“ไมโครพลาสติก” ปมสะท้านสายกิน-คอ “ปลาทู” (15 ก.ย. 62)

มติชนออนไลน์ 15 กันยายน 2562
“ไมโครพลาสติก” ปมสะท้านสายกิน-คอ “ปลาทู”


cof

หลังจากที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง โดยคณะวิจัยได้เปิดเผยผลศึกษา เรื่อง “ ไมโครพลาสติกในปลาทูŽ” พบว่า สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวเล็กๆ อย่างปลาทูได้กินไมโครพลาสติกเข้าไปสะสมในกระเพาะเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เนื่องจากคนไทยชอบบริโภคปลาทู ถือเป็นเมนูอาหารคู่ครัวคนไทยมานาน

จึงเกิดคำถามว่าการกินปลาทูจะกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

งานวิจัยของคณะวิจัยจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ได้เก็บตัวอย่างปลาทูจากแพปลาประมงพื้นบ้านที่วางจำหน่ายกันในพื้นที่มาเป็นกรณีศึกษา หลังดำเนินการไปตามขั้นตอนงานวิจัย เบื้องต้นพบว่า ไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) ชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96

น.ส.เสาวลักษณ์ ขาวแสง ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการวิจัยเนื่องมาจากการที่ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ได้มีการเก็บขยะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-09.30 น. จากนั้นก็จะนำมาแยกเป็นประเภทต่างๆ แล้วชั่งน้ำหนัก โดยมีการจัดหาสถานีเก็บขยะในแต่ละวัน เพื่อเป็นการจดบันทึกข้อมูลว่าในแต่ละรอบเดือน รอบปี มีปริมาณขยะในแต่ละชนิดประมาณเท่าไหร่

“หลังจากที่เก็บพบปัญหาว่า ขยะเล็กๆ ที่ไม่สามารถเก็บมาได้เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจึงคิดว่าขยะขนาดเล็กดังกล่าวจะต้องอยู่ในมวลน้ำ จึงทำการศึกษาจากงานวิจัยของคนอื่นๆ มาประกอบว่ามีการเก็บจากมวลน้ำในทรายมาเสริมในงานวิจัยด้วยŽ”

เบื้องต้นตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในทะเลจะเป็นระบบห่วงโซ่อาหารที่อยู่ใกล้ตัว โดยที่สัตว์น้ำต่างๆ จะอาศัยทะเลเป็นแหล่งอาหาร ปลาเล็กๆ กินสัตว์น้ำวัยอ่อน หญ้าทะเล แพลงตอน ฯลฯ ปลาใหญ่กินปลาเล็กเป็นทอดๆ ทางศูนย์จึงศึกษาวิจัยระบบห่วงโซ่อาหาร ด้วยการกำหนดโซนทะเลตรังบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมจังหวัดตรัง มาเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากมีปลาเศรษฐกิจทั่วไปที่ทุกคนสามารถบริโภคได้และมีราคาที่ไม่สูงเกินไปอยู่เป็นจำนวนมาก

“เริ่มเก็บตัวอย่างปลาทูมาจากกลุ่มประมงขนาดเล็ก เฉพาะน่านน้ำในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แล้วนำปลามาแยกในส่วนของกระเพาะเข้าห้องแล็บปฏิบัติการ ตรวจไมโครพลาสติกมีลักษณะเป็นอย่างไร การทำวิจัยปลาทูทั้งหมด 60 ตัว ในระยะเวลา 3-4 เดือน พบว่าเจอไมโครพลาสติกอยู่ในปลาทูทุกตัวมี 78 ชิ้นต่อตัว ซึ่งมันอยู่ในห่วงโซ่อาหารแล้ว

งานวิจัยผ่านขั้นตอนใช้อุปกรณ์กล้องจุลทรรศน์ ตรวจสอบ ด้วยการนำปลาทูมาผ่าท้องวัดขนาดตามหลักวิชาการ จากนั้นนำเศษอาหารในกระเพาะปลามาผ่านการย่อย การกรอง พบสารที่อยู่ในกระเพาะที่เหลือพลาสติกว่าเป็นอย่างไร โดยจะสังเกตทั้งลักษณะของสี ตามหลักวิชาการทั่วไป ไมโครพลาสติกจะมีขนาดประมาณ 1-5 มิลลิเมตร และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ เพราะมีขนาดเล็กมาก เพราะเกิดมาจากการแตกหักของพลาสติกชิ้นใหญ่ในประเภทต่างๆ แล้วด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ความเค็ม กระแสน้ำ จะทำให้พลาสติกแตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ เรื่อยๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก และปลาทูได้กินเข้าไปดังกล่าวŽ”

