ศาลปกครองสูงสุดสั่งกรมควบคุมมลพิษชดใช้คนละ 1.7 แสน (10 ม.ค. 56)

มติชนออนไลน์ 10 มกราคม พ.ศ. 2556 
ชาวบ้านคลิตี้เฮ!! ศาลปกครองสูงสุดสั่งกรมควบคุมมลพิษชดใช้คนละ 1.7 แสน

เมื่อ วันที่ 10 มกราคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีที่นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 22 คน ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้อง เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติ หน้าที่ล่าช้าเกินควร

ตามฟ้องสรุปว่า ผู้ถูกฟ้องได้ออกใบอนุญาตแต่งแร่ ที่ 2/2537 ให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยบริษัทได้ปล่อยทิ้งน้ำขุ่นข้นและกากแร่ดีบุกจากบ่อดักตะกอนลงสู่ลำห้วย คลิตี้ ส่งผลให้ผู้ฟ้องทั้ง 22 คน และราษฎรในชุมชนคลิตี้ล่างได้รับผลกระทบ จากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ส่งผลให้ผู้ฟ้องที่ต้องดำรงชีพด้วยการอาศัยธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งน้ำลำห้วย คลิตี้ ผู้ถูกฟ้องไม่ได้ไปเข้าดำเนินการเพื่อขจัดมลพิษและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยมิได้เร่งรัดให้บริษัทดำเนินการดูดหรือลอกตะกอน เพื่อนำไปกลบฝังตามแผนที่เสนอต่อผู้ฟ้อง

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ศาลปกครองกลาง ว่า ผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่ในการเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ จึงพิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วล่าช้าเกิน สมควร และให้ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องทั้ง 22 คนแต่ละรายเป็นเงิน 33,783 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 743,226 บาท ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ต่อมากรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดียื่นอุทธรณ์

โดยศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะ มลพิษ การที่ผู้ถูกฟ้องเห็นชอบให้ดำเนินการฟื้นฟูโดยทำการขุดลอกตะกอนดิน ท้องน้ำ ซึ่งทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารตะกั่วในน้ำมากขึ้น ประกอบกับผู้ถูกฟ้องไม่ได้ชี้แจงแสดงให้เห็นว่าในกรณีเช่นนี้ได้มีการจัดทำ แผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ปัญหาอย่างไร จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 3 (3) และมาตรา 5 (2)(ค) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมาว่า ผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษและ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องได้ดำเนินการประเมินค่าเสียหายจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว โดยได้ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อดำเนินการฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องได้ดำเนินการเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากบริษัทแล้ว อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีฟังขึ้น

กรณีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเป็นผลโดยตรงต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่มีการจัดทำแผน หรือกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของ มลพิษ และสภาวะแวดล้อมเป็นพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งทำให้ปริมาณของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้มีการปนเปื้อนสูง จนผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนไม่สามารถใช้แหล่งน้ำได้ จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีต้องกระทำการหรือต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน หรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้อนุมัติแผนให้ดำเนินการสูบและขุดลอกตะกอน จนทำให้สารตะกั่วฟุ้งกระจายในแม่น้ำ ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำ ดิน และตะกอนท้องดิน สัตว์น้ำ และพืชผัก ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขทำการปิดป้ายงดบริโภคน้ำในลำห้วยคลิตี้ชั่ว คราว ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ต้องซื้อน้ำดื่ม เนื้อ ปลา รวมถึงอาหารโปรตีนทดแทนมาบริโภค เนื่องจากไม่มีแหล่งอาหารโปรตีนอื่น เห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติที่ผู้ฟ้องคดีขอมาจำนวนเดือนละ 700 บาทนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจริงและเหมาะสมแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เป็นเงินจำนวน 700 บาท เมื่อเกิดเหตุสารตะกั่วปนเปื้อนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงได้รับความเสียหายจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 21 เดือน 27 วัน จึงมีสิทธิได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 15,330 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมค่าเสียหายแต่ละรายเป็นเงิน 17,399.55 บาท


ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน อุทธรณ์ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตเดือนละ 700 บาท และค่าเสียหายอันเนื่องมาจากถูกละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,700 บาทนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดียังคงได้รับความเสียหายจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนในส่วนนี้ด้วย จึงเห็นควรให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารรายละ 700 บาทต่อเดือน นับจากวันที่ 28 สิงหาคม 2547-26 มิถุนายน 2555 เป็นเวลาอีก 94 เดือน รวมเป็นเงินรายละ 65,800 บาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องทั้ง 22 คน จากการถูกละเมิดสิทธิจาการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอีกรายละ 1,000 บาท นับจากวันที่ 28 ส.ค.47 จนถึง 26 มิ.ย.55 เป็นเวลาอีก 94 เดือน รวมเป็นเงินรายละ 94,000 บาท รวมเป็นเงิน 159,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

ดังนั้นศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทด แทนจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และให้ผู้ถูกฟ้องกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ผู้ฟ้องทั้ง 22 คนทราบโดยวิธีการเปิดเผยโดยต้องทำการปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ และให้ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องทั้ง 22 คน เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้ง 2 ชั้นศาลแก่ผู้ฟ้องทั้ง 22 คน ตามส่วนของการชนะคดี ทั้งนี้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ภายหลังนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ในส่วนการชดใช้ค่าเสียหายตนรู้สึกพอใจ แต่ยังคงติดใจในส่วนของแผนการฟื้นฟูที่ศาลยังไม่ได้กำหนดแนวทางชัดเจน ตนจึงได้ร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการฟื้นฟูเพราะชาวบ้านมี ความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกพอใจกับคำตัดสินของศาลที่ได้รับค่าเสียหาย ซึ่งก็ไม่ได้เยอะมาก