ลดโลกร้อน ต้องแก้ที่พฤติกรรม (14 ก.ย. 62)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 14 กันยายน 2562
ลดโลกร้อน ต้องแก้ที่พฤติกรรม
เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ตอนนี้ทั้งโลกกำลังตื่นตัวอย่างมาก กับการหาแนวทางแก้ไข และบรรเทาปัญหาลง
สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) เมื่อเดือนธันวาคม 2537 ภาคีพิธีสารเกียวโต เมื่อเดือนสิงหาคม 2545
ล่าสุด ไทยยังเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ตํ่ากว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า โดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร และทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน ที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ดร.รวีวรรณ ภูริเดช” เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่งานที่จะกระทำให้บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยกำลังของหน่วยงาน หรือภาคส่วนใดเพียงส่วนเดียว หากแต่ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกัน ส่วนของ สผ. เน้นการทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายทั้งระดับชาติและระดับรายสาขา เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี หรือ GIZ “ทิม มาเลอร์” ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย บอกว่า ตั้งแต่ปี 2552 GIZ ได้ให้ทุนสนับสนุนประเทศไทยกว่า 135 ล้านยูโร หรือราว 4,500 ล้านบาทเพื่อดำเนินกิจกรรมหรือโครงการทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) อาทิ พลังงาน การจัดการนํ้า การเกษตร สาธารณสุข คมนาคมขนส่ง และการจัดการของเสียล่าสุดใน งาน “เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลกร้อน” (Climate Change, WE Change) ที่ สผ. GIZ และกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีการพูดคุยให้ความรู้และจัดนิทรรศการ “ตระหนักรู้สู้สภาพอากาศเปลี่ยน”
“ติ๊ก - เจษฎาภรณ์ ผลดี” ยังได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการรณรงค์ให้คนไทยร่วมมือกันแก้ปัญหาว่า ที่ผ่านมาคนไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกับการลดใช้พลาสติก แต่ทั้งหมดทั้งมวล หาก ลด ละ เลิก และเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า ใช้หลอดกระดาษแล้ว แต่พฤติกรรมในการบริหารจัดการขยะยังไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่จบ สิ่งสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนที่พฤติกรรม ต้องพัฒนาคนให้รู้จักบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนการลดใช้ถุงพลาสติก การลดการใช้พลังงานทั้งการเลือกใช้ระบบขนส่งมวลชน การใช้รถพลังงานไฟฟ้าหรือเลือกใช้พลังงานทดแทน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกัน ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องสนับสนุน ทำให้คนไทยทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ ระบบขนส่งมวลชน ก็ยังไม่สะดวกหรือตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ทั้งหมด ในขณะที่ราคาของพลังงานทดแทน หรือรถยนต์ไฟฟ้า ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูง คนมีกำลังทรัพย์มากพอเท่านั้น จึงมีสิทธิเข้าถึง
สรุปปัญหาทั้งหมดทั้งมวล จะแก้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากทุกคนมีพฤติกรรมที่ดี บริหารจัดการในสิ่งที่ถูกที่ควร ขณะเดียวกัน ความเสมอภาคในการเข้าถึงของประชาชน ต้องเท่าเทียม ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องเข้ามาดูแล
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,504 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2562