น.ส.เสาวลักษณ์ระบุว่า การวิจัยในครั้งนี้เพื่อต้องการที่จะให้ผู้คนตระหนักว่า ควรจัดการขยะอย่างไรให้ถูกวิธี และเป็นเพียงแค่ข้อมูลว่าระบบนิเวศตอนนี้มันเป็นยังไง เพราะถือเป็นวิกฤตขยะทางทะเลแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยแก้กันที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ โดยเฉพาะการช่วยกันลดการทิ้งขยะ ต่อไปทางศูนย์จะทำการวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกเพิ่มเติม ในหอยตะเภา หอยชักตีน และหอยผีเสื้อ ซึ่งเป็นหอยชื่อดังประจำถิ่นของ จ.ตรัง และเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คนนิยมบริโภคกันมาก ซึ่งมันอยู่ในห่วงโซ่อาหารเช่นกัน

ขณะที่ นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒน์ปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง อธิบายว่า ”คำถามว่าไมโครพลาสติกคืออะไร บอกว่าขนาดของพลาสติกขนาด 5 มิลลิเมตรลงไปเรียกว่าไมโครพลาสติก จำแนกได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเจตนาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกเล็กๆ เอาไปใส่ในยาสีฟัน ที่ขัดผิว ครีมขัดผิว เป็นส่วนผสมที่ใช้อยู่ในประจำวันยาสีฟัน แปรงเสร็จบ้วนทิ้งก็ไหลลงท่อน้ำเสีย ในที่สุดก็ไหลลงคลองทะเล

กลุ่มที่ 2 เกิดไมโครพลาสติกที่สลายโดยธรรมชาติ เช่น พลาสติกที่วางไว้เฉยๆ โดยแดด ลม ฝนในที่สุดก็แตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและไหลลงสู่แหล่งน้ำในทะเลเองก็สร้างขึ้นมาได้จากชาวประมงใช้อวนที่ทำจากไนลอน หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลา อาทิ ทุ่น ลูกลอย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ยางรถยนต์บดกับถนนทุกวันก็สึกหรอกร่อนฝนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำและไหลสู่ทะเล เหล่านี้ ถ้าเราจัดการไม่เป็นก็จะเจอปัญหาอย่างแน่นอน ทำให้ไมโครพลาสติกลงสู่ห่วงโซ่อาหารŽ”

นพ.บรรเจิดระบุว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่าอุจจาระคนผ่านการตรวจ 10 กรัม พบไมโครพลาสติก 20 เม็ดขึ้นไป หมายถึงว่าในทุกตัวคนมีไมโครพลาสติก คำถามว่ามันมาจากไหน ก็เพราะเราเป็นผู้บริโภคระบบห่วงโซ่อาหารในทะเล แม้กระทั่งสัตว์บกเองก็กินอาหารที่มีสารปนเปื้อนอยู่ คำถามต่อว่าจะเกิดอันตรายกับคนหรือไม่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ขอจินตนาการเชิงวิชาการของการสลายของพลาสติกจากชิ้นใหญ่ๆ แตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ เหลือระดับนาโนเมตร หรือเล็กกว่านั้นให้หมายถึงว่าร่างกายเราสามารถดูดซับเข้าไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ได้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่งผลให้คนเราเกิดโรคขึ้นมาได้ แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอันตรายจากไมโครพลาสติกมีมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เฉพาะปลาทู แต่สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ได้รับเหมือนๆ กัน ยิ่งสัตว์ที่หากินกับโคลนตม เช่น หอย ปู และอื่นๆ เพราะไมโครพลาสติกตกตะกอน สัตว์น้ำต่างๆ ก็กินเข้าไปหมด สรุปได้ว่าเรื่องของขยะอยู่ในภาวะวิกฤตมานาน ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ของโลกที่มีปัญหาขยะพลาสติกสู่ท้องทะเล เป็นเรื่องที่น่าวิตกและน่ากลัวมาก

“ ระบบห่วงโซ่อาหารเมื่อมนุษย์ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เมื่อสัตว์น้ำวัยอ่อน วัยหนุ่ม หรือวัยแก่ กินเข้าไปย่อมส่งผลต่อสุขภาพที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และในเมื่อสัตว์น้ำดังกล่าวยังเป็นห่วงโซ่อาหาร มนุษย์นำมาบริโภค รับประทานก็ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพŽ”

ต้นตอปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากฝีมือของมนุษย์ที่ขาดจิตสำนึกทิ้งขยะลงทะเล ในที่สุดแล้วมนุษย์ก็ได้รับผล
กระทบจากสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป…