาก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า" ระบุ เร่งเดินหน้ากำหนดเขตทรัพยากรแร่ “Minnig Zone” แก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างการยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2564
วันนี้ (16 ก.ย.2562) กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมอุทกธรณีวิทยาไทย และสภาการเหมืองแร่ เปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญและนักธรณีวิทยาทั้งในและต่างประเทศ ได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในงาน “ธรณีวิทยาก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า”
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) โดย 5 ปีแรก จะเน้นการพัฒนาไปสู่ Thailand 4.0 ที่ไม่เพียงเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคน และการมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรณีวิทยาอย่างระมัดระวังและชาญฉลาด เช่น ทรัพยากรแร่ น้ำบาดาล แหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติ ฯลฯ ที่อาจจะหมดลงในอนาคต ก็ยิ่งจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรณี เพื่อบริหารจัดการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
รองปลัดกระทรวง ทส. ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายเพื่อใช้ทรัพยากรแร่อย่างสมดุล ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า พ.ร.บ.แร่ เพื่อบูรณาการแร่ในทุกมิติ ทั้งอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลไกสำคัญหลายส่วน เช่น แผน นโยบาย คณะกรรมการนโยบายแร่ และกำลังเดินหน้าจัดทำแผนที่กำหนดเขตทรัพยากรแร่ หรือ “Minnig Zone” เพื่อทำให้การจัดการแร่ของประเทศมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ภาคประชาชนจำเป็นต้องรู้ ว่าประเทศไทยกำลังจะมีระบบบริหารจัดการแร่ ที่ดูแลให้เกิดความสมดุลในการใช้ทรัพยากรด้านเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม และดูแลสุขภาพประชาชนไปพร้อมกัน ดังนั้น กลไกสำคัญของกรรมการแร่แห่งชาติ คือ การร่วมกันจัดทำแผนที่กำหนดเขตทรัพยากรแร่ หรือ “Minnig Zone” ของกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยในอนาคตจะใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA กับแร่บางชนิด เพื่อทำให้การกำหนดเขตทรัพยากรแร่ เป็นที่ยอมรับของประชาชน และเกิดขึ้นมาจากการมีส่วนร่วม เพราะหากได้รับการยอมรับตั้งแต่ต้น จะช่วยลดความขัดแย้ง และแนวทางหลังจากนี้ จะเดินหน้าจัดเวทีทำความเข้าใจกับชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตทรัพยากรแร่
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า การสำรวจแหล่งแร่ในปัจจุบันยังมีน้อย มีเพียง 11.6 ล้านไร่ หรือไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่หากเดินหน้าได้ตามแนวทางที่เกิดจากการมีส่วนร่วม โดยใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาเป็นฐานการกำหนดพื้นที่ ก็จะยิ่งส่งผลดีกับประเทศไทย ตามแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน
"ไทย" ยังขาดองค์ความรู้จัดการน้ำ
นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพิ่มเติมประเด็นน้ำใต้ดินว่า จะเดินหน้าระดมนักวิชาการด้านธรณีวิทยา เรื่องน้ำบาดาล น้ำใต้ดิน เพราะการใช้น้ำบาดาลมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับทุกภาคการใช้น้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตร ตลอดจนการใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาด้านคุณภาพน้ำ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประเภทต่าง ๆ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำลังดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ คุณภาพน้ำ โดยเฉพาะโลหะหนักในน้ำบาดาล หลายพื้นที่ของประเทศไทย
“มี 2 ภาคที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว คือ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของภาคตะวันออก หรือ EEC และภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ และลำพูน เพื่อวางรากฐานการจัดการน้ำใต้ดินที่ดี ก่อนจะกำหนดหรือวางแผนพัฒนาเมือง เพราะที่ผ่านมา การพัฒนาเมืองที่เดินหน้าไปก่อน การสำรวจทางธรณีวิทยาและน้ำใต้ดิน จะใช้เวลาฟื้นฟูนานกว่า การสำรวจทางธรณีจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้”
รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังระบุอีกว่า หลายพื้นที่ที่เกิดปัญหาแล้ว เช่น สารเคมีปนเปื้อนน้ำใต้ดินในชุมชน เช่น พื้นที่ชุมชนใกล้เหมืองแร่ และพื้นที่ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ก็จำเป็นที่จะต้องสำรวจชั้นน้ำที่ลึกกว่า และใช้อุปโภคบริโภคได้ หรือ หาน้ำจากแหล่งอื่นส่งเข้ามาในพื้นที่ที่มีปัญหาให้ประชาชน ซึ่งวิธีการหลังจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าปกติ
การประชุมวิชาการด้านธรณีวิทยาครั้งนี้ ยังได้ยกตัวอย่าง กรณีการศึกษาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดการน้ำใต้ดินของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน โดย รศ.เกรียงศักดิ์ ศรีสุข นักอุทกธรณีวิทยา สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน ระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การเติมน้ำใต้ดินในปัจจุบันไม่ค่อยได้ผล เพราะขาดองค์ความรู้
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาล ต้องประเมินจากสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ และธรณีวิทยา โดย 7 องค์ประกอบสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ น้ำบนผิวดิน ความเหมาะสมของสภาพใต้ดิน ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเมินความคุ้มค่า ดูการออกแบบก่อสร้างทางวิศวกรรม คำนึงถึงการมีส่วนร่วม และกฎเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น การแก้ปัญหาภัยแล้งจะทำได้จริง ต้องเข้าใจหลักการเติมน้ำใต้ดินที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จึงน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าปูพรม หรือการเติมน้ำในรูปแบบการขุดสระเหมือนกันทั้งประเทศ ขณะที่ต้นทุนของน้ำที่ประชาชนใช้ก็จะต้องเป็นต้นทุนที่ต่ำด้วย
“หากเติมน้ำผิดวิธี และมีกรณีสารเคมีที่ปนเปื้อน การฟื้นฟูจะต้องใช้เงินมากขึ้นอีก 5-10 เท่าของการบำบัดน้ำเสียปกติ”
รศ.เกรียงศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว และความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
รวบรวมองค์ความรู้ "ธรณี" ทุกมิติ
สำหรับงาน “ธรณีวิทยาก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย.2562 ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญและนักธรณีวิทยา ได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญในการป้องกัน และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยา คือ
. ทรัพยากรธรณี เช่น การบริหารจัดการแร่ แผนแม่บทด้านแร่ การสำรวจแร่ทองคำ แร่ควอตซ์ และแร่โพแทช
. ธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ เช่น การวิจัยเชิงลึกด้านการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไฮยีน่า จ.กระบี่
. ธรณีวิทยาพิบัติภัย เช่น การสำรวจรอยเลื่อนเวียงแหง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ดินถล่มโบราณ จ.อุตรดิตถ์ การบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงดินถล่มโดยชุมชนการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเล
. อุทยานธรณี/ถ้ำ เช่น การถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง การสำรวจธรณีวิทยาถ้ำหลวง การบริหารจัดการถ้ำหลวง และด้านอื่น ๆ เช่น ผลการสำรวจด้วยเครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ ฯลฯ