เอกชนระบุ "ท่าเรือทวายเกิดยาก" เหตุทำต้นทุนเพิ่ม (18 ม.ค. 56)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 ม.ค. 2556
เอกชนระบุ "ท่าเรือทวายเกิดยาก" เหตุทำต้นทุนเพิ่ม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บทบาทของโครงการทวายกับการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทย” ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน และรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตก กับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กระทรวงคมนาคมจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงข่ายการขนส่งของไทย ซึ่งจากการสัมมนา ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจะต้องดูว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่กับโครงการทวาย และใครได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงในโครงการ และเมื่อดำเนินโครงการแล้ว จะช่วยส่งเสริม และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ได้จริงหรือไม่
ด้านนายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า โครงการทวายเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 250,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งการสร้างท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งทางด้านอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้โครงการทวายถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยังช่วยขยายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหากโครงการทวายเกิดขึ้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และยังจะทำให้มีการขยายอุตสาหกรรมต้นน้ำในทวายเพิ่มขึ้น
นายสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ (BSAA) กล่าวว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการเอกชนมองว่าโอกาสในการพัฒนาท่าเรือทวายเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนั้นยาก เพราะหากจะให้ผู้ประกอบการสินค้าไทยไปส่งสินค้ายังท่าเรือทวาย จะมีต้นทุนในการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีระยะทางมากกว่าขนส่งไปท่าเรือแหลมฉบังกว่า 360 - 370 กิโลเมตร หรือเฉลี่ยต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 บาทต่อตู้ และยังมองว่าท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ยังสามารถรองรับได้อีกมาก เพราะปัจจุบันรองรับปริมาณตู้สินค้าได้กว่า 5.8 ล้านตู้ทีอียู ขณะที่ขีดความสามารถรองรับได้กว่า 10 ล้านตู้ทีอียู หากพัฒนาเฟส 3 จะรองรับปริมาณตู้สินค้าได้มากกว่านี้อีก 10 ล้านตู้ทีอียู และการจะให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าของไทยขนสินค้า เพื่อไปลงที่ท่าเรือทวายถือเป็นทางเลือกสุดท้ายของผู้ประกอบการ
ด้านนายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงมีแผนพัฒนาโครงข่ายทางถนนเพื่อรองรับโครงการทวาย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะที่ 1 เป็นการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน ช่วงกาญจนบุรี – ชายแดนไทย/เมียนมาร์ (บ้านพุน้ำร้อน) ระยะทาง 78 กิโลเมตร โดยมีแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
แผนระยะที่ 2 เป็นแผนการพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมโยง บ้านพุน้ำร้อน (จ.กาญจนบุรี – กรุงเทพมหานคร) ในรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทั้งระบบตลอดเส้นทาง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร โดยมีแผนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 วงเงินลงทุนประมาณ 55,600 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างภายในปี 2557 ใช้เวลาการก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2559
ส่วนแผนการพัฒนาโครงข่ายทางถนนเพื่อรองรับโครงการทวาย ระยะที่ 3 (ภายในปี 2561) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกาญจนบุรี – ชายแดนไทย/เมียนมาร์ (บ้านพุน้ำร้อน) เป็นการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อจากเส้นทางมอเตอร์เวย์ บางใหญ่ – กาญจนบุรี โดยมีจุดเริ่มต้นจากตัวเมืองกาญจนบุรี ไปสิ้นสุด ณ ชายแดนไทย/เมียนมาร์ (บ้านพุน้ำร้อน) โดยก่อสร้างเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร มีแผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2559 – 2561 สำหรับวงเงินลงทุนที่คาดการณ์ในเบื้องต้นประมาณ 10,000 ล้านบาท
ที่มา : สำนักข่าวไทย