“ศาลปกครองสูงสุด” สั่งเยียวยาชาวบ้านคลิตี้ 1.77 แสน กระทบตะกั่วปนเปื้อนลำห้วย (10 ม.ค. 56)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 มกราคม 2556
“ศาลปกครองสูงสุด” สั่งเยียวยาชาวบ้านคลิตี้ 1.77 แสน กระทบตะกั่วปนเปื้อนลำห้วย
ศาลปกครองสูงสุดแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง สั่ง “กรมควบคุมมลพิษ” ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านคลิตี้ 22 ราย คนละ 1.77 แสนบาท พร้อมสั่งแก้ไขปัญหาตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ หลังสู้คดียาวนาน 9 ปี เคยพิพากษาชดใช้รายละ 3 หมื่นก่อนยื่นอุทธรณ์ ชี้เป็นความเสียหายโดยตรงที่ทางการละเลย ปล่อยให้โรงแต่งแร่ทิ้งน้ำเสียจนใช้ดื่มกินไม่ได้
วันนี้ (10 ม.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยสั่งให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และต้องแจ้งให้นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ กับพวกทั้ง 22 คนซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีทราบโดยวิธีการเปิดเผย ด้วยการทำการปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ และให้กรมควบคุมมลพิษ ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายยะเสอะ กับพวก ทั้ง 22 คน เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท รวมเป็นเงิน 3,898,390.10 บาท คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งสองชั้นศาลแก่นายยะเสอะ กับพวกทั้ง 22 คน ตามส่วนของการชนะคดี ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ คดีนี้นายยะเสอะกับพวกรวม 22 คน ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ควบคุมตรวจสอบการประกอบกิจการเหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปล่อยน้ำเสียซึ่งมีสารตะกั่วเจือปนในลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้นายยะเสอะ กับพวกได้รับความเสียหายเมื่อปี 2547 ต่อมาวันที่ 6 พ.ค. 2551 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายแก่นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณกับพวก ทั้ง 22 คน รายละ 33,783 บาท แต่ทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่ายังมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำ ดิน และตะกอนดินท้องน้ำ สัตว์น้ำ และพืชผัก ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขทำการปิดป้ายงดบริโภคน้ำในลำห้วยคลิตี้ชั่ว คราว ส่งผลให้นายยะเสอะ กับพวกทั้ง 22 คนได้รับความเสียหาย เพราะจนถึงขณะนี้ยังคงไม่สามารถบริโภคสัตว์น้ำได้ตามปกติ เนื่องจากยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำและสัตว์น้ำเกินมาตรฐาน ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า อาหารจะมีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีค่าสารตะกั่วละลายในน้ำได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ประกอบกับผลการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ผิดพลาดของกรมควบคุม มลพิษ ทำให้นายยะเสอะกับพวกทั้ง 22 คนได้รับความเสียหายต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน การที่ศาลปกครองกลางกำหนดค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 350 บาทต่อเดือนต่อราย ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากการที่กรมควบคุมมลพิษ ละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่า ช้าเกินควร
ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษจึงต้องรับผิดชอบชดใช้เสียหายจากค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารที่ นายยะเสอะกับพวกทั้ง 22 คนได้รับ นับแต่เดือน พ.ย. 2545 จนถึงวันที่ 27 ส.ค. 2547 ในอัตราเดือนละ 700 บาทต่อเดือนต่อราย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินรายละ 17,399.55 บาท และรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตที่นายยะเสอะกับพวกทั้ง 22 คนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเดือนละ 700 บาทต่อราย และค่าเสียหายอันเนื่องจากการการถูกละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ นับจากวันที่ 28 ส.ค. 2547 จนถึงวันที่ 26 มิ.ย. 2555 เป็นเงินรายละ 159,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นรายละ 177,199.55 บาท
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ประธานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะทีมกฎหมายของชุมชนชาวคลิตี้ล่าง กล่าวว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวันนี้นอกจากจะเป็นการเยียวยาความเสียหายให้กับชุม ชนคลิตี้ล่าง ที่รอคอยความยุติธรรมมาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการ ฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน และการชดเชยค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ ด้านนายสมศักดิ์ นาสวนประภา ชาวบ้านคลิตี้ หนึ่งในผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า รู้สึกพอใจกับคำพิพากษาที่ออกมาในวันนี้ แต่ชาวคลิตี้ล่างยังคงต้องติดตามต่อไปว่ากรมควบคุมมลพิษจะเร่งเยียวยาและ แก้ไขปัญหาตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่
มีรายงานว่า ในการต่อสู้คดียาวนานเรียกร้องความเป็นธรรมอันยาวนานเป็นเวลา 9 ปีของชาวบ้านบ้านคลิตี้ล่างทั้ง 22 คนนี้ ปรากฏว่า หนึ่งในผู้ฟ้องคดี คือ นายจีซ่า นาสวนสุวรรณ ได้เสียชีวิตก่อนที่คดีจะถึงที่สุด